โครงการ “พิพิธภัณฑ์แม่” อุทยานการเรียนรู้แห่งความรักและสันติภาพ มีเป้าหมายเพื่อยกย่องเชิดชูความรักของแม่ ความรักต่อสันติภาพ และพัฒนาไปสู่จิตวิญญาณของความเป็นแม่ อันจะช่วยยกระดับความเป็นมนุษย์ เป็นพลังแห่งสันติสุข ด้วยความร่วมแรงร่วมใจทางสังคม แปรเป็นพิพิธภัณฑ์แม่แห่งแรกของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น
จุดเริ่มต้นของโครงการ “พิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่” เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง ขณะที่ “ครองศักดิ์ จุฬามรกต” กำลังนั่งดูเด็กๆ เล่นที่สนามอย่างสนุกสนาน ทำให้ย้อนนึกถึงเรื่องหนึ่งในวัยเด็กที่ประทับใจไม่มีวันลืม ในตอนที่เรียนอยู่ชั้นประถม 4 คุณครูนำนักเรียนทั้งโรงเรียนไปดูภาพยนตร์อินเดียเรื่อง “ธรณีกรรแสง” เป็นเรื่องของหญิงชาวนายากจนคนหนึ่ง ซึ่งถูกจับแต่งงาน ถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆ นานา ต้องเผชิญความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ต้องดิ้นรนพยายามต่อสู้เอาชีวิตรอด อดทน บากบั่นเลี้ยงดูลูกทั้ง 2 คนให้ดีที่สุด
ครองศักดิ์ จุฬามรกต ผู้ริเริ่มและก่อตั้งโครงการพิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่
กล่าวได้ว่า ชีวิตเธอแม้ขาดความหวัง แต่ความเป็นแม่นั้นเป็นพลังให้ก้มหน้ามีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ยอมแพ้ชะตากรรมที่ตามมาเล่นงานเมื่อลูกคนหนึ่งเป็นตำรวจ ขณะที่ลูกอีกคนหนึ่งเป็นโจร ความถูกผิดเลือกไม่ได้ แต่ด้วยจิตใจแห่งแม่ ท้ายสุดผู้หญิงอินเดียคนหนึ่งก็ได้รับการยกย่องเชิดชู จากความรักอันยิ่งใหญ่ในฐานะแม่ที่ไม่ยอมแพ้ลุกขึ้นสู้เพื่อลูกมาตลอดชีวิต
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์สร้างแรงสะเทือนใจ และยังได้เชื่อมโยงไปกับการผสมผสานให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมจารีตประเพณี และวิถีของคนอินเดีย ไม่ว่าพิธีแต่งงานที่อลังการ การแสดงถึงคุณค่าทางศิลปะ ให้เข้าใจทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ผ่านเชื่อมโยง “สังคม” อินเดียในอดีตกับกาลเวลา
นับเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น ด้วยเนื้อหาอันรันทดของเรื่อง “ธรณีกรรแสง” ประหนึ่งว่าแม่พระธรณียังต้องกรรแสงร่ำไห้ในชะตากรรมของ“แม่” จนทุกคนในโรงภาพยนตร์อดหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้งในคุณดีงามของ“แม่”ไม่ได้ เช่นเดียวกับ“ครองศักดิ์”ในวัยเยาว์ เกิดความประทับใจ แรงบันดาลใจก็เกิดขึ้นตั้งแต่นั้น จากการรำลึกคุณความดีของแม่ ที่ติดตรึงในความทรงจำตลอดเวลามิรู้ลืม
ด้วยความซาบซึ้งกินใจจากภาพยนตร์และความรัก“แม่” ได้สะกดใจถึงรู้ว่าจะทำอะไรดีเพื่อ“แม่” คิดเอาว่าต้องเริ่มจากทำให้เกิด “กาลเทศะ” ที่จะช่วยจุดประกาย เพื่อให้คนมาซึมซับ เกิดความปิติในคุณค่าความเป็นแม่ร่วมกัน หลังจากค้นหาข้อมูลที่จะเป็นสัญลักษณ์แม่ของโลก ก็ไม่พบว่ามีที่ไหนที่พูดเรื่องความยิ่งใหญ่ของแม่ พูดถึงเรื่องคุณงามความดีของแม่ ที่มีต่อมวลมนุษยชาติ จึงมีข้อสรุปว่าเมืองไทย ควรจะสร้าง “พิพิธภัณฑ์” ให้เป็นสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้อันสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชุมชนต่อสังคมในความพิสุทธิ์อันใหญ่ยิ่ง
เมื่อเริ่มมีประกายความคิดเช่นนี้ จะทำเช่นไรให้ “ความฝัน” หรือ “จินตนาการ” เป็นจริงขึ้นมาได้ รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ง่ายเลย ต้องใช้ความรัก ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องใช้เงิน คงต้องเหนื่อยยากทีเดียว แต่มีจิตมุ่งว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง โดยไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง สถานที่ของแม่นี้นั้นจะเป็นผลจากจิตใจของความรัก เพื่อเชิดชูยกย่องคุณค่าความเป็นแม่ ผ่านพิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่เป็นสำคัญ ซึ่งจะหล่อหลอมคุณงามความดีให้เกิดขึ้นกับทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา
หลังจากผ่านการคิดและกลั่นกรองมานาน ก็ยังมีข้อสงสัยว่า มีคำถามที่ต้องหาคำตอบว่า “สิ่งที่จะเกิดขึ้น” จะสร้าง “ผลกระทบ” ได้จริงหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร จึงเริ่มค้นคว้าข้อมูลรอบด้าน และพบว่า มีการพัฒนาความคิดใหม่ที่เรียกว่า “Cultural Creative Movement” เป็น “ความเคลื่อนไหวใหม่”ทางสังคม เกิดขึ้นมากว่า 20 ปีแล้ว
โดยมีการพูดถึงค่านิยมใหม่ของสังคม คือการรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้ชีวิตเรียบง่าย ค้นหาภูมิปัญญาโบราณ ทำศาสนาต่างๆ ให้เป็นสากลสามารถเชื่อมต่อสิ่งดีๆ ไปในทุกมุมโลก ส่งต่อ“จิตวิญญาณ”ดีงาม จากปรากฎการณ์ในวันนี้ ก็เห็นได้ว่า แนวโน้มสังคมจะขับเคลื่อนมาทางบริบทดังกล่าว ดังนั้น “สิ่งที่จะทำ” พิพิธภัณฑ์แม่นั้น มั่นใจว่าย่อมมีประโยชน์จริงและจะส่งผลกระทบต่อความดีงามของสังคมต่อๆ ไป
“ครองศักดิ์” มีความมุ่งมั่นตั้งใจว่า “สิ่งนี้” ต้องเกิดขึ้นให้ได้และต้องเกิดขึ้นด้วยการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการร่วมมือ” เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ของมนุษยชาติ เพื่อพัฒนายกระดับศักยภาพทางจิตวิญญาณให้สูงขึ้น เพื่อก้าวไปสู่วัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข และด้วยความรัก นี่คือแก่นที่สรุปได้ในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ยังได้คิดต่อไปอีกว่า ที่จริงเรื่องที่ใกล้ตัวของแต่ละคนมากที่สุด คือเรื่องของคนๆ นั้นเอง เป็นประสบการณ์แรกตั้งแต่เริ่มตามองโลกในชีวิตของทุกคนก็คือ “แม่” เรื่องของแม่ก็น่าจะทำให้ทุกคนตระหนักดีกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ “แม่” ยังโยงไปถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ธรรมะ เลยไปไกลถึงจักรวาลคงไม่ผิดจากนี้ เพราะแม่คือจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่งทั้งปวง
ทั้งนี้เมื่อเกิด “พิพิธภัณฑ์แม่” จึงต้องมีสถานที่หนึ่งที่สวยงาม ครอบคลุมสัญลักษณ์ความรัก ความสุข สันติสุข ท่ามกลางบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่มีสภาวะทางธรรมชาติ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ร่มรื่นร่มเย็น เย็นตาสุขใจ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่สะท้อนถึงความหมายแห่งความนิ่งใหญ่ของบุพการี“แม่”ที่คือความดีในทุกสิ่งทุกอย่าง
อันจะช่วยส่งเสริม และรองรับการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ งานศิลปะ แกลเลอรี่ ห้องแสดงดนตรี หอสมุด สถานที่จัดนิทรรศการ เพื่อให้คนมามีปิติใจร่วมกัน คิดถึงความดีงาม โดยมี “แม่”เป็นศูนย์รวมของความรักอันบริสุทธิ์
ด้วยภารกิจที่ใหญ่โตและมีความหมายอันยิ่งใหญ่ ทำเช่นไรถึงจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งคงต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย และต้องขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงที่ “ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี” ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของประเทศ เป็นผู้นำทางความคิดของสังคมไทย ให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และท่านยังได้ตอกย้ำว่า “สิ่งนี้ต้องเกิด พิพิธภัณฑ์แม่ ต้องทำให้ยิ่งใหญ่ อลังการ ให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมอันนับเป็นสิ่งสำคัญ”
รวมทั้งยังได้รับเกียรติยิ่ง จาก “ศาสตราจารย์ระพี สาคริก” มาเป็นประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่คนแรก และเมื่อท่านเสียชีวิตลง “อาจารย์รตยา จันทรเทียร” ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร มารับช่วงดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิฯ คนที่สอง นับเป็นกำลังใจสำคัญที่ได้รับตลอดมา
ก้าวแรกก้าวสำคัญของอุทยานพิพิธภัณฑ์แม่ได้เริ่มความก้าวหน้าแล้ว เมื่อบริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ PASAYA ที่มีชื่อเสียงโดย “ชเล วุทธานันท์” ผู้บริหารระดับสูง ตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงได้มอบที่ดินจำนวน 53 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ณ จังหวัดราชบุรี เพื่อร่วมสานสร้าง “พิพิธภัณฑ์แม่” ให้เกิดขึ้นเป็นจริงในประเทศไทยต่อไป
จุดนี้ขยายไปสู่ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกทิศทาง ที่ตระหนักมองเห็นความสำคัญ และเห็นประโยชน์ในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสนับสนุนตามสะดวกตามกำลังในทุกด้านทุกส่วน เช่น การจัดสร้างสวนประติมากรรม “ความรักของแม่” ศูนย์แสดงงานศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งพบปะเรียนรู้สรรพสิ่งในความดี หรือเข้าถึงผลงานของศิลปินชั้นนำทุกแขนง อันเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับจิตใจของคนทุกผู้นาม
“ครองศักดิ์”ยังได้แสดงทัศนะที่ชวนคิดด้วยว่า “ศิลปะก็คือแม่ ศิลปะจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง มีแรงบันดาลใจ ความปรารถนาแรงกล้า ที่จะทำสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของศิลปินทุกคน โดยท้ายสุดเนื้อหาของศิลปะก็มุ่งสู่ความดี ความงาม ความจริง และแท้จริง “แม่” ถือว่าเป็นศิลปินคนแรก ที่เปี่ยมด้วยรัก มีความละเอียดประณีตในทุกเรื่องราว แบกทุกสิ่งไว้บนบ่า ด้วยพยายามทำสิ่งที่ดีกว่าเสมอเพื่อให้ลูกได้เติบโตอย่างมีสุขทั้งกายใจ ดังนั้น “ศิลปะ” จึงเกิดจากจิตวิญญาณของความเป็นแม่นั่นเอง”
“ครองศักดิ์ จุฬามรกต” ผู้ริเริ่มและก่อตั้งโครงการพิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่ และเลขาธิการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ ในสถานะหนึ่งคือ สถาปนิกชื่อดังที่มีผลงานมากมาย เป็นสถาปนิก “จิตอาสา” ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มบริษัทแปลน” เช่น บริษัท แปลน อาคิเต็ค , บริษัท แปลน คอนซัลแตนท์ส ฯลฯ และเป็นผู้กำหนดนโยบายในการทำธุรกิจให้นำกำไร 60% หลังหักค่าใช้จ่าย มาทำประโยชน์ให้สังคมในรูปแบบต่างๆ รวมถึง การออกแบบโครงการเพื่อสาธารณะหลายแห่งโดยไม่คิดมูลค่า อาทิ อาคารปรีดีพนมยงค์ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร และหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ
โครงการ“พิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่” ที่กำลังเกิดขึ้นตามลำดับนี้ จะเสมือนอาณาจักรความยิ่งใหญ่อันพิสุทธิ์ ดุจอัญมณีแห่งรักแสนบริสุทธิ์ ทั้งยังทำให้เกิด “พลัง” แห่งการเรียนรู้ “พลัง” แห่งความร่วมมือ ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์อันยิ่งใหญ่ตลอดไปในความเป็นจริง และความเที่ยงแท้ว่า “แม่” นั้นคือสรรพสิ่งทั้งมวลในโลก ในจักรวาล ที่จะคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง อันเป็นนิรันดร์ ไม่เปลี่ยนแปลงตราบนานแสนนาน