xs
xsm
sm
md
lg

รูปแบบซื้อขายไฟจะเปลี่ยนไป! ความท้าทายที่ไทยต้องเตรียมพร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Disruptive Techology คือนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดดิสรัปชันต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม รวมทั้งอาจจะทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ล้มหายตายจากไป ดังนั้นท่ามกลางการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาระหว่างทางก็ย่อมทำให้หลายธุรกิจต้องล้มหายไปหากไม่สามารถปรับตัวรับมือได้ทัน ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องตระหนักเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับธุรกิจพลังงานที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ลม ที่ถือเป็นพลังงานสะอาด หลายประเทศต่างสนับสนุนให้เกิดขึ้นเพื่อลดภาวะเรือนกระจกจึงทำให้มีเกิดการพัฒนาจนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟเริ่มต่ำลง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์นั้นใกล้เคียงกับค่าไฟจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น หลายประเทศจึงสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) รวมถึงการติดตั้งโซลาร์บนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) เช่นเดียวกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ยังมีข้อเสียที่ผลิตได้ไม่ตลอดเวลา จึงต้องอาศัยระบบกักเก็บ (ESS) หรือแบตเตอรี่ มาเพื่อทำให้จ่ายไฟได้ตลอดซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ก็กำลังเริ่มทำให้มีต้นทุนต่ำมากขึ้น และในอนาคตหลายฝ่ายเชื่อว่าคงจะก้าวล้ำจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในไม่ช้า

ระหว่างรอแบตเตอรี่พัฒนาให้ถึงขีดสุดนั้น สิ่งที่ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงคงหนีไม่พ้นที่ภาคเอกชนเริ่มหันมาผลิตไฟเองใช้เองมากขึ้น ผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารที่อยู่อาศัย และเริ่มมีการทดลองซื้อขายไฟฟ้ากันเองส่งผลให้อนาคตตลาดไฟฟ้าย่อมเปลี่ยนไป นั่นคือผู้บริโภค (Consumer) จะกลายเป็นผู้ผลิตเพื่อใช้เองและขายไฟเข้าระบบ (Prosumer) ในที่สุด รูปแบบนี้ย่อมจะสะเทือนกับหลายหน่วยงานทั้งฝ่ายกำกับ รวมถึง 3 การไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

“รูปแบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ต้องศึกษารูปแบบในหลายประเทศในการนำมาปรับใช้กับไทยให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะ Peer to peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain จะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยให้การซื้อขายแบบ Peer to Peer มีประสิทธิภาพ” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวระหว่างการเดินทางไปศึกษาดูเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.ได้เดินทางมาศึกษาดูงานโครงการทดลองสาธิต หรือ Sandbox สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer (P2P) ของบริษัท คันไซ อิเล็กทริก เพาเวอร์ ( Kansai Electric Power Co.) หรือ KEPCO บริษัท สาธารณูปโภคชั้นนำสุดของญี่ปุ่นที่เมืองโอซากา ซึ่งได้มีการทดสอบการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าแบบเสมือนจริง โดยร่วมมือกับบริษัท Power Ledger บริษัทเทคโนโลยีพลังงานจากออสเตรเลียที่ใช้เทคโนโลยี blockchain ในการซื้อขายพลังงาน การบริหารสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียน ตลาดคาร์บอนเครดิตและพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับการทดสอบการซื้อขายไฟ P2P โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ครั้งนี้จะทดลองกับชุมชนประมาณ 10 หลังคาเรือน โดยไม่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อจะศึกษารูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าใหม่ๆ ให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมนอกเหนือจากการใช้เอง และการขายเข้าระบบเนื่องจากที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่มีสัญญา 10 ปี และเริ่มทยอยหมดสัญญาลงดังนั้นราคาค่าไฟที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT ที่ได้รับค่าไฟในอัตราที่แพงถึง 48 เยนต่อหน่วยก็จะหมดลงไป โดยในปี 2562 มีไฟฟ้าที่หมดสัญญาแล้ว 3 KW และจะทยอยเพิ่มอีกในปีนี้และปีต่อๆ ไป


การทดลองการซื้อขายไฟดังกล่าวเป็นการนำมาทดลองกับบ้านที่อยู่อาศัยขนาดเล็กยังไม่มีการทดสอบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นโซลาร์ฟาร์ม มีระบบไฟฟ้าใหญ่เป็นตัว Backup โดยคิดค่าธรรมเนียมผ่านระบบส่งเมื่อต้องใช้ไฟจากระบบเล็กน้อย ซึ่งเทคโนโลยีบล็อคเชนก็จะเป็นอุปกรณ์หนึ่งในการเข้ามาเอื้อการซื้อขายไฟฟ้าในการจัดคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย ตรวจสอบระบบไม่ให้เกิดปัญหาภาพรวม โดยทางคันไซฯคาดหวังว่าระบบนี้ จะนำมาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าได้จริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น การศึกษาก็เพื่อเตรียมพร้อมรองรับไว้เพราะรูปแบบดังกล่าวจะทำให้เกิดระบบซื้อขายที่ไม่จำกัดพื้นที่สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศที่จะเป็นการเปิดตลาดเพิ่มขึ้น

“ยอมรับว่าการซื้อขายรูปแบบ P2P ในตลาดค้าปลีกไฟฟ้ารายย่อยจริงๆ นั้นยังต้องมีการพิจารณาในแง่กฎหมายที่ปัจจุบันยังไม่เปิดให้มีการซื้อขายรูปแบบดังกล่าวได้ รวมไปถึงปัญหาด้านการทำธุรกรรมทางการเงินในระบบนี้ที่ต้องเป็นเงินดิจิทัลซึ่งก็ต้องมีการแก้ไขระเบียบในการดำเนินการบางอย่างเช่นกัน แต่การศึกษาก็เพื่อเตรียมพร้อมรองรับในอนาคตไว้“ นาย Fumiaki Ishida ผู้จัดการทั่วไป KEPCO กล่าว

นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ.ยังได้ดูงานโซลาร์ฟาร์มกลุ่มคันไซฯ ภายใต้ชื่อ Sakai Solar Power Station ของกลุ่มคันไซฯ ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่สิงหาคม ปี 2553 นับเป็นโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่สุดในญี่ปุ่นขนาด 10 เมกะวัตต์ หากใครเดินทางไปลงสนามบินคันไซมองลงมาจากด้านซ้ายของเครื่องบินจะเห็นคำว่า “ SOLAR SAKAI” แต่ไกล ซึ่งโครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กำจัดกากอุตสาหกรรม เมือง Sakai โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 74,000 แผง แผงโซลาร์ส่วนใหญ่ใช้งานมาแล้วประมาณ 10 ปี จากอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางที่เหมาะสมในการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีของรายใดในการกำจัดซึ่งญี่ปุ่นมีหลายบริษัทที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ปัจจุบัน คันไซฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งพลังงานความร้อนที่มีสัดส่วนสูงถึง 57% พลังงานน้ำ นิวเคลียร์ และพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์ฯแต่ยอมรับว่าสัดส่วนของโซลาร์ฯนั้นยังน้อยแต่แนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยเพราะเทรนด์ของโลกมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด

หันกลับมามองไทย สำนักงาน กกพ.เองก็ได้มีการเปิดโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) เพื่อให้รัฐและเอกชนเข้าร่วมเมื่อเดือน ก.ย. 62 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาและได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการทดสอบ จำนวน 34 โครงการ จากการยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 183 โครงการซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้า (Battery Storage) จำนวน 9 ราย โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย นอกจากนี้ยังมีเอกชนบางส่วนก็เริ่มดำเนินการทดสอบเช่นกัน

การดำเนินงานของไทยก็ไม่ได้ต่างจากญี่ปุ่นที่ระบบเองก็ยังไม่อนุญาตให้ขายไฟฟ้าระหว่างกันเองได้จึงยังอยู่ในขั้นทดลองระบบซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริงไปก่อน ดังนั้น เพื่อให้โครงการมีความคืบหน้าและส่งเสริมระบบซื้อขายดังกล่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 19 มีนาคมนี้กระทรวงพลังงานจะนำเสนอขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบาย Enhanced Single Buyer ที่เดิมกำหนดให้หน่วยงานการไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า โดยไม่เปิดให้กับภาคเอกชนและประชาชนเป็นผู้รับซื้อกันเองได้เพื่อปลดล็อกให้โครงการทดสอบต่างๆ มีการดำเนินงานได้จริง

“การซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบดังกล่าวต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าพฤติกรรมการใช้ไฟและผลิตไฟในแต่ละพื้นที่ต่างกันออกไป บางพื้นที่ไฟฟ้ามีเกือบพอดีกับการใช้ บางพื้นที่มีไฟเหลือเยอะพอที่จะขาย การทดลองสิ่งสำคัญคือความมั่นคงระบบไฟฟ้ายังอยู่ บางพื้นที่หากระบบไฟฟ้าปริ่มๆ พอดีก็ต้องระวังหากจะทดลอง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงว่าหากระบบไฟหลักจะจ่ายเข้ามาด้วยเพื่อเสริมระบบจะต้องคิดในจุดนี้อย่างไร ดังนั้น เมื่อกฎหมายพร้อม ระบบพร้อม ราคาแข่งขันได้ จึงจะสามารถขยายไปสู่วงกว้างได้” นายคมกฤชกล่าวชี้ให้เห็นทิศทาง


เมื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการซื้อขายของญี่ปุ่นครั้งนี้ทำให้เห็นว่าไทยนั้นไม่ด้อยไปกว่าเลย และพิสูจน์ให้เห็นว่าทิศทางของพลังงานนั้นกำลังมุ่งไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค และลดต้นทุนการซื้อขายไฟโดยไม่ผ่านตัวกลางที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง เทคโนโลยีนี้ยังคงต้องมีการพัฒนากันต่อไปเพราะยังมีข้อจำกัดอีกหลายด้าน ทั้งการต้องดูแลความปลอดภัยของระบบที่อาจเสี่ยงต่อการโดนแฮกข้อมูล หรือโดนแทรกแซงตัวเลข กฎระเบียบทั้งหมดให้รองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน หากจะเกิดขึ้นได้จริงคงจะเป็นการกำหนดระดับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมก่อน

สำหรับนโยบายภาครัฐเองต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะด้านไฟฟ้าที่ไทยมีศักยภาพในการเชื่อมโยงระบบส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยแนวทางดังกล่าวอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เกิดการแข่งขันส่งผลให้ประชาชนได้รับค่าไฟฟ้าถูก แต่ระหว่างทางที่จะนำไปสู่การซื้อขายเสรีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

การกำกับดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันระบบไฟฟ้ารวมไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง อย่าเพิ่งใจร้อนเพราะโลกแห่งเทคโนโลยีวันนี้เปลี่ยนไปรวดเร็ว การก้าวไปเร็วกว่าก็ไม่ได้หมายถึงการประสบความสำเร็จเสมอไปเพราะ Disruption เกิดได้ทุกวินาที
กำลังโหลดความคิดเห็น