ประธาน ทปอ. ย้ำระบบ “TCAS” ปฏิรูประบบรับ นศ. เข้ามหาวิทยาลัย ชี้ ทุกคนมี 1 สิทธิเท่าเทียม ป้องกันวิ่งรอกสมัครสอบ แย่งสิทธิ - กั๊กที่นั่ง เผยเปิดโอกาสให้เด็กมากกว่า 1 ครั้ง ไม่เครียดแบบ “เอนทรานซ์” ดีกว่า “แอดมิชชัน”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทอป.) กล่าวระหว่างบรรยายสร้างความเข้าใจระบบรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง ประจำปีการศึกษา 2561 “Thai University Central Admission System” (TCAS) หรือ “ทีแคส” กับอาจารย์และนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งจะมาแทนที่ระบบแอดมิชชัน ว่า จุดประสงค์หลักที่ ทปอ. เปลี่ยนจากระบบแอดมิชชันมาใช้ระบบ TCAS ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศใช้ระบบเดียวกัน 54 แห่ง รับนักศึกษาได้ทั้งสิ้น 206,506 คนนั้น เนื่องจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และลดค่าใช้จ่ายในการวิ่งรอกสมัครสอบหลายที่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักเรียนที่มีฐานะดีมีโอกาสมากกว่า โดยระบบใหม่กำหนดให้ทุกคนมีเพียง 1 สิทธิอย่างเท่าเทียม เมื่อมีสิทธิเข้าศึกษาต่อต้องยืนยันสิทธิและจะถูกตัดรายชื่อออกจากระบบทันที พร้อมกับข้อกำหนดในการให้นักเรียนอยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษา แบ่งออกเป็น 5 รอบ ดังนี้
รอบที่ 1 โควตาใช้ Portfolio ไม่มีการสอบข้อเขียน 44,258 คน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่าย แบ่งเป็น 2 รอบ ครั้งที่ 1 วันที่ 1 ต.ค. - 30 พ.ย. 2560 จากนั้นมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ ทปอ. ภายในวันที่ 12 ธ.ค. 2560 ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์ เคลียริงเฮาส์ภายในวันที่ 15 - 19 ธ.ค. 2560 และ ทปอ. ส่งชื่อให้มหาวิทยาลัยประกาศราย ชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา วันที่ 22 ธ.ค. 2560 และ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 ธ.ค. 60 - 28 ก.พ. 2561 จากนั้นมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ ทปอ. ภายในวันที่ 15 มี.ค. 2561 ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์ เคลียริงเฮาส์ภายในวันที่ 19 - 22 มี.ค. 2561 และ ทปอ. ส่งชื่อให้มหาวิทยาลัยประกาศราย ชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา วันที่ 26 มี.ค. 2561
รอบที่ 2 การรับตรง/โควตา มีการสอบข้อเขียน หรือสอบปฏิบัติ 68,050 คน สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้น ที่ หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ และโควตา 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ไม่ใช่การรับทั่วประเทศ) รับสมัครและคัดเลือกในเดือน ธ.ค. 2560 - เม.ย. 2561 จากนั้นมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ ทปอ. ภายในวันที่ 30 เม.ย. 61 ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์ เคลียริงเฮาส์ภายในวันที่ 3 - 6 พ.ค. 2561 และ ทปอ. ส่งชื่อให้มหาวิทยาลัยประกาศราย ชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา ในวันที่ 8 พ.ค. 2561
รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน 44,390 คน สำหรับนักเรียนในโครงการ กสพท. โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ แต่ละสถาบันอุดมศึกษากำหนดเกณฑ์ ที่เป็นอิสระของตนเอง เกณฑ์การคัดเลือกใช้คะแนน O-NET GAT/PAT 9 วิชาสามัญ หรือข้อสอบตรง รับสมัครวันที่ 9 - 13 พ.ค. 2561 จากนั้น ทปอ. ส่งข้อมูลการสมัครให้มหาวิทยาลัย วันที่ 16 พ.ค. 2561 มหาวิทยาลัยประมวลผลและส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้กลับมายัง ทปอ. วันที่ 23 พ.ค. 61 ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์ เคลียริงเฮาส์ภายในวันที่ 26 - 28 พ.ค. 2561 ทปอ. ส่งรายชื่อยืนยันสิทธิ์ให้มหาวิทยาลัยเพื่อสอบสัมภาษณ์ ในวันที่ 30 พ.ค. 2561 และประกาศผลการในวัน 8 มิ.ย. 2561
รอบที่ 4 การรับแบบ Admissions 34,744 คน สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ เกณฑ์การคัดเลือกใช้คะแนน O-NET GAT/PAT รับสมัครวันที่ 6 - 10 มิ.ย. 2561 ประกาศผลมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ภาย ในวันที่ 30 มิ.ย. 2561 และประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษ าในวันที่ 13 ก.ค. 2561
รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ 15,064 คน สถาบันอุดมศึกษาเปิดรับตรงเพิ่ม เติมได้เองอิสระ เปิดรับสมัครและดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค. 2561
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบ TCAS เป็นความร่วมมือกันของทุกมหาวิทยาลัย ที่ตกลงเข้าร่วมกระบวนการพร้อมกันตั้งแต่การปรับช่วงเวลารับสมัครแต่ละรอบให้ตรงกัน และยอมเข้าระบบเคลียริงเฮาส์ หรือการจัดการที่นั่งกลางทุกมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เนื่องจากทุกแห่งต้องการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งต้องการสร้างความเป็นธรรมทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งนี้ แม้ว่าระบบการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษา ยังต้องพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และพฤติกรรมความสนใจของนักเรียนในอนาคต แต่ระบบ TCAS ถือเป็นการปฏิรูประบบครั้งประวัติศาสตร์ของวงการอุดมศึกษาไทย จากอดีตระบบเอนทรานซ์ที่แม้จะง่ายในการจัดการแต่สร้างความเครียดให้กับทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง เพราะหากพลาดคณะที่ต้องการศึกษาต่อหรือสอบไม่ติด ต้องเสียเวลากลับมาสอบใหม่ในปีการศึกษาหน้า ขณะที่ระบบแอดมิชชันทำให้เด็กนักเรียนต้องเสียเวลาและเงินในการกวดวิชา และมีความเหลือมล้ำทางด้านฐานะ เพราะระบบนี้เก็บเงินมากกว่า ที่สำคัญใครมีฐานะดีก็สามารถเลือกสอบได้มาก จึงมีโอกาสมกกว่าเด็กทั่วไป ต่างจากระบบ TCAS ที่เปิดโอกาสให้มากกว่า 1 ครั้ง ภายใต้การบริหารสิทธิ 1 สิทธิ ให้เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งนอกจากป้องกันการหว่านสมัครหลายที่ยังแก้ปัญหาการแย่งสิทธิ หรือกั๊กที่นั่งของผู้อื่นด้วย