ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ประเทศไทยต้องประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ไม่สามารถทำผลประกอบการได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานชนชั้นกลางในฐานะ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ต้องเผชิญภาวะกำลังซื้อถดถอยและไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ มากนัก
แต่ในอีกมุมหนึ่งของพนักงานระดับปฏิบัติการเหล่านั้น ส่วนใหญ่กลับได้รับการดูแลอย่างดีจากองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ดังที่ “พิชญ์พจี สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการ “วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย” บริษัทที่ปรึกษา โบรกเกอร์ และโซลูชันชั้นนำระดับโลกให้เหตุผลว่า แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่อยู่ในระดับฟื้นตัวดีนักและมีภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2% แต่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่กลับพยายามที่จะรักษาพนักงานให้คงอยู่กับองค์กรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไป
เธอย้ำด้วยว่า ในขณะที่องค์กรธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่กลับต้องอยู่ในภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ นายจ้างจึงยินดีที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงแก่พนักงานที่มีการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพแต่จะใช้ความละเอียดพิถีพิถันในการให้ในลักษณะ “ถูกฝา ถูกตัว” มากขึ้น เพราะเห็นว่าเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร
“พิชญ์พจี” บอกว่า บทสรุปดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน (General Industry Total Rewards Survey) ของ “วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน” (NASDAQ : WLTW) ซึ่งดำเนินการในช่วงเดือน พ.ย. 58 ครอบคลุมบริษัท 226 แห่งจาก 6 กลุ่มอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้า/พลังงาน, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทค, กลุ่มบริหารสินทรัพย์, กลุ่มบริการการเงิน กลุ่มประกันชีวิต/ประกันภัย และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไป โดยมีจุดมุ่งหมายคือช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ และช่วยกำหนดอัตราเงินเดือนว่าจ้างเริ่มต้น รวมถึงวางแผนบริหารจัดการผลตอบแทนโดยรวมแก่พนักงาน
*** 6 กลุ่มธุรกิจปรับเงินเดือนเพิ่ม 5-7% ***
ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า การปรับอัตราเงินเดือนสำหรับลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปี 2559 จะเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 5-7% ตามแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ว่ากลุ่มไฟฟ้า/พลังงานจะปรับเพิ่มสูงสุดประมาณ 6.4% ส่วนกลุ่มประกันภัยจะมีการปรับเพิ่มต่ำสุดคือ 5% โดยพัฒนาการของอัตราร้อยละเปรียบเทียบระหว่างปีอยู่ในระดับเท่าเดิม หรือดีขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มไฮเทคซึ่งมีอัตราการปรับเพิ่มในปี 2559 ลดลงจากปี 2558 เล็กน้อยเหลือเพียง 5.3% จาก 5.5%
“ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องความคาดหวังอัตราเงินเดือนขั้นต้นของบัณฑิตใหม่โดยเฉพาะสาขาวิชาวิศวกร เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน บัญชี และซัปพลายเชน ต้องการเงินเดือนในระดับ 1.5-2.6 หมื่นบาท ขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจต้องการเงินเดือนในช่วงระหว่าง 1.8-3.3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเดือนละ 1.5 หมื่นบาท”
สำหรับการจ่ายโบนัสของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่าค่อนข้างแตกต่างกันตามผลประกอบการของแต่ละธุรกิจ เริ่มต้นจาก 14% ของเงินเดือนตลอดปีที่ให้ลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (1.7 เดือน) ขณะที่ในกลุ่มบริหารสินทรัพย์ให้สูงถึง 37% (4.4 เดือน) ส่วนตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้า/พลังงาน (4 เดือน) กลุ่มบริการการเงิน และกลุ่มประกันชีวิต (2.6 เดือน) กลุ่มประกันภัย (2.3 เดือน) กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป (2.2 เดือน) และกลุ่มไฮเทค (1.9 เดือน)
ในส่วนของสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพ การลาหยุด และสวัสดิการเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงพบว่า ทุกบริษัทต่างมีมอบให้พนักงานตามกฎหมาย โดยบางแห่งมีการจัดสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น สวัสดิการการเกษียณอายุ 85% สวัสดิการด้านสุขภาพ 73% สวัสดิการด้านอาหาร 22% และสวัสดิการแบบยืดหยุ่นอื่นๆ 6%
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ในปี 2558 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานสูงสุด ได้แก่ กลุ่มประกันชีวิต 20% กลุ่มบริหารสินทรัพย์ 17% และกลุ่มไฮเทค 15% โดยอัตราการเข้า-ออกของพนักงานเฉลี่ยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงเหลือ 14% จาก 15% ในปี 2557
*** ผู้หญิงไทยทำงานมากกว่าผู้ชาย ***
“พิชญ์พจี” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจของ “วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน” ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันผู้หญิงอยู่ในภาวะการมีงานทำมากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติพื้นฐานส่วนใหญ่ที่ละเอียดรอบคอบและมีความซื่อสัตย์ต่อองค์กรมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในประเทศไทยถือว่าผู้หญิงทำงานมากกว่าผู้ชายสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยสัดส่วนถึง 71% ตามด้วยฟิลิปปินส์ ผู้หญิง 51% ในขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนเท่ากันคือ 50%
“วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน” ยังศึกษาเรื่อง “แนวโน้มทรัพยากรบุคคลและประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมต่างๆ” พบว่าการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นความท้าทายอันดับแรกของบริษัท ตามด้วยการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กร โดยระบุว่าพนักงานให้ความสำคัญต่อความเป็นผู้นำและอิทธิพลของผู้นำต่อองค์กรในด้านการขับเคลื่อนธุรกิจสูงถึง 40% ตามด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ หรือช่วยให้พนักงานมีโอกาสเติบโตในหน้าที่ 35% การสร้างความผูกพันกับพนักงาน 23% และการบริหารควบคุมองค์กร 2%
*** พนักงานระดับบริหาร : แรงขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ***
“พิชญ์พจี” กล่าวในตอนท้ายว่า การสำรวจและวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในเรื่องแนวโน้มทรัพยากรบุคคลและผลตอบแทนสวัสดิการ โดยพบว่าปัจจุบันองค์กรที่ประสบความสำเร็จหลายแห่งมักรู้ว่าจะต้องพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างไร ขณะเดียวกัน พนักงานระดับบริหารที่สามารถกำหนดเป้าหมายผลงานคุณภาพและสามารถที่จะพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้เติบโตในสายอาชีพได้ก็เป็นที่ต้องการอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้พนักงานระดับ “บริหาร” หรือ “ผู้นำ” จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะริเริ่มและช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรและมีส่วนในการขับเคลื่อนผลประกอบการสู่เป้าหมาย