ทุกวันนี้เราได้รับรู้ปัญหาภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วทุกมุมโลก ซ้ำยังมีปัญหาความรุนแรงของสังคมและมีความซับซ้อนมากขึ้น จนไม่สามารถแก้ปัญหาโดยประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป
ขณะเดียวกันประชาชนของแต่ละประเทศก็ไม่ควรหวังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว เราจึงได้เห็นบทบาทพลังพลเมืองที่พร้อมลงมือแก้ปัญหาทางสังคม จนเกิดกระแสความตื่นตัวของงานอาสาสมัครยุคใหม่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
จึงเป็นความท้าทายของประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยในการสร้างพลเมืองที่มีใจพร้อมช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมโดยกลไกสร้างการมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาร่วมกันและยกระดับการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครให้มีส่วนในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ผู้นำประเทศไทยร่วมยืนยันใน 17 หัวข้อ ของสหประชาชาติ
การจัดประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัครครั้งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาของเครือข่ายจิตอาสาและภาคีกว่า 20 องค์กร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน จึงเป็นอีกเวทีหนึ่งในการร่วมหาแนวทางจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ วงการศึกษา ภาคเอกชน และประชาสัมคม เพื่อพัฒนางานอาสาสมัครให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
รัฐตั้งศูนย์ประสานงานฯ แห่งชาติ
ในประเทศไทย ภาครัฐมีข้าราชการเป็นอาสาสมัครหลักล้านคนกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ และสามารถสนับสนุนให้งานอาสาสมัครระดับประเทศเข้มแข็งมากขึ้นได้
จึงมีการชูบทบาทของ “ศูนย์ประสานงานองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกลไกกลางในการส่งเสริมงานอาสาสมัครของประเทศไทยในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
กลไกนี้จะเชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรอาสาสมัคร และพร้อมตอบสนองต่อประเด็นปัญหาใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงในสังคม รวมถึงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนการจัดการอาสาสมัคร เช่น ภาคธุรกิจ น่าจะมีอาสาสมัครวิชาชีพอยู่จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้เพื่อนำทักษะความสามารถมาช่วยเหลือสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ
ส่วนการจัดการอาสาสมัครในภาครัฐ มีอาสาสมัครไม่น้อยทำงานให้กับหลายหน่วยงาน ที่ประชุมเสนอว่า หน่วยงานรัฐจะต้องกำหนดภารกิจที่ชัดเจน รวมทั้งต้องมีการติดตามและพัฒนาศักยภาพให้อาสาสมัคร รวมทั้งมีการประเมินผล และยกย่องให้กำลังใจ นอกจากนี้ควรเชื่อมโยงอาสาสมัครระดับพื้นที่ ในการร่วมกันทำงานเพื่อตอบโจทย์ชุมชน มากกว่ามุ่งหน่วยงานรัฐที่ตนสังกัด โดยให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการอาสาสมัครในพื้นที่ด้วย
สร้างพลเมืองร่วมลงมือทำ
ขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ นั้น การสร้างความเติบโตให้แก่งานอาสาสมัคร เริ่มต้นที่การบ่มเพาะเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่ใช้ “กระบวนการอาสาสมัครเป็นเส้นทางสู่การสร้างพลเมืองเพื่อลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม” เช่น มูลนิธิสยามกัมมาจล ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม โดยใช้ ’โครงการ’ เป็นเครื่องมือพัฒนาเยาวชนในระดับจังหวัด ฝึกให้คิดวิเคราะห์ชุมชนตนเอง ก่อนออกแบบ และลงมือดำเนินโครงการ โดยมูลนิธิฯ เป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริม ตั้งคำถามชวนคิด สร้างกระบวนการเรียนรู้ พร้อมเชื่อมโยงผู้ใหญ่ในจังหวัดมาร่วมสนับสนุน ปรากฏว่าได้สร้างพลเมืองรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองและเกิดความยั่งยืนได้
นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยที่ใช้กระบวนการอาสาสมัครในการส่งเสริมการศึกษา โดยมีอาจารย์เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ คอยตั้งคำถามให้นักศึกษาเชื่อมโยงปัญหาสังคมเข้าหาตัวเองและสร้างเงื่อนไขให้สัมผัสปัญหาจริงผ่านกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน
ขณะที่บางมหาวิทยาลัยเปิดศูนย์อาสาสมัคร บางมหาวิทยาลัยใช้กิจกรรมนอกหลักสูตร โดยร่วมมือกับชุมชนโดยรอบให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตามต้องคำนึงถึงการสร้างความเข้าใจ แรงบันดาลใจ ตลอดจนทักษะต่างๆ ให้แก่นักศึกษาด้วย
กรณีศึกษาที่นำเสนอได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับงานอาสาสมัคร จึงมีโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ การนำนักศึกษาไปช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนของเมืองเล็กๆ ที่ยังไม่พัฒนา การช่วยฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งนี้ เยาวชนญี่ปุ่นส่วนมากสนใจเป็นอาสาในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และยังมีสิทธิให้ข้อคิดเห็นกับผู้กำหนดนโยบายได้
สำหรับ “บทบาทภาคธุรกิจ” นั้น มีการส่งเสริมพนักงานอาสาสมัครพร้อมๆ กับการริเริ่มโครงการ CSR ซึ่งมีพัฒนาการเกี่ยวเนื่องกัน และปัจจุบันภาคธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมาย “ความยั่งยืน” มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาพนักงานผ่านการทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมเท่ากับช่วยพัฒนาบุคลากรด้วย
ดังที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด สำนักงานใหญ่ได้มีนโยบายการรับพนักงานโดยลดความสำคัญของเกรดเฉลี่ยลงแต่พิจารณาที่การทำงานอาสาสมัครมากขึ้น
ตอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้ยังมุ่งเน้นที่จะยกระดับงานอาสาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการเพิ่มพูนสมรรถนะและผลดีจากการทำงานอาสาสมัคร โดยเชื่อมโยงปัญหาเข้ากับพลังและศักยภาพของอาสาสมัคร มีการลงมือทำและทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น ปรับเปลี่ยนกระบวนการอยู่เสมอ นอกจากนี้ องค์กรที่มีกระบวนการที่เอื้อให้อาสาสมัครเกิดการเรียนรู้ และเข้าถึงงานที่ได้ใช้ศักยภาพของเขา ยังช่วยให้อาสาสมัครเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้ มีตัวอย่างจาก “ครูอาสาเกื้อฝันเด็ก” “ล่ามอาสาด้านปัญหาสุขภาพ” ที่เล่าว่าพวกเขาได้พัฒนาทักษะ เปลี่ยนวิธีคิดตนเอง และเกิดแรงบันดาลใจจากการทำงาน
สำหรับ “แนวโน้มระดับโลกด้านงานอาสาสมัคร” นั้น ปัจจุบันงานอาสาสมัครสามารถเป็นเครื่องมือผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายได้ ยกตัวอย่างเช่น อาสาสมัครในโครงการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ทำงานเกี่ยวกับการวางแผนรับมือภัยพิบัติของไทยในระดับนโยบาย มีอาสาสมัครที่ทำงานด้านการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ให้ตระหนักรู้และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาฝีมือหัตถกรรมที่ “สถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพร”
แสดงว่าอาสาสมัครมีส่วนร่วมในงานได้หลายระดับ และไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม งานอาสาสมัครก็สามารถสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ทั้งสิ้น
ข้อคิด...
ข้อมูลจากการประชุมนี้มีกรณีศึกษาการบริหารจัดการอาสาสมัครพนักงานองค์กรในต่างประเทศพบว่า การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคธุรกิจและภาคสังคม เป็น “Win - Win” 3 ฝ่าย คือทั้ง 1.พนักงานได้พัฒนาทักษะต่างๆ ส่วน 2.องค์กรธุรกิจก็ได้พนักงานที่มีทักษะดีขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ภายในองค์กรดีขึ้น และยังได้ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ที่อาจจะนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจ 3.องค์กรภาคสังคมได้พัฒนาศักยภาพด้วยทักษะจากภาคธุรกิจ เช่นในฮ่องกงมีการใช้กลยุทธ์การมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่สนับสนุนงานอาสาสมัครเพื่อกระตุ้นให้มีอาสาสมัครพนักงานองค์กรเพิ่มขึ้น
ส่วนภาคประชาสังคมซึ่งถือว่าอาสาสมัครเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนงานให้แก่องค์กรนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นการยกระดับและพัฒนาศักยภาพองค์กรที่รับอาสาสมัคร ตลอดจนการสร้างความผูกพันและรักษาอาสาสมัคร เนื่องจากอาสาสมัครมีความหลากหลาย ดังนั้นองค์กรที่เป็นผู้รับอาสาสมัครจำเป็นต้องให้ข้อมูลหรือหลักคิดในสิ่งที่อาสาสมัครจะต้องพบเจอและได้เรียนรู้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้เขาดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งสื่อสารให้เขาตระหนักว่า งานอาสาสมัครคือช่องทางสำหรับการพัฒนาตนเอง ซึ่งอาสาสมัครต้องเปิดใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเองด้วย
นอกจากจะต้องมีระบบบริหารจัดการอาสาสมัครแล้ว ยังต้องสื่อสารกับสาธารณะเพื่อปรับทัศนคติของคนในสังคมรวมถึงบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย
suwatmgr@gmail.com