xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเตรียมรับรอง “องค์กรปลอดสินบน” ตามมาตรฐาน ISO 37001

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ  ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์  ในฐานะองค์กรผู้ริเริ่มเครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือ PACT และประวาลทอง  ทองใหญ่ ณ อยุธยา  ผู้จัดการฝ่ายรับรองมาตรฐาน บริษัท บูโร เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BVC ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติและการตรวจสอบการต่อต้านการติดสินบน เพื่อเตรียมรับรอง “องค์กรปลอดสินบน”
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือ PACT และบริษัท บูโร เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BVC ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติและการตรวจสอบการต่อต้านการติดสินบน เพื่อเตรียมรับรอง “องค์กรปลอดสินบน” ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO 37001 ระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ที่จะประกาศใช้ในปี 2559
ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาแนวปฏิบัติและการตรวจสอบการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 - Anti-bribery management systems นั้นเป็นผลจากความริเริ่มร่วมกันระหว่างเครือข่าย PACT (Partnership Against Corruption for Thailand) ที่ริเริ่มขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีแพลตฟอร์มดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) และ BVC (Bureau Veritas Certification) ผู้นำการตรวจประเมินและออกใบรับรองด้านมาตรฐานระบบการจัดการในระดับสากล โดยขอบเขตความร่วมมือจะเป็นการนำข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 37001 มาจัดทำเป็นแนวปฏิบัติเพื่อการต่อต้านการติดสินบน และพัฒนาเกณฑ์ในการตรวจสอบเพื่อให้ใบรับรองสำหรับองค์กรที่ปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดในมาตรฐานฉบับดังกล่าว และจะมีการเชิญชวนองค์กรที่สนใจเข้าร่วมในโครงการนำร่อง 5-10 บริษัท เพื่อนำไปสู่กระบวนการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรผู้ริเริ่มเครือข่าย PACT ได้กล่าวถึงประเด็นการรับสินบนและคอร์รัปชันในองค์กรว่า ยังคงเป็นปัญหาหลักในการประกอบธุรกิจของบริษัทไทย จากการสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ Thailand Economic Crime Survey ประจำปี 2557 โดยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) ต่อประเภทของการทุจริต พบว่า ร้อยละ 39 เป็นการรับสินบนและคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตัวเลขในระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 30 และระดับโลกที่ร้อยละ 27
เมื่อถามถึงวิธีการจัดการที่เลือกใช้เมื่อตรวจพบการทุจริต ผลสำรวจฉบับเดียวกัน ระบุว่า คนไทยมีวิธีการจัดการกับทุจริตที่เกิดขึ้นคล้ายกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คือ จัดการกันเองภายใน คิดเป็นร้อยละ 80 ของทั้งหมด แต่ก็มิได้หมายความว่า วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ดีที่สุด แม้ว่าการตรวจสอบโดยคนในองค์กรเป็นทางเลือกที่ใช้กันมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายน้อย แต่ลำพังการใช้บุคลากรภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในรายงานฉบับดังกล่าว ได้แนะนำให้องค์กรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบการทุจริตจากภายนอก เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะในการตรวจสอบแบบมืออาชีพ
“เครือข่าย PACT มีความยินดีอย่างยิ่งที่ BVC ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย และได้นำประสบการณ์ในการตรวจประเมินและให้ใบรับรองด้านมาตรฐานระบบการจัดการให้แก่กลุ่มลูกค้ามากกว่า 400,000 รายทั่วโลก มาใช้เตรียมความพร้อมทางด้านการวางระบบจัดการการต่อต้านการติดสินบนตามมาตรฐาน ISO 37001 ให้กับองค์กรในประเทศไทย”
ด้าน ประวาลทอง ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้จัดการฝ่ายรับรองมาตรฐาน บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงประเด็นเรื่องการต่อต้านการติดสินบน เพิ่มเติมว่า เป็นประเด็นที่กล่าวถึงในเวทีการประชุมและข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น OECD Anti-Bribery Convention และในส่วนของประเทศไทย ก็มีกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อย่างไรก็ตาม การพึ่งกฏหมายและมาตรการลงโทษเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยการป้องกันที่เหมาะสมด้วย องค์กรควรดำเนินการป้องกันการติดสินบนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการธุรกิจ เช่นเดียวกับระบบการจัดการคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม
ISO 37001 - Anti-bribery management systems เป็นระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน ที่ช่วยให้ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรมีความมั่นใจว่าองค์กรมีการดำเนินงานที่ดี และเหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตติดสินบน องค์กรสามารถนำมาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ หรือทำธุรกิจกับคู่ค้าทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“การนำมาตรฐาน ISO 37001 มิได้เป็นการเพิ่มภาระให้องค์กร แต่เป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่องค์กรพึงกระทำในเชิงจริยธรรม ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 37001 ยังมีความยืดหยุ่นในการปรับใช้ได้กับองค์กรในทุกขนาด และทุกประเภท บริษัทบูโร เวอริทัส มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับ PACT เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมขององค์กรในประเทศไทยในการนำมาตรฐาน ISO 37001 ไปดำเนินการ ก่อนที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) จะมีประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในปี 2559 นี้”
สำหรับ ISO 37001 - Anti -bribery management systems เป็นข้อกำหนดที่ให้แนวทางในการจัดทำ ดำเนินการ การรักษาไว้ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน เป็นมาตรฐานที่สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรอง (Certification Body) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยความเสี่ยงนั้นอาจเกิดขึ้นจากการกระทำขององค์กรเอง หรือบุคลากรในองค์กรไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น