xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์”ร่วมเวทีโลก เผยไทยมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุวิทย์”ร่วมประชุมเศรษฐกิจโลก World Economic Forum เผยประเทศไทยมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยแนวคิดการสร้างเมืองแห่งนวัตกรรมเพื่อให้ไทยเป็นสังคมที่เอื้อต่อStartup Nation , การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve Industries) , เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศที่ครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลัก พร้อมส่งเสริมบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้นำการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม



ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) หรือ WEF ประจำปี 2563 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 24 ม.ค.นี้ ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ว่า ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลไทยตามการเชิญของนายบอร์ เก เบรนเด ประธาน WEF โดยหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ คือ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน” (Stakeholders for Cohesive and Sustainable World) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม 2.การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุแนวทางการทำธุรกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น 3.การกำกับดูแลเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคม และ 4.การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของประชากร สังคมและแนวโน้มด้านเทคโนโลยีเพื่อปรับโครงสร้างการศึกษา การจ้างงานและการประกอบธุรกิจ


ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ในโอกาสนี้ได้ร่วมการประชุมต่าง ๆ ของ WEF ร่วมกับผู้นำจากภาคธุรกิจและวิชาการระดับสูงและผู้มีชื่อเสียงระดับโลกจากหลากหลายประเทศทั้งในบทบาทของผู้เข้าร่วมการอภิปราย และนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและผลักดันการดำเนินงานในมิติต่างๆ ของไทย เช่น การประชุมในหัวข้อ “การกำหนดการศึกษาในยุค 4.0” (Defining Education 4.0) ซึ่งตนได้เน้นย้ำถึงแนวคิดของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการศึกษาและ การบูรณาการองค์ความรู้อย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมที่จะสามารถสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีความพร้อมเพื่อตอบรับต่อความต้องการของสังคมได้อย่าง มีประสิทธิภาพ และ การประชุมหัวข้อ “การกำหนดวาระการดำเนินงานใหม่ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต” (Future of Competitiveness: A New Agenda for Action)


เวทีนี้มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายท่านมาร่วมประชุม อาทิ นายโรเบิร์ต เจมส์ ชิลเลอร์ นายไมเคิล สเปนซ์ นายโจเซฟ ยูจีน สติกลิตส์ รวมทั้งนักคิดชั้นนำของโลกอย่าง นายแอนดรูว์ แมคฟี ผู้เขียนหนังสือ The Second Machine Age (2014) และ Race Against the Machine (2009) และ ดร.ยสซี วาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
 
รมว.อว.ชี้ให้ที่ประชุมเห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในการเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านการแข่งขันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยแนวคิดการสร้างเมืองแห่งนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นสังคมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Nation) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศหรือ S-curve Industries เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และการพัฒนาด้วยแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ด้านการเกษตรและอาหาร, ด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ, ด้านสุขภาพและการแพทย์, และด้านการท่องเที่ยว เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมก้าวข้ามกับดักรายได้ปาน กลาง รักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของพลเมืองไว้ได้อย่างยั่งยืนและเป็นหลัก สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป


รมว.อว. กล่าวอีกว่า ได้รับเชิญให้เป็นประธานร่วมกับผู้แทนจาก WEF สำหรับการประชุมในหัวข้อ “โครงการบ่มเพาะเพื่อปิดช่องว่างความสามารถด้านนวัตกรรม” (Closing the Innovation Gap Accelerator) ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ฝ่ายไทย และ WEF ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยร่วมกับผู้นำระดับสูงจากประเทศต่างๆโดยไทย ได้แสดงเจตนารมย์ในการดำเนินงานร่วมกับ WEF เพื่อส่งเสริมบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้นำการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถบริหารธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ โดยผลที่ได้จากการหารือในช่วงของการประชุมดังกล่าว จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินการวิเคราะห์ระบบ เพื่อจัดลำดับปัจจัยด้านนวัตกรรมที่ไทยควรให้ความสำคัญในกลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทย ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป


อนึ่ง การประชุม World Economic Forum ที่ดาวอสในปีนี้ ถือเป็นการครบรอบปีที่ 50 ของการประชุม มีผู้นำที่มีชื่อเสียงจากหลายหลายวงการเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาววัย 15 ปีตัวแทนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก, นางอังเกลา แมร์เคิล นายกฯหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี หรือ นายเหรินเจิ้งเฟย ซีอีโอ บริษัทหัวเหว่ย เป็นต้น