“ปูนอินทรี” เปิดแผนธุรกิจสีเขียว หวังลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานหลัก พร้อมลุยคิดค้นนวัตกรรมใช้กากอุตสาหกรรมกึ่งแข็งกึ่งเหลว ผนวกการใช้กระบวนการเผาร่วมการแปรรูปกากอุตสาหกรรมที่คัดแยกแล้วผลิตเชื้อเพลิงทดแทน ลดของเสียจากการผลิต สู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 25% ภายใน 5 ปี
นายอมรศักดิ์ โตรส รองประธานกิจการสระบุรี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจสีเขียวกำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากภาวะวิกฤติภูมิอากาศของโลกที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อภาวะความเป็นอยู่ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงมีแผนงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2553 โดยให้ความสำคัญ 6 ด้าน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะเน้นด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดของเสียจากการผลิตสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill)
ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งงบกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการพลังงานทดแทน สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งได้ลงทุนก่อสร้างโรงเตรียมเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน (AFR Platform) ขนาดใหญ่ด้วยเงินลงทุน 733 ล้านบาท ในสระบุรี ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2557 มีการใช้เชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ 137,312 ตัน เทียบเท่าการใช้ถ่านหินลิกไนต์ 151,930 ตัน ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 220,678 ตัน และลดพื้นที่ฝังกลบอีกด้วย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้เพิ่มโรงเตรียมเชื้อเพลิงทดแทนแห่งใหม่ในจังหวัดชลบุรี ใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเปลี่ยนของเสียให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน
ชี้กำจัดกากเป็นปัญหาระดับประเทศ
ปัจจุบันการจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาระดับประเทศ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบกว่า 10 ปี โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ได้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก กากอุตสาหกรรมประเภทกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Sludge) ที่มีต้นทางจากอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ปิโตรเคมี สี อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โคลนจากการขุดเจาะน้ำมัน กากตะกอนน้ำมัน กากสี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบที่เป็นสารอันตรายจากพวกสารอินทรีย์ ระเหยง่าย และโลหะหนัก
“การนำ Sludge มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ (Co-processing) เป็นวิธีที่ยอมรับในสากลว่าเป็นวิธีการจัดการของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีความปลอดภัยในการกำจัดกากของเสียทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้ ใช้ Sludge เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ปริมาณสูงถึง 15,897 ตัน เทียบเท่าการใช้ถ่านหินลิกไนต์ 9,885 ตัน นับเป็นความสำเร็จของโครงการสร้างสรรค์ด้านการประหยัดพลังงาน และยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 13,839 ตัน
กระบวนการเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน จะต้องนำกากอุตสาหกรรมมาผ่าน กระบวนการคัดแยก โดยจะจัดการตามลักษณะทางกายภาพของกากของเสีย เช่น ของแข็งจะนำไปตัด บด ย่อยและควบคุมคุณภาพก่อนที่จะนำส่งไปยังเตาเผาปูนซีเมนต์ ของเหลวจะนำไปผสมและลำเลียงตรงไปยังเตาเผาปูนซีเมนต์ และสำหรับกากกึ่งแข็งกึ่งเหลว จะนำไปผสมและลำเลียงผ่านเครื่องอัดแรงดันสูงไปยังเตาเผาปูนซีเมนต์ โดยกากอุตสาหกรรมดังกล่าวจะถูกเผาด้วยอุณภูมิสูงกว่า 1,800 องศาเซลเซียสในระบบปิด จึงไม่มีการปล่อยสารก่อมะเร็ง เช่น ไดอ็อกซิน ฟิวแรน และเถ้าลอยออกสู่อากาศ
ชูการจัดการกากอุตฯเป็นมิตรต่อสวล.
ขณะเดียวกัน สารอนินทรีย์ที่ไม่ย่อยสลายก็จะถูกหลอมรวมเป็นผลึกในสภาพที่เสถียรอยู่ในปูนเม็ด และไม่เหลือเถ้าหนักจากการเผาที่ต้องนำไปฝังกลบ จึงเป็นกระบวนการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้ในเวลาเดียวกัน โดยกากอุตสาหกรรม 1 ตัน สามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ 5,250 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หรือเทียบเท่ากระแสไฟฟ้าครัวเรือนถึง 35 ครัวเรือน
“ขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ต้องกำจัดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้เองภายใน เช่น น้ำมันเครื่องใช้แล้ว เศษผ้าปนเปื้อนน้ำมัน ซึ่งสามารถนำมาผ่านกระบวนการและแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อใช้ในกระบวนการเผาปูนซีเมนต์ ส่วนขยะที่รับมากำจัด ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในหลักการการลดปริมาณกากของเสียจากการผลิตที่ใช้ฝังกลบให้เป็นศูนย์ ในปีที่ผ่านมา บริษัทจัดการกับกากของเสีย 640,000 ตัน ราวครึ่งหนึ่งของกากของเสียนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ และอีกครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเตาเผาปูนของปูนซีเมนต์นครหลวง” นายอมรศักดิ์กล่าว
ส่วนด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน บริษัทนำลมร้อนจากเตาเผาซีเมนต์ ที่แปรสภาพลมร้อนทิ้งเหลือใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงและพลังงานในกระบวนการผลิต สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจาก 540 ล้านบาท ในปี 2557เป็น 590 ล้านบาทในปี 2558 และไม่ปล่อยลมร้อนสู่อากาศที่จะส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังได้สร้างสวนสาธารณะชุมชนต้นแบบสวนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกด้านพลังงานสะอาด ให้กับประชาชนทั่วไป โดยใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ กังหันลม และพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในโครงการ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าหลัก รวมทั้งมีการออกแบบอาคารต่าง ๆ ให้มีช่องแสง โปร่ง โล่ง รับกับทิศทางลม เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าทั้งจากไฟส่องสว่าง และเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบัน 25% ของการใช้พลังงานไฟฟ้า ในสวนมิ่ง มงคลมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ และ 30% มาจากพลังงานลม
จากการดำเนินนโยบายด้านการกำจัดของเสียและการอนุรักษ์พลังงาน ทำให้มีอัตราการใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงทดแทนในปี 2557 จำนวน 11.3% ช่วยลดสัดส่วนการใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงหลัก (เทียบเท่าการใช้พลังงานทดแทน 1 เดือน ต่อระยะเวลา 12 เดือน) และลดการซื้อไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีอยู่ 70% ลงไปได้ถึง 25% ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ สามารถลดของเสียจากการผลิตสู่หลุมฝังกลบได้จนเป็นศูนย์ (จากตัวเลข 56.4 % หรือลดจาก 2.8% ของการผลิตเหลือเพียง 1.2 % ในปี 2557)
“เรามีเป้าหมาย คือเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เป็น 25% ภายในปี 2563 และมีแผนสร้างโรงเตรียมเชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มในพื้นที่อื่น 3 แห่ง เช่น นิคมในภาคตะวันออก โดยจะขยายงานด้านการจัดการของเสียให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสุขชีวอนามัย ต่อชุมชน ลดการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ”