อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการประกอบการเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด และบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งจังหวัดสระบุรีถือเป็นแหล่งประกอบการเหมืองแร่หินปูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมกำหนดแนวทางการจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากขุมเหมือง เพื่อใช้ประโยชน์ในการอุปโภคให้กับประชาชนและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ ภัยแล้งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้จะมาถึงเร็วและรุนแรงกว่าทุกปี
“การตรวจเยี่ยมสถานประกอบการทั้ง 2 บริษัทในครั้งนี้ ก็เพราะว่าทั้งสองเป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นระบบและทันสมัย เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าสูงสุด ควบคู่กับการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตั้งแต่การสำรวจ การทำเหมือง และการฟื้นฟูพื้นที่หลังจากหมดโครงการซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ยังได้พูดคุยกับผู้ประกอบการถึงแนวทางในการร่วมกันดูแลทุกข์สุขและพัฒนาชุมชนรอบเหมือง รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากขุมเหมือง เพื่อใช้ประโยชน์ในการอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชน เพื่อรับมือกับภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น"
ทั้งนี้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด และบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด มีการประกอบการเป็นไปตามหลักการเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม การกำจัด ลด-ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของบุคลากรและชุมชนใกล้เคียงมีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า จนได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) และรางวัลมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นอกจากนี้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) ของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย สำหรับบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด อยู่ระหว่างยื่นใบสมัครขอรับการรับรองอุตสาหกรรม สีเขียว ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) ซึ่งตามหลักเกณฑ์ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว และรางวัลมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ ก็เทียบเท่ากับได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3 ด้วยแล้ว
"ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ กพร. ตรวจสอบพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาพื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศเพื่อการใช้ประโยชน์ โดยเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ ทั้งสิ้น 238 แปลง มีปริมาตรน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 166,019,100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง กพร. จะสำรวจและเก็บรวบรวมรายละเอียดพื้นที่ขุมเหมืองที่คาดว่ามีศักยภาพทั้งในด้านคุณภาพน้ำและปริมาณ และความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลและจะประสานกับส่วนราชการท้องถิ่นนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำสำรองให้ประชาชนได้ใช้โดยเฉพาะการช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปีนี้และปีต่อไปหากเกิดขึ้นอีก” นางอรรชกา กล่าว
ด้าน ชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. กล่าวด้วยว่า บ่อน้ำจากขุมเหมืองของบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกับชุมชนและท้องถิ่นของกิจการเหมืองแร่ และการดำเนินงานตามกรอบ CSR- DPIM ที่เปิดให้ชุมชนโดยรอบสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่
มีความลึกบ่อเหมือง ประมาณ 50 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 666,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วงนี้ระดับน้ำในบ่อลึกประมาณ 26 เมตร คาดว่ามีปริมาตรน้ำประมาณ 346,000 ลูกบาศก์เมตร ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2537 ปัจจุบันมีการนำน้ำจากขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์ในการราดน้ำบริเวณถนนในพื้นที่โครงการ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง ฉีดพรมน้ำในบริเวณโรงโม่ ทั้งในพื้นที่โครงการและสนับสนุนน้ำให้แก่โรงโม่อื่น ๆ บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งในช่วงภัยแล้งที่ผ่านมาได้สนับสนุนน้ำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระลาน และเทศบาลตำบลหน้าพระลาน โดยการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคให้แก่ชุมชน ประมาณ 200 ครัวเรือน
อนึ่ง ขุมเหมืองที่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์แล้วทั้งการอุปโภค แหล่งประมง และการทำเกษตรกรรม จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1. ขุมเหมืองของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา 2. ขุมเหมืองของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 3. ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี 4. ขุมเหมืองของบริษัท ส.อมรพรรณ (1993) จำกัด ที่อำเภอสีชมภู จังหวัดขอนแก่น 5. ขุมเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง ที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น 6. ขุมเหมืองของบริษัท เทพอุทิศธุรกิจ จำกัด ที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก 7. ขุมเหมืองของบริษัท สินธนันต์ จำกัด ที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก 8. ขุมเหมืองของบริษัท พิพัฒน์กร จำกัด ที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก