xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแปรใหม่ฉุด “เหลื่อมล้ำ” ทางแก้ “คิดไกล คิด Green” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เชื่อไหม...ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นอีก แถม “ปัญหาโลกร้อน” กลายเป็นตัวแปรใหม่ที่ก่อปัญหาภูมิอากาศแปรปรวน (Climate Change) ยิ่งซ้ำเติมปัญหาชีวิตความเป็นอยู่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
การสัมมนาทางวิชาการประจำปีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 42 เรื่อง “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต” เมื่อเร็วๆ นี้ จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
งานนี้มีการเชิญ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแสดงปาฐกถา
ผมขอกล่าวถึงสาระการแสดงปาฐกถาของดร.ผาสุกในส่วนที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวแปรใหม่” ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความหวังจะเกิดมิติใหม่ๆ ในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อไป

(จากซ้าย) รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ผาสุกได้นำเสนอประเด็น “ตัวแปรใหม่” ที่จะส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำ ตามด้วยการวิเคราะห์จากจุดอับของเศรษฐกิจไทยสู่เกมเศรษฐกิจใหม่ และแนวทางสู่สังคมเสมอหน้าด้วยการ “คิดไกล คิด Green” คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
“ตัวแปรใหม่ที่หลายคนคิดว่าปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องไกลตัว เหมือนที่ออสเตรเลียมีคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นอะไร มันอาจจะเกิดชาติหน้าหรืออีก 100 ปีข้างหน้า เราก็คิดแบบนี้จนมันสายไป เมื่อปัญหาโลกร้อนจ่อถึงตัวเราแล้ว เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบของโลกร้อนกำลังเข้ามาใกล้ตัวเรา เช่น ไต้ฝุ่นที่แคริบเบียน ชั้นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าที่คิด ทำให้ยุโรปน้ำท่วมและเกิดคลื่นความร้อน ไฟป่ายืดเยื้อที่ออสเตรเลียเป็นบริเวณกว้างเท่ากับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย ล่าสุด ฝนที่กระหน่ำอย่างหนักท่วมเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ถนนถูกตัดขาด ต้องส่งเฮลิคอปเตอร์ไปช่วยนักท่องเที่ยว”
Climate Change หรือภูมิอากาศแปรปรวน ได้มาเยือนอุษาคเนย์ของเราแล้ว ผลการวิจัยช่วงแรกๆ คาดว่าผลกระทบของโลกร้อนจะร้ายแรงในบริเวณประเทศหนาวใกล้ๆ ขั้วโลก แต่รายงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ (IPCC) ปี 2014 ในโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติระบุว่าผลกระทบจะร้ายแรงแถบบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร และใน 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นข้อพิสูจน์ และรายงานของ IPCC ปี 2019 ยืนยันว่าเขตร้อนคือแถบภูมิอากาศของเราจะโดนผลกระทบหนักที่สุด และเราก็ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลายอย่าง
เช่นกรณีพายุไซโคลนที่พัดเข้าชายฝั่งเวียดนามอย่างผิดสังเกตเมื่อปี 2017-2018 จากกรุงจาการ์ตาเจอน้ำท่วมร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ในเมืองไทยภาวะอากาศร้อนผิดปกติ เกิดน้ำท่วม และภาวะแล้งจัดเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์การเอ็นจีโอ Germanwatch คำนวณดัชนีความเสี่ยงของภูมิอากาศโลก คือความเสียหายทางกายภาพ คนตาย และเกิดความสูญเสียคิดเป็นเงินจากภาวะอากาศแปรปรวนสูงตั้งแต่ปี 1998 พบว่ากลุ่มประเทศแถบแคริบเบียนเท่านั้นที่แย่กว่าอุษาคเนย์ ในย่านประเทศเราซึ่งก็เผชิญภัยธรรมชาติที่มากับลมไต้ฝุ่น ลมมรสุม เป็นประจำ
เมื่อพื้นดินร้อนขึ้น มหาสมุทรร้อนขึ้น กระแสลมและกระแสน้ำที่ก่อให้เกิดลมมรสุม พายุไต้ฝุ่น และผลกระทบเอลนีโญ ลานีญา กำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ผลที่ตามมามีความซับซ้อนยากจะเข้าใจ
แต่สรุปได้ง่ายๆ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างปีฝนชุกกับปีแล้งเอาแน่ไม่ได้ขึ้นทุกที แล้งเกิดบ่อยขึ้น ฝนที่เคยตกบ่อยก็ทิ้งช่วงนานขึ้น แต่เมื่อฝนมาจริงๆ ก็แรงมากจนน้ำท่วมฉับพลัน
ศ.ดร.ผาสุกบอกว่า นักวิทยาศาสตร์จะพูดถึงผลกระทบทางด้านกายภาพของโลกร้อน แต่เรื่องสำคัญกว่าสำหรับเราคือ ผลกระทบด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์กับการเมือง และมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนแต่เรามักมองไม่เห็น แม้ว่ามันจะสำคัญมาก
เพราะโลกร้อนทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วยิ่งรุนแรงขึ้น จึงยากที่จะแยกเรื่อง “โลกร้อน” ซึ่งส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และสาเหตุอื่นๆ
มีตัวอย่างจากประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ที่เกิดก่อนเราและรุนแรงมากๆ เช่น ซูดานทศวรรษ 1990 ฝนแล้งเป็นเหตุให้ชุมชนเกษตรขัดแย้งเรื่องที่ดินกับชุมชนเลี้ยงสัตว์ ขยายเป็นความขัดแย้งด้านชนชาติปะทุเป็นสงครามกลางเมือง
การอพยพลี้ภัยสงครามซีเรียปี 2011 และ 2012 ฝนแล้งติดต่อกัน ทำให้คนชนบทอพยพเข้าเมืองจุดประกายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในที่สุด และกระตุ้นให้ชาวซีเรียอพยพเข้ายุโรปจนเป็นวิกฤตการณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ที่กัวเตมาลาก็เกิดภัยแล้งทำให้ชาวบ้านตั้งกองคาราวานมุ่งหน้าสู่เม็กซิโกเพื่อเข้าอเมริกา สร้างความวุ่นวายที่ชายแดนใต้ของสหรัฐฯ จนประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการจะสร้างกำแพงกั้นไม่ให้คนเหล่านี้เข้า
ตัวอย่างเหล่านี้มีองค์ประกอบที่เหมือนกันคือ สภาวะแวดล้อมภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้การทำมาหากินของคนจำนวนมากไม่ได้ผล ความขัดแย้งด้านสังคมและการเมืองจึงปะทุขึ้น นำไปสู่การอพยพโยกย้ายของผู้คนไปตายเอาดาบหน้า เราอาจคาดการณ์แบบเดียวกันในขอบเขตที่เล็กและเข้มข้นน้อยกว่าในบ้านเรา เมื่อฝนแล้งซ้ำปีแล้วปีเล่าและที่กำลังเกิดขึ้นปีนี้ ก็ส่งผลให้เกษตรกรรายเล็กรายย่อยที่ขาดทุนจนล้มละลายจะถอดใจและอพยพไปที่อื่น
“แนวโน้มการอพยพของชาวบ้านจากชนบทสู่เมืองใหญ่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเมืองให้โอกาสหารายได้และความก้าวหน้าด้านการศึกษา การสาธารณสุข และในสมัย คสช. ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจชนบทเผชิญภาวะซบเซามาก นอกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐลดการอุดหนุนราคาพืชผล ยิ่งผนวกกับผลพวงของ Climate Change ทำให้เกษตรกรรายเล็กหลายรายล้มละลาย แนวโน้มการอพยพสู่เมืองใหญ่จะยิ่งเพิ่มขึ้น ความไม่เพียงพอด้านสาธารณูปโภคและสภาวะมลพิษเมืองที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งเข้าสู่ภาวะวิกฤต” ดร.ผาสุกระบุ
รายงาน IPCC 6 จากสหประชาชาติระบุว่า ทั้งโลกร้อนและความเป็นเมืองที่ขยายตัวเร็วเพิ่มระดับความร้อนในเมืองและบริเวณโดยรอบที่เรียกว่า heat island effect การเพิ่มขึ้นนี้อาจจะทำให้สภาวะภูมิอากาศโดยรวมผันแปรมากขึ้นและสร้างมลภาวะให้แก่บริเวณใกล้เคียงที่อยู่ใต้ลมด้วย สิ่งที่ IPCC 6 ชี้ให้เห็นคือ ที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ กำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น มลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายหลายอย่างและปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ความชะงักงันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเข้มข้นขึ้นไปอีก
เมืองที่มีอาคารสูงสมัยใหม่มากมายในประเทศร้อนแถบบ้านเรา อาคารสูงเหล่านี้เป็น urban heat island ที่เพิ่มความร้อนได้ถึง 10 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า เมื่อมีการใช้งานเต็มที่ในเวลากลางวัน เพราะทุกแห่งใช้เครื่องปรับอากาศที่ปล่อยแอร์เสียและความร้อนออกมา รถติดเป็นแถวยาวก็ส่งความร้อนออกมา ถนนยางมะตอย ถนนและตึกคอนกรีตทั่วไปก็ดูดซับความร้อนและสะท้อนออกมา “ภูเขาและหุบเขา” ของคอนโดมิเนียมสองข้างทางปิดกั้นเก็บเอาความร้อนไว้ที่ระดับถนน และคอนโดฯ ส่วนมากไม่ได้สร้างแบบมาตรฐานอาคารเขียวเพื่อลดความร้อน หรือเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทน
สภาพเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านสุขภาพ เมื่อคนเมืองรู้สึกร้อนก็จะเปิดแอร์มากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยิ่งเพิ่มความร้อนภายนอกอาคาร ทำให้เมืองร้อนขึ้นๆ คนที่ไม่มีรถติดแอร์ ไม่มีห้องแอร์ ไม่มีเงินจ่ายค่าแอร์ คนทำงานรายได้น้อยและผู้สูงอายุจึงสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือ stroke เพราะความร้อนเป็นปัญหาสุขภาพอีกอย่างหนึ่ง

ข้อคิด...
ดร.ผาสุกกล่าวในช่วงท้ายปาฐกถา โดยเสนอให้ช่วยกันขับเคลื่อนสู่สังคมเสมอหน้า ความตื่นตัวเรื่องปัญหาโลกร้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ส่งผลเปลี่ยนการตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกันของสังคมต่างๆ ในโลกอย่างรวดเร็ว แผนการลงทุนและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น นี่เป็นแนวโน้มเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เกมเศรษฐกิจเดิมๆ หลายอย่างจะล้าสมัยและเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ จะมีโอกาสมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอังกฤษได้เตือนไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ว่า ธนาคารที่ยังลงทุนในเศรษฐกิจพลังงานฟอสซิลสุ่มเสี่ยงยิ่งที่จะมีแต่ทรัพย์สินไร้ค่าอยู่ในมือ และเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เทสล่าบริษัทผลิตรถ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกในมูลค่าบริษัทยานยนต์รองจากโตโยต้า
หากมองตัวแปรใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ ปัญหาโลกร้อนเป็นโอกาส ไม่ใช่วิกฤต จะเห็นช่องทางคิดเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ ทุกประเทศในโลกรวมทั้งไทยต้องปรับการใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้า การใช้ที่ดิน การสร้างเมืองและสาธารณูปโภคเมืองแบบเดิมๆ รวมทั้งปรับระบบการผลิตอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เมื่อปี 2019 ได้สรุปไว้
ทุกประเทศต้องหาวิธีทำให้เมืองใหญ่ๆ ร้อนน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง ลดมลพิษ ลดโลกร้อน จึงเป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐบาลที่จะต้องทำหลายอย่าง โดยเฉพาะสนับสนุนส่งเสริมนักลงทุนภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นขนาดกลาง เล็ก หรือใหญ่ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจให้ใช้แหล่งเงินทุนที่สะสมอยู่มากมายภายในประเทศลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเรามีอยู่ในธรรมชาติอย่างเหลือเฟือ การสร้างเมืองน่าอยู่ การสร้างอาคารเขียว ขับรถเขียว ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รถเมล์ไฟฟ้า หรือการใช้รถจักรยานยนต์พลังงานของเราเอง เหล่านี้มีช่องทางการลงทุนมากมาย ถ้ามีการวางแผนที่ดีและร่วมกันคิดและหากรัฐบาลและสังคมใส่ใจ
ผลของการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวหลากหลายประเภทจะกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้ใน 1-5 ปี สร้างงาน ลดปัญหาโลกร้อน สร้างสังคมน่าอยู่ ช่วยลดความขัดแย้ง ดึงเงินลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมด้วยเมื่อเห็นว่าเข้ามาสร้างประโยชน์ที่คุ้มค่า ข้อเสนอเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่คิดไกลไปข้างหน้าเพื่อให้เราได้สร้างเกมเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาด้วยการคิดไกล คิด Green เป็นยุทธศาสตร์ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น