สตาร์ทอัพระดับโลก “The Ocean Cleanup” ตั้งเป้าลดขยะทะเล 80% จากแม่น้ำที่มีปริมาณขยะสูง 1,000 แห่งทั่วโลกภายในปี 2568 ล่าสุดร่วมมือประเทศไทยเตรียมติดตั้ง InterceptorTM นวัตกรรมใหม่จากเนเธอร์แลนด์ พร้อมร่วมกับ“เอสซีจี”วิจัยขยะจากเจ้าพระยา มุ่งจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืน นำข้อมูลช่วยแก้ปัญหาด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
เอสซีจี โดยธุรกิจเคมิคอลส์ นำโดย ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดย โบยาน สลาต Founder and CEO ลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก เคส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะและนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป ทั้งนี้ The Ocean Cleanup ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง InterceptorTM เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทย
ขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ประเทศไทยมีขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ในขณะเดียวกันการเก็บขยะทะเล (cleanup) ก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
โบยาน สลาต Founder and CEO, The Ocean Cleanup กล่าวว่า ขยะในมหาสมุทรมีที่มาจากบนบกโดยไหลผ่านแม่น้ำลำคลอง มีแม่น้ำประมาณ 1,000 แห่งทั่วโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลในปริมาณมาก คิดเป็นร้อยละ 80 ของขยะในมหาสมุทรทั้งหมด ซึ่ง The Ocean Cleanup ตั้งเป้าที่จะจัดการปัญหานี้ โดยพุ่งเป้าไปที่แม่น้ำที่มีปริมาณขยะสูง 1,000 แห่งทั่วโลกภายในปี 2568 และคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรได้ร้อยละ 80
ในการจะกำจัดขยะทะเล นอกจากการเก็บขยะทะเลแล้ว การป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเลก็สำคัญอย่างยิ่ง เราต้องปิดกั้นไม่ให้รั่วไหล โดยจะร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานี้ ด้วยนวัตกรรม InterceptorTM ที่จะเป็นโซลูชันของปัญหาขยะทะเล ปัจจุบันทดลองติดตั้งแล้ว 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย และอยู่ระหว่างการติดตั้งแห่งที่ 3 ในเวียดนาม โดยมีแผนที่จะติดตั้งอีก 3 แห่ง เริ่มจากสาธารณรัฐโดมินิกัน , ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ตามลำดับ สำหรับการร่วมงานกับเอสซีจี ได้เห็นถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น และมั่นใจว่า passion ของเอสซีจีในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจะช่วยผลักดันให้ทำตามเป้าหมายสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
เคส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการนำหลัก Circular Economy และเทคโนโลยี รวมถึงมองหาแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการกับปัญหาขยะ สถานทูตเนเธอร์แลนด์มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนของไทยอย่างเอสซีจี ภาครัฐ และ The Ocean Cleanup แก้ไขปัญหาขยะทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลในปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 มาจากขยะจากบกซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางทะเล การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ตรงจุดที่สุดคือ การบริหารจัดการขยะจากบกให้มีประสิทธิภาพ มีการคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ โดยไม่เกิดการหลุดรอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง อย่างไรก็ตาม การนำขยะจากแม่น้ำขึ้นมาจัดการให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการนำ R&D มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลและมหาสมุทร
ความร่วมมือด้านการวิจัยกับ The Ocean Cleanup องค์กรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเอสซีจีพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป