xs
xsm
sm
md
lg

กศน.ภาชี น่าทึ่ง! ผลิตภาชนะรักษ์โลก! ล่าสุด ทำชุดสูท เสื้อผ้าผักตบชวา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขณะที่คนทั่วโลกหันมาใส่ใจลดปริมาณขยะจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากโฟม และพลาสติก กลุ่มศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน. โดย กศน.อำเภอภาชี ก็ได้คิดค้นและพัฒนาจนประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน เมื่อทำภาชนะรักษ์โลก จากใบผักตบชวา และใบไม้อื่นๆ
ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นจานก้นลึก และจานก้นตื้น จากใบผักตบชวาสด และแห้ง รวมถึงกาบต้นไผ่ กาบต้นหมาก ใบบัว ใบต้นสัก ก็สามารถนำมาทำจานใส่อาหารได้อย่างหลากหลายมีสไตล์ และที่สำคัญเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ ทนความร้อนได้ ใช้กับของเหลวได้ในระดับหนึ่ง เหมาะในการนำมาใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ใส่อาหารก็ดูสวยงามน่ารับประทาน นอกจากตอบโจทย์เรื่องการลดขยะพลาสติก ลดขยะโฟมแล้ว ยังช่วยกำจัดวัชพืชต่างถิ่นที่กีดขวางทางลำน้ำ
จึงไม่ต้องกลัวว่าจะขาดแคลนวัสดุ เพราะวัสดุสามารถหาได้จากตามแหล่งธรรมชาติ ตอนแรกๆ ชุมชนผลิตเพื่อใช้กันเอง ก็สามารถแก้ปัญหาขยะที่เกิดในตลาด ลดต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ ต่อมากลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แหล่งท่องเที่ยวอีกต่างหาก


นอกจากนำใบผักตบชวาไปใช้ทำจานใส่อาหารแล้ว ยังมีการคิดค้นเพิ่มเติมนำลำต้นผักตบชวาไปผ่านกระบวนการทำเส้นใย และผ่านการผสมตามกรรมวิธี สุดท้ายสามารถนำไปทอเป็นผ้ายกผืน ตัดเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสวมใส่ได้จริง นำไปจำหน่ายทางตลาดออนไลน์ และบนสายการบิน ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ช่องทาง โครงการนี้ไปได้สวย เพราะได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ นางสาวมุกดา แข็งแรง ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอภาชี ตลอดจนภาคีเครือข่ายและชุมชน
ล่าสุด ตัดเป็นเสื้อสูทใส่โชว์บนเวทีในพิธีเปิด งาน “กศน. สช. Wow Wow ก้าวสู่ยุคดิจิทัล” เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “เราเป็นคน กศน. เราต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มาจาก กศน. ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ กศน. นั้นล้วนแล้วแต่มีคุณภาพใช้งานได้จริง และคงทน และยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคน กศน. ได้ด้วย อีกทั้งตอนนี้ตนกำลังดำเนินการในเรื่องของการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ กศน. ซึ่งจะต้องพัฒนารูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้ “WOW” ก่อนนำเข้าสู่การค้าขายเชิงพาณิชย์ และจะให้มีจุดขายเพื่อส่งเสริมเพิ่มช่องทางการขายสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ผลงานเสื้อสูทจากผ้าทอมือที่ทำมาจากผักตบชวา ถือว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำได้จริง และเป็นไอเดียยอดเยี่ยมมากๆ เพราะสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ระดับท้องถิ่น และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก โดยอาศัยวัสดุส่วนเกินในธรรมชาติ การนำผักตบมาแปรรูป ช่วยกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำ ลดการใช้เส้นใยสังเคราะห์ และลดขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ข้อมูลอ้างอิง https://www.facebook.com/nfe.phachi/, https://www.newsringside.com/19071/

เครดิตภาพ https://www.newsringside.com/19071/


กำลังโหลดความคิดเห็น