xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี ชูแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ดันชุมชนบ้านมดตะนอย เป็นต้นแบบการจัดการขยะชายฝั่งทะเล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เอสซีจี และเครือข่าย ร่วมกับชุมชนบ้านมดตะนอย ผลักดันการจัดการขยะทะเลชายฝั่งในพื้นที่ชุมชน ด้วยแนวทาง SCG Circular way “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” พร้อมเป้าหมายเป็นชุมชนต้นแบบปลอดขยะ 100% ในปี 2565
ศาณิต เกษสุวรรณ ที่ปรึกษาธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เผยว่า จากกรณีการสูญเสียพะยูนมาเรียมถือเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ และช่วยสร้างการตื่นตัวให้คนไทยในหลายภาคส่วนหันมาสร้างพลังความร่วมมือแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง เพราะถือว่าทุกคนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดขยะและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านั้น อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล
จากสถิติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิต โดยมาจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร โดยสัตว์ทะเลร้อยละ 2-3 จะเสียชีวิตจากการกลืนขยะ ในขณะที่คนไทยกลับมีแนวโน้มการสร้างขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กิจกรรม ‘Save Mariam’s Family ฟื้นคืนระบบนิเวศ ลดต้นเหตุขยะทะเล’ ในครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการขยะ และผลกระทบของขยะที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นเวทีที่จะได้ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการขยะจากทุกภาคส่วน
"เอสซีจี เชื่อว่า การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเป็นหน้าที่ของทุกคน จึงได้มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่ระดับชุมชนให้มีความตระหนักรู้และการจัดการขยะที่ถูกต้องตามแนวทาง SCG Circular way “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน"
ศาณิต เกษสุวรรณ


ชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นชุมชนหนึ่งที่ได้ร่วมกับเอสซีจีในการดูแลระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และนับเป็นชุมชนชายฝั่งที่ตื่นตัวและเริ่มจัดการขยะด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟม ประจำปี 2559
ด้าน ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย ‘ณัฐวัฒน์ ทะเลลึก’ เล่าว่า “เมื่อปี 2557 ได้มีการตรวจสุขภาพของคนในชุมชนและพบว่ามีผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ทำให้ชุมชนสนใจที่จะหาสาเหตุของการเกิดโรค โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ปัจจัยการเกิดโรคน่าจะมาจากการใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นระยะเวลานาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนให้หันมาช่วยกันรณรงค์เลิกใช้โฟมอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากจัดการขยะในบ้านตนเองก่อน ด้วยการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท เพื่อนำไปสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
ขยะทั่วไป เช่น นำเศษอวนมาทำถุงคัดแยกขยะแทนถุงดำ นำลูกมะพร้าวที่เหลือทิ้งมาทำเป็นกระถางต้นไม้ นำยางรถยนต์เก่ามาทำเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว ทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพการปลูกพืชผักสวนครัวในชุมชน
ขยะอินทรีย์ เช่น เปลือกปู เปลือกกุ้ง ได้นำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ
ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว เศษกระดาษ จะนำไปแปรรูปเป็นของใช้ เช่น หลอดกาแฟนำไปทำไส้หมอนให้ผู้สูงอายุ
ส่วนพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะนำไปใส่ขวดน้ำเพื่อทำ Eco-Brick โดยส่งไปให้กลุ่ม Trash Hero ส่วนขยะอันตรายจะนำไปส่งให้ อบต.เกาะลิบง เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ต่อยอดสู่การพัฒนา ‘อวนดักขยะ’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชุมชนเพื่อจัดการขยะไม่ให้ไหลลงคลองต้นทางก่อนไหลลงสู่ทะเล โดยจะใช้สำหรับการตักเก็บขยะช่วงน้ำขึ้นและเก็บกวาดขยะใต้ถุนช่วงน้ำลง
นอกจากนี้ เอสซีจียังได้ร่วมกับชุมชนบ้านมดตะนอย หน่วยงานจากภาครัฐ ดูแลระบบนิเวศและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ด้วยการปลูกหญ้าทะเลที่เพาะพันธุ์ขึ้นเองจากภูมิปัญญาชุมชน ผนวกกับองค์ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาดูงานที่มูลนิธิอันดามัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อ.สิเกา จ.ตรัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 21,000 ต้น ในพื้นที่ 18 ไร่ และปลูกป่าโกงกางอีก 3,700 ต้น ในพื้นที่ 28 ไร่ เพื่อลดภาวะโลกร้อน และช่วยให้ระบบนิเวศชายฝั่งกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงวางบ้านปลาที่หล่อขึ้นจากนวัตกรรมปูนเอสซีจีที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน และทนต่อซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล (ปูนคนใต้) จำนวน 670 หลัง ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
ด้าน ลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังได้ประกาศเป้าหมาย ‘การขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม’ โดยร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการร้านค้าและการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเป็นเมืองปลอดโฟมบรรจุอาหาร และการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผ่านการส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนโฟมและพลาสติก รวมถึงการจัดการขยะเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งชุมชนบ้านมดตะนอยเป็นความภาคภูมิใจของคนตรัง และเป็นชุมชนต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลเป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถทำได้ทันที อีกทั้งยังมีการดูแลรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทะเลอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและแผนการสนับสนุนของจังหวัดตรังที่ต้องการให้ชุมชนชายฝั่งมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
"จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ ชุมชนสามารถลดขยะโฟมให้เป็นศูนย์ ลดขยะทั่วไปได้ร้อยละ 53 ลดขยะอินทรีย์ได้ร้อยละ 82 ลดขยะรีไซเคิลได้ร้อยละ 54 ลดขยะอันตรายได้ร้อยละ 34 และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ประมาณร้อยละ 30 โดยชุมชนได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 บ้านมดตะนอยจะเป็นชุมชนปลอดขยะร้อยละ 100 และพร้อมที่จะเป็นผู้แบ่งปันความรู้ แนวคิด และการปฏิบัติด้านการจัดการขยะให้ผู้สนใจต่อไป”
นายเด็น  ทะเลลึก (บังเสือ) อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลและชายฝั่ง ชุมชนบ้านมดตะนอย