ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ The Ocean Cleanup สตาร์ทอัพระดับโลกด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย
ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะ และนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
ก่อนหน้านี้ The Ocean Cleanup ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง The InterceptorTM เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทย
เนื่องจากปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ขณะที่ประเทศไทยมีขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ในขณะเดียวกันการเก็บขยะทะเลก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การคัดแยกขยะ รวมถึงการนำ R&D มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลและมหาสมุทร
ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง The Ocean Cleanup ในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น โดยเอสซีจีจะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะทะเลมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป”
The InterceptorTM
เรือเก็บขยะแม่น้ำลำแรกของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแสงอาทิตย์ 100%
นวัตกรรมล้ำหน้าที่ช่วยป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร สามารถขยายผลได้ทั่วโลก โดยมีประสิทธิภาพเก็บขยะได้ถึง 50,000 - 100,000 กิโลกรัมต่อวัน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีหลักการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ 100% และบรรจุพลังงานในแบตเตอรี่ลิเธียมที่ช่วยให้สามารถทำงานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ปราศจากเสียงและกลิ่นรบกวน พร้อมระบบการทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง และใช้การไหลเวียนของแม่น้ำตามธรรมชาติในการดักจับขยะพลาสติก โดยมีทุ่นลอยน้ำที่ช่วยปัดให้ขยะไหลตามทิศทางที่กำหนดเพื่อเข้าสู่ตัวเครื่อง ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำของยานพาหนะรวมถึงสัตว์น้ำ มีระบบคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน พลังงานที่ใช้ และสภาพของส่วนประกอบต่าง ๆ
Boyan Slat เริ่มต้นโปรเจคท์ทุ่นดักขยะทะเล ตั้งแต่อายุ 19 ปี ในปี 2012 เขาได้นำไอเดีย ทุ่นดักขยะ โครงสร้างกว้าง 100 กิโลเมตรไปเสนอในงาน TEDxTalk ที่เนเธอร์แลนด์ ในปี 2013 Boyan Slat ตัดสินใจพักการเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อมาก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup อย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2014 เขาและเพื่อนร่วมทีมอีกกว่า 100 คน ได้ทำเครื่องกำจัดขยะรุ่นทดสอบขึ้น จนปัจจุบัน เขาได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องกำจัดขยะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาด 2,000 เมตร จนกลายเป็นโครงสร้างลอยน้ำจากฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลก ที่คาดว่าจะสามารถ กำจัดขยะในมหาสมุทรได้ถึง 42% น้ำหนักกว่า 70 ล้านกิโลกรัม โดยวิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4.53 ยูโร ต่อขยะ 1 กิโลกรัม หรือเพียง 155 บาทเท่านั้น
ก่อนหน้า เรือลำนี้เริ่มทดลองใช้จริงแล้ว 2 ลำ ในประเทศอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย โดยลำที่ 3 จะใช้ที่เวียดนาม ลำที่ 4 ที่ประเทศโดมินิกัน และมีความเป็นไปได้ ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้เป็นลำที่ 5
อย่างไรก็ตาม Boyan กล่าวว่า “เรือลำนี้เป็นแค่ระบบสำรองกรณีที่ขยะหลุดลงแม่น้ำเท่านั้น การจัดการบนบกยังสำคัญกว่ามาก และไม่ควรคิดว่า InterceptorTM เป็นทางออก แต่เป็นระบบที่ช่วยเหลือมากกว่า”
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ก SCG ,https://www.facebook.com/TOPVarawut/,
https://theoceancleanup.com/