๐ จับตานโยบายโซลาร์ภาคประชาชน ตามติดสถานการณ์ปัจจุบัน
๐ วิเคราะห์ความคุ้มทุนเชิงเศรษฐศาสตร์ภายใต้รูปแบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองสำหรับภาคที่อยู่อาศัย
๐ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ คาดการณ์อนาคต แนะภาครัฐทบทวนการสนับสนุน
ตามที่กระทรวงพลังงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โดยโครงการโซลาร์ภาคประชาชนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาคครัวเรือน คือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ติดตั้งน้อยกว่า 10 kVA หรือกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 kWp สามารถติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก (self-consumption) โดยต้องเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ และเมื่อมีไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินสามารถขายคืนให้กับภาครัฐ หรือเรียกว่า Prosumer (Producer + consumer คือเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน )
โดยรัฐจะรับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี รวม 10,000 MW (ปี 2562-2571) ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2561 (PDP 2018) โดยเป้าหมายนำร่องในปีแรก พ.ศ. 2562 100 MW และได้ประกาศให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
จากผลการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ผ่านมา พบว่ายอดผู้เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนห่างไกลจากเป้าหมายเป็นอย่างมาก โดยยอดผู้ผ่านเกณฑ์และสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีเพียง 184 ราย จากผู้ลงทะเบียนเข้ามาทั้งหมด 2,246 ราย ทำให้มียอดกำลังการผลิตติดตั้งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแค่ประมาณ 1 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 MW ของปี 2562
สิ่งที่น่ากังวลคือ มีผู้ถูกยกเลิกการลงทะเบียนกว่า 600 กว่าราย ทำให้ตัวเลขกำลังการผลิตติดตั้งรวมหายไปกว่า 3 เมกะวัตต์ โดยอุปสรรคหลักที่โครงการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายคือ 1). ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่จูงใจ โดยประชาชนยังมองว่าการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟยังมีราคาแพง 2). เรื่องเงื่อนไขข้อกำหนดเชื่อมต่อระบบจำหน่ายพิกัดหม้อแปลง 15% ส่งผลให้ระบบสายส่งไม่สามารถรองรับ 3). การประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง และ 4).การเปิดตัวโครงการกระชั้นชิดเกินไป
สำหรับราคารับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราต้นทุนการผลิตไฟฟ้าหน่วยสุดท้ายระยะสั้น (Short Run Marginal Cost : SRMC) ตามข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กบง. ครั้งที่ 27/2561) ซึ่งเป็นราคาต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 หน่วยซึ่งเท่ากับราคาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซ
ในมุมมองของผู้ใช้ไฟฟ้า ความคุ้มค่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันอาจบอกว่าคุ้มค่า ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันอาจบอกว่าไม่คุ้ม อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคารับซื้อ 1.68 บาทกับราคาไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องซื้อจากการไฟฟ้าฯหน่วยละเกือบ 4 บาทนั้น ราคารับซื้อ 1.68 บาทยังไม่จูงใจ แต่หากมองในมุมรัฐฯ อัตราดังกล่าวเป็นราคารับซื้อที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟรายอื่นๆที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์และยังไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าในปี 2562 เนื่องจากโครงสร้างค่าไฟเก่ายังไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็น prosumer มากขึ้น
๐ ติดโซลาร์คุ้มหรือไม่
จากงานวิจัยของ ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง และ ดร. สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ความคุ้มทุนเชิงเศรษฐศาสตร์ภายใต้รูปแบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองสำหรับภาคที่อยู่อาศัย พบว่าในปัจจุบันเงินลงทุนระบบโซลาร์เซลล์มีราคาที่ถูกลง เนื่องจากราคาแผงโซลาร์มีราคาที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ที่ผู้ติดตั้งจะได้รับโดยตรงคือสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า มีความคุ้มทุน
โดยค่าติดตั้งระบบโซลาร์รูฟขนาด 5 kW อยู่ที่ประมาณ 280,000 - 300,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 7,000 หน่วยต่อปี สามารถลดภาระค่าไฟต่อปีได้ 25,000 บาท ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 9 ปี (ในกรณีใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน) และรับประกันอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ 25 ปี ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์จะลดลง โดยทั่วไป ประสิทธิภาพของแผงจะลดลงอยู่ที่ 80% เมื่อเข้าสู่ปีที่ 20-25 ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของแผง แต่สำหรับการประเมินความคุ้มค่านี้ใช้ อัตราการเสื่อมของประสิทธิภาพแผงอยู่ที่ 0.5% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาคือ 1. ต้นทุนค่าบำรุงรักษาประมาณ 0.5% ของต้นทุนการติดตั้งทั้งหมดต่อปี (ตัวเลขอ้างอิงจากการวิจัย) 2. ค่าเสื่อมสภาพและอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น Inverter (10-11 ปี) และ3. ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือนอาจจะไม่ตรงตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ขนาดติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ว่าใช้ไฟเยอะแค่ไหน โดยขนาดกำลังผลิตติดตั้งควรออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้า
๐ แนะรัฐปรับแนวทางส่งเสริม
ดังนั้น ภาครัฐฯ จึงควรมีการส่งเสริมโมเดลธุรกิจแบบใหม่หรือตัวช่วยด้านการเงินที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มในแต่ละระดับรายได้มีโอกาสเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความคุ้มทุนของระบบโซลาร์รูฟไม่เพียงต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้อีกด้วย
ในอนาคตคาดการณ์ว่า หากมีการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น จะนำไปสู่การซื้อขายไฟฟ้าภายใต้รูปแบบที่ประชาชนสามารถเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิตไฟฟ้า และสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้ โดยผ่านระบบสำหรับการซื้อขายไฟฟ้า รูปแบบนี้เรียกว่า Peer to peer energy trading ซึ่งในหลายๆประเทศได้ดำเนินการนำร่องเป็นรูปแบบโครงการสาธิต เช่น โครงการ Brooklyn Microgrid ในประเทศสหรัฐอเมริกา โครงการ Piclo ในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage system) จะเข้ามีบทบาทในการเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ในตอนกลางวันแล้วนำมาใช้ในตอนกลางคืนได้ ถึงแม้ราคาระบบกักเก็บในระดับบ้านที่อยู่อาศัยยังมีราคาแพงอยู่นั้น และยังไม่คุ้มต่อการลงทุน ณ ตอนนี้ แต่ในอนาคตราคาดังกล่าวมีแนวโน้มที่ลดลง
ในปัจจุบันภาครัฐในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดรูปแบบนโยบายหรือหลักเกณฑ์เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนชนทั่วไป ที่ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ และยังไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้สายส่งของหน่วยงานไฟฟ้าภาครัฐทำการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเอง เนื่องจากยังไม่มีการออกระเบียบหลักเกณฑ์มารองรับและอนุญาตให้ดำเนินการได้
สำหรับแนวโน้มในอนาคตของนโยบายโซลาร์ภาคประชาชน เพื่อให้การส่งเสริมบรรลุเป้าหมาย ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนแนวทางการส่งเสริมด้วยการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราที่เหมาะสม และไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินแบ่งตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ภาครัฐควรศึกษาปัจจัยในการตัดสินใจติดตั้งระบบโซลาร์รูฟเพิ่มเติม นอกเหนือจากเรื่องความคุ้มทุน เช่น รูปแบบโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ หรือรูปแบบการสนับสนุนด้านการเงิน เป็นต้น และควรเปิดให้มีการสมัครเข้าโครงการได้เรื่อยๆ หากโควตายังไม่เต็มในแต่ละปี นอกจากนี้ ภาครัฐควรทบทวนกฎระเบียบเพื่ออำนวยให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงระบบโซลาร์รูฟได้ และควรมี Platform กลางที่เป็นมาตรฐานที่สามารถเชื่อมระหว่างผู้ต้องการติดตั้งกับผู้ประกอบการ ในการเข้าถึงข้อมูลของระบบโซลาร์รูฟได้อย่างสะดวกมากขึ้น