“บ๊อช” หนุน “มูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต (Skills for Life Foundation)” จังหวัดเชียงใหม่ ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กชาวเขา ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสในการเล่าเรียน ด้วยเชื่อว่า หนึ่งในการให้ที่ดีที่สุด คือการให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต และทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
“บ๊อชแสดงเจตจำนงอย่างต่อเนื่อง ในการสนับสนุนการศึกษาและวิชาการแก่เยาวชนทั่วโลก ผ่านการสนับสนุนโครงการเพื่อเยาวชนต่างๆ ทั่วโลก อาทิ โครงการพรีมาเวร่า (Primavera) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยกลุ่มพนักงานและผู้ที่เกษียณอายุจากบ๊อช เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย เราได้สนับสนุนมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมอบเงินสนับสนุนและอุปกรณ์เครื่องครัวทันสมัยเพื่อสนับสนุนการศึกษาและ ส่งเสริมทักษะอาชีพแก่เยาวชนชาวเขาที่ขาดแคลนโอกาสให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต” โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของบ๊อชระหว่างการเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต
“เรามุ่งมั่นที่จะลดอุปสรรค ที่กั้นขวางเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ การสนับสนุนด้านการสร้างอาชีพจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความมั่นใจในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการตัวจริง รวมถึงการริเริ่มกิจการของตนเองในอนาคต”
ด้าน โดมินิค ลอยต์วีเลอร์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต กล่าวว่า “มูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยาวชนชาวเขาที่ยากจนและอยู่ห่างไกลความเจริญ โดยให้การสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและทุนการศึกษา เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เยาวชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต โดยมอบโอกาสการทำงาน การฝึกทักษะอาชีพที่เน้นให้เยาวชนยึดแนวทางอาชีพที่ตนถนัดและฝึกฝนวิชาชีพนั้นๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลายจนเกิดความชำนาญ มูลนิธิจะจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อให้เยาวชนได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำและเกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น อาทิ เล่นมินิกอล์ฟ เพนท์สีรูปปั้นช้างที่ร้านคัลเลอร์ แฟคทอรี่ และเยี่ยมชมสวนสัตว์เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี
สำหรับการฝึกทักษะอาชีพ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบ๊อช มอบเครื่องครัวครบชุดให้กับมูลนิธิ น้องๆ จึงได้ฝึกทำคุกกี้และยังได้ช่วยกันออกแบบบรรจุภัณฑ์อีกด้วย
ที่สำคัญ พวกเขาได้นำคุกกี้ไปจำหน่ายในงานการกุศลเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อรวมกับการประมูลเพื่อการกุศลด้วยแล้ว สามารถสร้างรายได้ถึง 150,000 บาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ทำให้น้องๆ ทุกคนมีกำลังใจ รายได้ทั้งหมดทางมูลนิธิจะจัดสรรเป็นทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน รวมทั้งนำไปจัดกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพด้านอื่นๆ และเป็นทุนหมุนเวียนในการทำขนมครั้งต่อไป”
พิมรดา วงค์ตระกูลเมือง หรือน้องเอมี่ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการโรงแรม (ต่อเนื่อง) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ได้รับการดูแลจากมูลนิธิ พูดถึงความประทับใจต่อกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพที่มูลนิธิจัดขึ้นว่า “สิ่งแรกที่หนูได้รับจากมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตคือ โอกาสทางการศึกษาและการทำงาน ที่ผ่านมาหนูได้มีโอกาสไปฝึกงานในธุรกิจโรงแรม ทำให้หนูได้ประสบการณ์มากมาย บ้านของมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตไม่ได้เป็นแค่ที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น แม้ว่าเราต่างคนจะต่างที่มาและบางครั้งเราก็คิดเห็นต่างกัน นอกจากนี้ หนูและเพื่อนๆ ยังได้ฝึกทักษะอาชีพต่างๆ เช่น การทำขนมคุกกี้ ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ การทำขนม การตลาด และการขาย ทำให้เราสามารถสร้างรายได้ได้ด้วยตนเอง และเป็นทักษะไว้ใช้ในอนาคตได้ด้วยค่ะ”
ด้าน ณัฐชัย ไทยสมุทร หรือน้องบอย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เล่าว่า “ผมเป็นเด็กกำพร้าที่ได้รับโอกาสและการช่วยเหลือจากมูลนิธิ สำหรับการฝึกทักษะอาชีพนั้น ผมได้ทดลองเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเบเกอรี่ เริ่มแรกผมไม่รู้วิธีทำขนมคุกกี้เลย แต่เพื่อนของผมสอนวิธีทำให้ พวกเราเตรียมวัตถุดิบเอง ทำเอง ออกแบบบรรจุภัณฑ์เอง แล้วก็นำไปขายเองด้วย ผมรู้สึกสนุกมากที่ได้ทำงานกับเพื่อนๆ และคิดแก้ปัญหาร่วมกัน ผมคิดว่าประสบการณ์ที่ได้รับสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้ รวมถึงการสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาด้วยครับ”
ปัจจุบันมูลนิธิได้อุปการะเยาวชนชาวเขาชนเผ่าต่างๆ จำนวน 19 คน ประกอบด้วย ชาย 7 คน และหญิง 12 คน โดยคัดเลือกจากเด็กในพื้นที่ภาคเหนือที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมถึงเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์