กลุ่มมิตรผลร่วมผลักดันเศรษฐกิจฐานราก วางรากฐานยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาชาวไร่อ้อยจากหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตสู่ชุมชนยั่งยืน แปลงแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดขั้นตอนดำเนินการ 4 ระยะ บูรณาการครอบคลุม 5 เป้าหมายสำคัญ ประเมินความสำเร็จล่าสุด ในงาน “ฮักแพง โฮมคนฯ” โชว์บทเรียนสู่ความเข้มแข็งของชุมชนชาวไร่อ้อย
การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากคือสิ่งที่รัฐบาลกำลังให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง ด้วยแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเฉพาะภาคการเกษตร การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การสร้างวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจฐานรากให้เกื้อกูลกัน แต่ทั้งนี้ กำลังจากภาครัฐเพียงลำพังในการมุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของไทยคงไม่อาจประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย การยื่นมือมาช่วยเหลือจากภาคเอกชนย่อมเป็นแรงส่งที่ผลักดันให้การพัฒนาในภาคการเกษตรและชุมชนเดินหน้าสู่ความมั่นคงแข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น
จึงก่อเกิด “โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กลุ่มมิตรผล” บนแนวความคิดของการ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่ถูกนำไปถ่ายทอดสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่มมิตรผล ซึ่งมีจำนวนกว่า 100,000 รายในปัจจุบัน ด้วยปณิธานในการช่วยให้ชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุดิบ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพัฒนาอาชีพการปลูกอ้อยให้เป็นสัมมาอาชีพที่ยั่งยืนในท้องถิ่น
การเริ่มต้นพัฒนาจากโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานในโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ซึ่งประกอบด้วย 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 “การส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตอ้อย” เพื่อลดปัญหาการผลิตแก่เกษตรกรที่ขาดความรู้ การบริหารจัดการ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตอ้อยเฉพาะด้าน ระยะที่ 2 “การบริหารจัดการระบบชลประทานและการใช้น้ำในไร่อ้อย” เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และขาดประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ด้วยการสร้างการบริหารจัดการระบบชลประทานและการใช้น้ำในไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ
ระยะที่ 3 “การบริหารจัดการในไร่อ้อย” เพื่อสร้างประสิทธิภาพ และผลผลิตสูงสุดของไร่อ้อย ด้วยการบริการจัดการแบบองค์รวม ด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูกอ้อย การให้น้ำ การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว และ ระยะที่ 4 “การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาด้านสังคม ด้วยการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนเกษตรกรชาวไร่อ้อย
การประเมินความสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลในงาน “ฮักแพง โฮมคน ตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่บ้านนาหว้านาคำ ตำบลบ้านเม็ง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ คืออีกหนึ่งพลังจากภาคเอกชนในการส่งเสริมให้ชุมชนชาวไร่อ้อยได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้สามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเอง เชื่อมประสานเครือข่ายผู้นำชุมชนและภาคีความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการอยู่ใน 9 ตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และกาฬสินธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงโรงงานของมิตรผลทั้ง 6 แห่ง
กำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานในงาน กล่าวว่า “การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรคือการสร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล”
วรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “เราริเริ่มโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตในปี 2545 และได้ยกระดับสู่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในปี 2555 เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ เพื่อให้ชุมชนมีความสุข และยังเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน การดำเนินโครงการมีความคืบหน้ามาตามลำดับ ตั้งแต่การช่วยให้ชุมชนได้รู้จักตัวเอง การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จนถึงระดับที่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ในที่สุด”
โครงการของมิตรผลใช้แนวทางการพัฒนาแบบบูรณาการครอบคลุม 5 ด้านสำคัญ คือ
หนึ่ง “ด้านเศรษฐกิจ” ให้คนในชุมชนมีความพอประมาณ รู้จักเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ละเลิกอบายมุข และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการออม พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อเศรษฐกิจชุมชน เช่น การเลี้ยงสุกร ไก่ เพาะเห็ด ผลิตสบู่ฟักข้าว น้ำยาอเนกประสงค์ กล้วยฉาบ เกษตรปลอดสารและตลาดผักสีเขียว
สอง “ด้านสังคม” พัฒนาผู้นำครัวเรือนต้นแบบและบุคคลตัวอย่าง สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมกลุ่ม สร้างศูนย์การเรียนรู้ อาทิ โครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ สาม “ด้านสุขภาวะ” ให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาล มีสวัสดิการเสริมสร้างสุขภาพของชุมชน อาทิ โครงการตรวจสุขภาพ สี่ “ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” คงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารพิษและลดการใช้สารเคมี เกิดการจัดการทรัพยากรชุมชน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการธนาคารขยะ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไร่ และห้า “ด้านจิตใจ” ครอบครัวอบอุ่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง มีการวางแผนชีวิต มีจิตสาธารณะ สำนึกรักท้องถิ่น และมีจริยธรรม อาทิ โครงการค่ายคุณธรรม
หนึ่งในชาวไร่อ้อยแกนนำครัวเรือนต้นแบบ จิรศักดิ์ คำสีทา กล่าวว่า “เมื่อก่อนด้วยความอยากมีเงินมาก เคยดิ้นรนไปทำงานที่มาเลเซียถึง 10 ปี จนวันหนึ่งรู้สึกอยากกลับบ้านมาก อยากกลับมาอยู่กับครอบครัว น่าจะมีความสุขกว่า ก็ตัดสินใจกลับมาทำไร่อ้อย ทำนา แรกๆ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ พอปี 2555 ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของมิตรผล ผ่านการเรียนรู้ อบรม ก็ได้เข้าใจและเปลี่ยนความคิดว่าการที่เราจะอยู่รอดปลอดภัยอย่างมีความสุข ไม่ใช่แค่การมีเงินมากมาย แต่เราต้องมีภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง กินอยู่อย่างพอเพียง ทำเกษตรผสมผสาน เช่น การปลูกผักหลายๆ ชนิด การทำหลุมพอเพียง ซึ่งก็คือการปลูกพืชหลายชนิดในหลุมเดียวกันโดยใช้พื้นที่แค่ 2 เมตร x 2 เมตร นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาในการดูแลแล้ว ยังช่วยประหยัดน้ำ และรักษาดินอีกด้วย หรือการทำหมูหลุม เพื่อให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์แบบพอเพียงที่ช่วยลดต้นทุน และหาทางสร้างรายได้เพิ่ม รู้จักทำเองใช้เอง ประหยัดและเก็บออม”
ไม่ใช่เพียงมุ่งพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพมากขึ้นเท่านั้น มิตรผลยังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการในชุมชนด้วยการจ้างงานผู้พิการให้ทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน นางบังอร เนาว์โนนทอง พนักงานตัวอย่างจากโครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ ซึ่งมีปัญหาในการได้ยิน กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำงานในโครงการ ทำให้เรามีอาชีพ มีรายได้ส่งลูกเรียนหนังสือ รู้สึกตัวเองมีคุณค่า ก่อนหน้านี้เคยรับจ้างเย็บผ้าโหล รายได้ไม่แน่นอน ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว พอมาทำงานในโครงการก็ได้ตำแหน่งแม่บ้านที่โรงพยาบาลในชุมชน มีเงินเดือนประจำ สามารถส่งลูกเรียนจนตอนนี้ลูกสาวสอบเข้าคณะพยาบาลศาสตร์ได้”
การพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้คือการช่วยเหลือเพื่อความยั่งยืน ชุมชนในภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพของตน รู้จักแก้ไขปัญหา มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ในที่สุดรากฐานที่แข็งแกร่งนี้จะนำพาเศรษฐกิจมหภาคของชาติให้เดินหน้าพัฒนาอย่างมั่นคงต่อไป