ชื่อ 'ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ' อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ถ้าพูดถึงในแวดวงของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) แล้ว คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก
ด้วยเพราะเขาเป็นผู้บุกเบิก CSR ในยุคที่คำนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยให้คำแนะนำแนวทาง CSR ให้กับองค์กรต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้สถาบันไทยพัฒน์ ที่ปัจจุบันเขารั้งตำแหน่งประธานสถาบันไทยพัฒน์ ด้วยวัย 53 ปี
ในทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำงานผ่าน 3 บทบาทหลัก คือ งานวิจัย งานฝึกอบรม และงานให้คำปรึกษา ร่วมกับองค์กรต่างๆ กว่า 300 แห่ง เฉพาะงานฝึกอบรมอย่างเดียว ทีมงานของสถาบันไทยพัฒน์ได้ออกเดินสายไปให้ความรู้เรื่อง CSR กับผู้ประกอบการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยจำนวนของผู้เข้าร่วมรวมกว่า 36,000 คน เรียกได้ว่า ในบรรดาคนไทยทุกๆ 2,000 คน จะต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่ได้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันไทยพัฒน์มาแล้วไม่งานใดก็งานหนึ่ง
นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังได้ทำความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ ไล่เรียงตั้งแต่การเป็นหุ้นส่วนฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) นับตั้งแต่ปี 2556 การเป็นที่ปรึกษาที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงาน Shared Value Initiative ที่ริเริ่มโดยไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ในปี 2556 และการเข้าร่วมก่อตั้งหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative: TSBI) เพื่อนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมของ มูฮัมมัด ยูนุส มาขับเคลื่อนในประเทศไทย ในปี 2559 และล่าสุด กำลังอยู่ระหว่างจัดตั้งเป็น Yunus Thailand
Green & SD Impact ขอถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ ดร.พิพัฒน์ ในเรื่องพัฒนาการด้านความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษ 2020 และบทบาทในการผลักดันแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย นับจากนี้
ในรอบปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562) มีเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง
ในแวดวงธุรกิจกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน มีอยู่ 4 เหตุการณ์สำคัญ คือ การลงนามให้คำมั่นของ 181 ซีอีโอที่เป็นสมาชิกของสมาคม Business Roundtable ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ในคำแถลงแห่งความมุ่งประสงค์ของกิจการ (Statement on the Purpose of a Corporation) ที่ปรับเปลี่ยนจุดยืนจากการดำเนินกิจการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นหลักมาอย่างยาวนาน มาเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทั้งหมด
เหตุการณ์ต่อมา ที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ออกคำประกาศเจตนาดาโวส 2020: ความมุ่งหมายสากลของบริษัทในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Davos Manifesto 2020: The Universal Purpose of a Company in the Fourth Industrial Revolution) โดยมุ่งหมายที่จะสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในอันที่จะสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมและยั่งยืน ไม่เพียงแต่การสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม
อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ การก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และองค์กรร่วมก่อตั้งอีก 9 แห่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทเอกชนทั่วไปสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ส่วนเหตุการณ์ที่สี่ คือ การก่อตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 105 องค์กร
แล้วจากนี้ (พ.ศ. 2563) จะมีพัฒนาการหรือความคืบหน้าอะไรเกิดขึ้นบ้าง
แนวโน้มค่อนข้างชัดว่า การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เป็นกระแสหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในธีม “Stakeholder Capitalism” หรือ ทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะสนองประโยชน์แก่เจ้าของทุนหรือเฉพาะผู้ถือหุ้นของกิจการอย่างที่ปฏิบัติกันมา
สอดรับกับธีมที่เกิดขึ้นในระดับองค์กร ที่เน้นคำว่า “Purpose” หรือ ความมุ่งประสงค์ที่องค์กรต้องคำนึงถึงเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจจากนี้ไป ถือเป็นเจตจำนงที่ต้องแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบว่า เหตุใดเราจึงยังคงอยู่ (Why do we exist?) หรือธุรกิจเราอยู่เพื่อทำสิ่งใดที่เป็นความมุ่งประสงค์หลัก ใช่การแสวงหากำไรสูงสุดหรือไม่ หรือเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม และคุณค่าที่กิจการจะส่งมอบมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในองค์กรมากน้อยเพียงใด
ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของพัฒนาการด้านความยั่งยืนในระดับสังคม ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบที่กิจการส่งผ่านสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้ ถือเป็นปีเริ่มต้นของทศวรรษ 2020 ที่จะไปสิ้นสุดในปี ค.ศ.2030 องค์กรหลายแห่งจะถือโอกาสนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาตอบโจทย์ที่เป็นผลกระทบจากการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน โดยจะไปบรรจบครบวาระของ SDGs ในปี ค.ศ.2030 (ระยะ 10 ปี) ทำให้ธีมเรื่อง “SDG Impact” จะได้ฤกษ์ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ.2020 นี้
ธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อรับกับแนวโน้มเหล่านี้อย่างไรบ้าง
เท่าที่ประเมินได้ องค์กรธุรกิจจะมีท่าทีต่อแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บอกว่า องค์กรของตนทำอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทที่อยู่หัวขบวนหรืออยู่ในแถวหน้า กลุ่มนี้จะเป็นพวกนำเทรนด์ มีทรัพยากรที่จะใช้ดำเนินการอย่างเพียงพอ และผู้บริหารกิจการในกลุ่มนี้จะนำการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
องค์กรธุรกิจกลุ่มถัดมา จะเป็นกลุ่มที่บอกว่า องค์กรของตนได้เริ่มแล้ว คือ รับรู้ถึงแนวโน้มและเริ่มนำมาดำเนินการ กลุ่มนี้จะเป็นพวกทันเทรนด์ มีการตั้งงบประมาณเพื่อจะใช้ดำเนินการ และกิจการในกลุ่มนี้มักจะใช้ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญช่วยในการขับเคลื่อน
องค์กรธุรกิจในกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่บอกว่า องค์กรของตนกำลังติดตามศึกษาอยู่ ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรับเอาแนวโน้มเหล่านี้มาดำเนินการหรือไม่ กลุ่มนี้จะเป็นพวกตามเทรนด์ ยังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณหรือทรัพยากรที่จะดำเนินการ กิจการในกลุ่มนี้ จะมีผู้ปฏิบัติงานที่เกาะติดเรื่องความยั่งยืน คอยอัปเดตให้ผู้บริหารกิจการได้รับทราบ เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่า จะขับเคลื่อนดีหรือไม่
ทั้งสามกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่มีการปรับตัวเพื่อรับกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ตามความพร้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งจะมีอานิสงส์เกิดขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน
ส่วนองค์กรธุรกิจที่ไม่มีการปรับตัว แต่ไม่อยากตกขบวน จะบอกว่า องค์กรของตนทำอยู่แล้ว โดยอาศัยการอ้างถึงกิจกรรมเดิมที่องค์กรได้ดำเนินการอยู่แล้ว และพยายามจัดเข้าพวกให้สอดคล้องกับแนวโน้มเหล่านั้น (แต่จริงๆ มิได้ดำเนินการอะไรใหม่ เพื่อรับกับแนวโน้มเหล่านี้)
ในส่วนของไทยพัฒน์ มีอะไรใหม่ ที่จะผลักดันในปีนี้
เรื่องใหม่ที่จะผลักดันในปีนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าร่วมก่อตั้งหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative: TSBI) ในปี 2559 เพื่อนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส มาขับเคลื่อนในประเทศไทย และล่าสุด กำลังอยู่ระหว่างจัดตั้งเป็นองค์กร Yunus Thailand ขึ้นอย่างเป็นทางการ
เป็นการนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม มาขับเคลื่อนโดยภาคองค์กรที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “Corporate Social Business” มุ่งเน้นการใช้ธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ขององค์กร มาดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือ หรือใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร
แนวคิดนี้ ดัดแปลงมาจากความริเริ่ม Corporate Action Tank ที่ยูนุส ริเริ่มในประเทศฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิล ก่อนหน้านี้
ตัวอย่างของการใช้ Core Business ที่ บริษัท เอสซีลอร์ (Essilor) ใช้ดำเนินการตามแนวคิด Social Business ได้แก่ ธุรกิจเพื่อสังคม ออปติก โซลิแดร์ (Optique Solidaire) ที่มีการทำงานร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงธุรกิจประกันสุขภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อแว่นสายตาที่มีคุณภาพสูง สำหรับกลุ่มมีรายได้น้อย จากปกติที่จำหน่ายในราคา 230-300 ยูโร เหลือเพียงไม่ถึง 30 ยูโร
ออปติก โซลิแดร์ ใช้เวลาในการพัฒนา 15 เดือนและทดลองนำร่องที่มาร์แซย์ (Marseille) เมืองทางตอนใต้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 เดือน จนในที่สุดเกิดเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีก "solidarity retailers" มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศฝรั่งเศส โดยมีสมาชิกเครือข่ายเป็นร้านประกอบแว่นที่สมัครใจเข้าร่วมจำหน่ายแว่นในราคาถูกดังกล่าว ขณะที่ บริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ จะส่งจดหมายพร้อมบัตรกำนัล แจ้งไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สำหรับการรับข้อเสนอพิเศษนี้ จากร้านประกอบแว่นในโครงการที่อยู่ใกล้เคียง โดยเอสซีลอร์ ตั้งเป้าที่จะสร้างเครือข่ายร้านประกอบแว่นในโครงการให้ได้ 1,000 แห่ง เพื่อจัดหาแว่นสายตาให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถซื้อแว่นสายตาในราคาสูง จำนวน 2.5 ถึง 3 แสนราย ในฝรั่งเศส (ที่มา: https://hbr.org/2015/03/reaching-the-rich-worlds-poorest-consumers)
รูปแบบ Corporate Social Business เป็นมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) และมีความยั่งยืนในตัวเอง เนื่องจากไม่ใช่รูปแบบของการบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในแบบให้เปล่า แต่เป็นการทำธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคม (Social Purpose) เป็นตัวตั้ง ก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนในกระบวนการสืบเนื่องต่อไป (Going Concern) เมื่อเทียบกับการบริจาคที่มีวันสิ้นสุดหรือต้องมีการยุติกิจกรรมในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า
ด้วยรูปแบบนี้ องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งกิจการขึ้นมาแต่ต้นเพื่อดำเนินการ โดยที่โมเดลธุรกิจยังไม่มีความชัดเจนหรือยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ ครั้นเมื่อแน่ใจแล้วว่า โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมนั้นไปต่อได้ การพิจารณาว่าจะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมรองรับหรือไม่ จะเกิดขึ้นภายหลัง ทำให้ความเสี่ยงที่กิจการซึ่งตั้งขึ้นใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จลดลง
การขับเคลื่อน Corporate Social Business จึงเป็นการย้ายจุดเน้นจากการสร้าง ‘กิจการ’ (Enterprise) เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม มาสู่การสร้าง ‘ธุรกิจ’ (Business) เพื่อสังคม ที่พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า มีศักยภาพที่จะเติบโตหรือสามารถพัฒนาในระดับที่จะสร้างกิจการขึ้นมารองรับต่อไปได้
ยูนุสได้บุกเบิกการทำงานตามแนวทางดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เกิดเป็นตัวอย่างกว่า 40 ธุรกิจ เฉพาะในบังกลาเทศที่เป็นบ้านเกิดของยูนุส และในจำนวนนั้น มีธุรกิจที่พัฒนาเติบโตจนติดอยู่ในกลุ่มกิจการขนาดใหญ่สุดของประเทศ จนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศทั้งในสังกัดภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ต่างให้การยอมรับแนวคิดนี้อย่างกว้างขวาง
ในปี 2020 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะนำ Corporate Social Business มาเป็นวาระใหม่แห่งความยั่งยืน หรือ The New Sustainability Agenda สู่องค์กรที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ สำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป