- กรอ.ดันอุตสาหกรรมไทยสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเทียบชั้นญี่ปุ่น
- ชู “Reduce Reuse Recycle”
- ครอบคลุม 5 มิติ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ
- ตั้งเป้าโรงงานอันตรายเข้าระบบกำจัดขยะอันตรายกว่า 90% ในปี 2562
ปัญหามลภาวะเป็นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่เกิดจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการจัดการขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะมีพิษหรือกากอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยมีเป้าหมายผลักดันเมืองอุตสาหกรรมไทยเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไทยเทียบชั้นญี่ปุ่น
อาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กล่าวว่า กระทรวงฯวางเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมอยู่ในสภาพที่ดี เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำสังคมที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานใหม่ๆ มาทดแทนคาร์บอน แต่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนา Eco town ขณะที่เดนมาร์กก็มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้าของโลกในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Industrial Symbiosis)
“มาบตาพุด” บทเรียนราคาแพง
สำหรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในไทยที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมีบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กระทรวงฯจึงเร่งผลักดันและให้ความสำคัญกับสถานประกอบการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุดหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งกุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กำหนดไว้ 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
ระดับที่ 2การรักษาระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการประกอบการอุตสาหกรรม
ระดับที่ 3 การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ระดับที่ 4 การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชน
ระดับที่ 5 การก้าวเข้าสู่เมืองสังคมคาร์บอนต่ำ
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์และสามารถยกระดับให้ทัดเทียมระดับสากลได้ คือ ความร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เนื่องจากเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นการพัฒนาและบริหารโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมทั้งประสาน สนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ
กรอ.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่องการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2555 โดยโครงการในปี 2558 คือโครงการ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco Town Center) ได้พัฒนาพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง ใน4 จังหวัด ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี
โดยเน้นให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรม และมีเป้าหมายว่าด้วยการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ ปรับพฤติกรรมการบริโภคผ่านกิจกรรม อาทิ ฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network) ศึกษาดูงานโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4และระดับที่ 5 การฝึกอบรมเตรียมความพร้อมสู่ CSR-DIW (Corporate Social Responsibility)
พร้อมทั้งเลือกโรงงานอุตสาหกรรม 3 โรงงาน ให้เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ของกากอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมในระดับต่างๆ รวม 155 โรงงาน คิดเป็น 52.7% จากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 4จังหวัด ทั้งหมด 294 โรง
วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง
นอกจากนี้ กรอ. ได้เตรียมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประจำเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม เพื่อให้ความรู้ สำรวจข้อมูลการจัดการกากอุตสาหกรรมคัดเลือกโรงงานเป้าหมายที่สามารถแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมกัน รวมถึงการวิเคราะห์การไหลของสารโดยใช้ Material Flow Analysis (MFA) ซึ่งผลการดำเนินการจะนำไปวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคาม เพื่อนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์สำหรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ
ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับประโยชน์จากโครงการฯโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม มีการดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือไม่มีการปล่อยมลพิษ (Zero Emission) มีการลดการใช้พลังงานในการผลิต มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีการแลกเปลี่ยนของเสีย ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหลักการ 3R ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ช่วยให้เกิดการใช้วัสดุหมุนเวียน (Material-cycle Society) สังคมคาร์บอนต่ำ มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Low Carbon Society) และการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption) ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
เล็งตั้งนิคมฯกำจัดขยะ
ก่อนหน้านี้ อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาความเป็นไปได้การใช้พื้นที่ในภาคกลางตะวันออก และตะวันตกที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาและขอใช้พื้นที่ของทหารแล้วไม่สำเร็จ โดยเล็งพื้นที่ในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก อย่างละ 1 แห่ง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตฯ จะมีประมาณ 10,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่กำจัดกาก 5,000 ไร่ และอีก 5,000 ไร่ เป็นการทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อม
โดยภายในปี 2558 จะบังคับใช้กฎหมายให้รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกคันติดระบบติดตามใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) สำหรับติดตามเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง เพื่อป้องกันการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งนอกระบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันไทยมีขยะอันตราย 2.4 ล้านตัน จากขยะทั้งหมด 30 ล้านตัน มีเป้าหมายจะนำขยะเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องได้ 1.2 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันดำเนินการได้เพียง 1 ล้านตัน คาดว่าภายใน 2 ปีจะมีความชัดเจนทั้งด้านแผนการดำเนินงานและพื้นที่จัดตั้งนิคมฯ ซึ่งไม่ควรห่างจากแหล่งรับซื้อกากขยะฯเกินกว่า 100 กิโลเมตร"
อย่างไรก็ดี กระทรวงฯได้ไปดูการบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมของบริษัท เคมิคอล เวส ทรีทเมนท์ เซ็นเตอร์ (CWTC) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เข้ากับไทย ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานแห่งเดียวที่จัดการกากแบบครบวงจรที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ รองรับขยะเคมีได้ปีละ 1 แสนตัน ด้วยวิธีเก็บรวบรวม วิเคราะห์ลักษณะคุณสมบัติ พร้อมใช้วิธีบำบัดด้วยการแยกน้ำออกจากน้ำมัน การบำบัดองค์ประกอบของเคมีและกายภาพของขยะด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีการบันทึกข้อมูลไว้ รวมถึงตัวเลขคุณภาพอากาศและมลภาวะ ซึ่งช่วยตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานประสิทธิภาพทางด้านสิ่งแวดล้อมของ CWTC ประกอบด้วย การรายงานสภาวะน้ำทิ้ง การรายงานการจัดเก็บของเสียตกค้าง รวมทั้งการดูแลการควบคุมการปล่อยก๊าซเสีย โดยระดับของไดออกซิน ซึ่งวัดจากสภาวะอากาศปกติ และที่ปล่องควันของเตาเผาขยะ โดยจะรายงานและติดตามผลให้กับรัฐบาลฮ่องกง รวมถึงวางแผนซ่อมบำรุงเชิงป้องกันและแก้ไขในสภาวะฉุกเฉินได้ถูกนำมาใช้ในงานด้วย
อย่างไรก็ดี ตามแผนจัดการกากอุตสาหกรรมใน 5 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ปี 2558-2562 จะนำโรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบให้ได้กว่า 90% ภายในปี 2562 ซึ่งขณะนี้มีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมและส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปบำบัดกำจัด รีไซเคิลแล้วประมาณ 5,300 โรงงาน จากทั้งหมด 68,000 โรงงาน และจะให้โรงงานเข้าระบบให้ได้ 10,000 โรงงาน ภายในปี 2558