ขณะที่ความคืบหน้าการแบน 3 สารพิษเคมีทางเกษตร กำลังอยู่ในช่วงเดือดพล่าน แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคมองเห็นทางสว่าง ว่าอีกไม่นานผักและผลไม้ในตลาดบ้านเราคงจะปลอดภัยมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แน่นอน ผู้บริโภคที่ต้องการกินผักและผลไม้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องตระหนัก และมีวิธีป้องกันตนเองไว้ก่อนด้วยการ “ล้างผัก ผลไม้ ก่อนรับประทาน” แล้วล้างแบบไหนได้ผลที่สุด
ข้อมูลปีนี้ ทางกลุ่มไทยแพนสำรวจมาแล้วว่า ผักและผลไม้ ที่วางขายในตลาดบ้านยังพบว่ามีปนเปื้อนสารพิษไม่ปลอดภัย และที่น่าตกใจคือ ไม่ว่าผักจะถูกหรือแพงก็มีโอกาสพบสารปนเปื้อนได้ “ราคาจึงไม่ได้รับประกันว่าผัก ผลไม้นั้น ดีหรือปลอดภัยกว่า” โดยผักจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ติดป้ายว่าผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ รวมถึงผักปลอดภัย ซึ่งมีราคาที่สูง ก็คงพบว่ามีการปนเปื้อนเช่นเดียวกับผักที่ซื้อจากตลาดสด
ข้อมูลดังกล่าว แทบไม่แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในเรื่องนี้ รศ. ดร.สมพนธ์ วรรณวิมลรักษ์ จากศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า แม้จะมีผลวิจัยยืนยันว่าการรับประทานผักวันละ 400 กรัม สามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้ แต่ผักและผลไม้ที่วางขายในไทยนั้นกลับไม่มีความปลอดภัยอย่างที่คิด โดยจากการนำตัวอย่างผักมาทดสอบ 7 ชนิด ที่เก็บตัวอย่างจากกว่า 100 ตลาด ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วง 8-12 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีสารปนเปื้อนถึง 90-100%
ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคสามารถทำได้ ก็คือการป้องกันตัวเองด้วยการล้างผัก โดยการล้างผักที่คนนิยมใช้ 4 วิธี ได้แก่
1. ล้างด้วยด่างทับทิม ลดปริมาณสารตกค้างได้ 20-30%
2. ล้างด้วยน้ำส้มสายชู ลดปริมาณสารตกค้างได้ 30-40%
3. ใช้ผงฟู (เบกกิ้งโซดา) ลดปริมาณสารตกค้างได้ 30-40%
4. ล้างด้วยน้ำไหล ลดปริมาณสารตกค้างได้ 60-70%
“ล้างด้วยน้ำไหล” พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้มากที่สุด ทำได้ง่ายและถูกที่สุด ซึ่งการล้างผักผลไม้ในน้ำไหลอย่างถูกวิธี ต้องแช่ผักไว้ 10 นาที จากนั้นเปิดน้ำให้ไหลตลอด และถูผักทีละใบนาน 2 นาที เพื่อให้น้ำช่วยชะล้างสารเคมีที่เกาะบนผิวผัก