xs
xsm
sm
md
lg

SDGs และ Thailand 4.0 ก้าวไปพร้อมกันได้อย่างไร/รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภายใต้ร่มใหญ่ของยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0 ที่เปรียบเสมือน “กระบวนรถจักรของการเปลี่ยนผ่าน” ประเทศไทย ที่กําลังก้าวเข้าสู่ “ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า” (Value-based economy) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ และนับเป็นหัวใจของเครื่องยนต์ทั้ง 3 : ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Competitive, Inclusive, and Green growth engines)
เป้าหมายก็คือ ความอยู่ดีมีสุขของสังคมที่จะ เดินหน้าไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียงกันและไม่ลืมที่จะยกระดับคุณภาพของ คน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หากมีการร่วมพัฒนาบริบทของการส่งเสริมความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative advantages) ของประเทศไทยที่มีจุดเด่นและศักยภาพของความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้ถูกยกระดับเป็น “ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน” (Competitive advantages) ผ่านการเสริมสมรรถภาพให้ “เศรษฐกิจฐานสังคมชุมชน” ด้วยนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ก็จะเป็นการสร้างทางลัดที่มีความเข้มแข็งให้สังคมส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นระดับฐานรากที่พร้อมดึงศักยภาพของประเทศไทยมาใช้เพื่อเข้าสู่ลู่วิ่ง หรือ ระบบราง ที่เชื่อมโยง กับประชาคมโลกตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นวาระ แห่งการพัฒนาของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้าของประชาคมโลกร่วมกัน

ในทิศทางการพัฒนาต่อจากนี้ภายใต้การร่วมสร้างเป้าหมายอนาคตร่วมกัน “Our common future” ซึ่งกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้จากภาควิชาการและการอุดมศึกษาเป็น “ตัวแปร” ที่มีนัยสําคัญในการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการให้มีศักยภาพและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานชุมชนของสังคมไทย
หากมีการบริหารจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบร่วมกับพลังร่วมของภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การน้อมนำหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ขับเคลื่อนผ่านกลไกประชารัฐหรือความร่วมมืออื่นๆ ก็จะช่วยทำให้ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 สามารถก้าวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New normal) ด้วยเครื่องยนต์ทั้ง 3 ของ ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างโดดเด่น
การสร้างเส้นทางลัดที่มีความเข้มแข็ง รวมทั้งความพร้อมของ “ลู่วิ่งหรือเส้นทาง” (Track) และ “ชุมทางหรือศูนย์อำนวยความสะดวกด้านดิจิทัล” (Digital Platform) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควรเตรียมไว้สำหรับ “การเปลี่ยนเส้นทางการจัดการโลจิสติกส์ หรือ Logistic flow” ของการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนด้วยการเปลี่ยนความคิดและกระบวนการทำงานใหม่โดยการกำหนดให้ “กระบวนการวิจัยตลาด” ของสินค้าและบริการชุมชนเป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนา ก่อนการนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และงานวิจัย เข้าไปช่วยยกระดับห่วงโซ่อุปทานเดิมสู่เส้นทางการจัดการรูปแบบใหม่ที่น่าจะมีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจหากมุ่งหวังใช้ประเด็นทางเศรษฐกิจและรายได้ชุมชนในการพัฒนา ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในแนวใหม่นี้จะต้องถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันในชุมทางหรือศูนย์อำนวยความสะดวกด้านดิจิทัล หากสามารถทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้เกิดการตลาดที่ “มั่นคง” โดยใช้ศักยภาพและคุณภาพของสินค้าและบริการของชุมชนที่มีพลังของนวัตกรรมเพื่อช่วยยกระดับทั้งรายได้และความเป็นอยู่ ซึ่งจะสามารถสะท้อนสุขภาพเศรษฐกิจชุมชนที่แข็งแรงอย่าง “ยั่งยืน” ต่อไป
สถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย “สะพานเชื่อม” ระหว่างภาควิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดมศึกษากับภาคส่วนอื่นๆ ได้จัดเวทีสาธารณะระดมความคิดเรื่อง Shared Mission for Sustainable Development (Mission 1 : Use of Innovation, Knowledge and Research for Local Economy Development) เมื่อปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสานพันธกิจระหว่างหน่วยงานและมุ่งสู่ทิศของการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแม้ว่างานจะมุ่งเน้นด้านการเกษตรอาหาร (SDGs) แต่จะส่งผลดีไปถึงเป้าหมายอื่นๆ ใน 17 เป้าหมายโดยรวมด้วย หลายประเด็นเพื่อการพัฒนาถูกเชื่อมโยงกันเป็นระบบและจะเกิดการพัฒนาการทำงานสานพันธกิจระหว่างองค์กรในกลุ่มงาน เกษตรอาหาร และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพอุดมศึกษาในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ
และหากสามารถเชื่อมโยงคุณค่าของเนื้องานเข้ากับ SDGs ในข้อที่เกี่ยวข้องได้แล้ว จะยิ่งเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจและช่วยสื่อสารเรื่อง SDGs ให้กับสังคมอุดมศึกษาทั่วประเทศผ่านพันธกิจด้านวิจัยและการเรียนการสอนแนวใหม่ที่มุ่งเน้นการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นแนวทางการใช้ความรู้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาชุมชนและสังคมรอบสถาบันอุดมศึกษาเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาต้องแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของชุมชนรอบข้าง ให้เกิดการพัฒนา ให้สมกับความเป็นอุดมศึกษาของประเทศต่อไป


รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ 
ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ

กำลังโหลดความคิดเห็น