xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ผนึก BWG จ่อผุดนิคมฯ พลังงานทดแทนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.จับมือ BWG ศึกษาและพัฒนานิคมฯ พลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว วางพื้นที่เป้าหมาย 3 ภาค โดยจะเริ่มที่ภาคกลาง/ปริมณฑลนำร่องก่อน คาดภายใน 2 ปีนี้จะมีความชัดเจน ด้าน BWG เผยนิคมฯ ดังกล่าวจะมีพื้นที่ 1 พันไร่/แห่ง ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท เล็งกลุ่มลูกค้าเป็นโรงงานรีไซเคิลต่างๆ และเปิดช่องให้พันธมิตรใหม่ที่สนใจเข้าร่วมทุนได้ ตั้งเป้ารายได้ปี 59 โต 20% จากปีนี้

วันนี้ (26 ต.ค.) ได้ลงนามบันทึกการร่วมดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)(BWG) ซึ่งดำเนินธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจร ทั้งฝังกลบ เผาทำลาย นำกลับมาใช้ใหม่ โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า โครงการศึกษาและพัฒนานิคมฯ พลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วถือเป็นนิคมฯ เฉพาะทาง เพื่อต้องการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมบริการกำจัดวัสดุเหลือใช้มาอยู่ร่วมกันเป็นนิคมฯ ทาง กนอ.จึงได้ร่วมมือกับเบตเตอร์ฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมฯ บริการดังกล่าว

โดย กนอ.ได้มอบหมายให้เบตเตอร์ฯ เป็นผู้รวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นนิคมฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง/ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกที่เชื่อมโซนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียนรองรับเออีซี คาดว่าผลการศึกษาจะมีความชัดเจนภายใน 2ปีนี้

สำหรับกลุ่มโรงงานเป้าหมายที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าในนิคมฯ นี้ คือ โรงงานที่ดำเนินธุรกิจกำจัดวัสดุเหลือใช้ หรือรีไซเคิล รวมทั้งการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ RDF ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจมากพอสมควร เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจรีไซเคิลนั้นมีปัญหาการหาพื้นที่ตั้งโรงงาน การทำความเข้าใจต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันแต่ละปีไทยมีขยะอุตสาหกรรมทั่วไป 30 ล้านตัน และขยะอุตสาหกรรมที่อันตราย 2.4 ล้านตัน โดยมีนโยบายที่จะกำจัดขยะอุตสาหกรรมอันตรายอย่างเป็นระบบ 1.2 ล้านตัน/ปี โดยปีนี้มีขยะอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบแล้ว 1 ล้านตัน คาดว่าถึงสิ้นปี 2558 จะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านตันนั้น คงต้องตรวจสอบตัวเลขอีกครั้งหนึ่งว่ามีปริมาณมากหรือน้อยกว่านี้ก่อนที่จะนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีพื้นที่ในใจที่จะศึกษา และพัฒนาเป็นนิคมฯ นำร่องในโซนภาคกลาง/ปริมณฑล โดยพื้นที่นิคมฯ ควรมีขนาด 1 พันไร่ขึ้นไป ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท โดยบริษัทฯ จะมีรายได้จากการขายที่ในนิคมฯ รวมทั้งบริษัทมีจุดแข็งในฐานะเป็นบริษัทที่ให้บริการรับกำจัดขยะอุตสาหกรรมอยู่แล้ว โดยบริษัทจะนำมาคัดแยกแล้วจำหน่ายให้แก่บางโรงงานเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบได้อีกทางหนึ่งแทนที่จะนำมาฝังกลบ หรือทำลาย

สำหรับแหล่งเงินทุนในการพัฒนานิคมฯ นั้นจะมาจากกระแสเงินสด และการแปลงสภาพวอร์แรนต์ จำนวน 1,200 ล้านบาท ประกอบกับจะมีขายหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งขณะนี้มีกองทุนต่างชาติสนใจจะเข้ามาซื้อหุ้น PP ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้พันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมทุนในนิคมฯ ดังกล่าวด้วย สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ในนิคมฯ จะมากน้อยขึ้นอยู่กับผลการศึกษาโครงการ  
  
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีลูกค้ารับกำจัดขยะอุตสาหกรรมอยู่แล้ว 5 พันราย คิดเป็นปริมาณขยะอุตสาหกรรมปีละ 3.5 แสนตัน

นายสุวัฒน์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานปี 2559 ว่า บริษัทฯตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้น 20% จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้โตในอัตรา 20% จากปี 2557 ที่มีรายได้รวม1.58 พันล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ทั้งหมดมาจากธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย (RDF) จะรับรู้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 50% หลังจากโรงไฟฟ้าที่สระบุรีเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบในกลางปี 2559

ทั้งนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF กำลังการผลิต 9.4 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,150 ล้านบาท จะจ่ายไฟเข้าระบบได้กลางปี 2559 ตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีชุมชนในพื้นที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวในนิคมฯ แก่งคอย จังหวัดสระบุรีก็ตาม โดยขณะนี้ได้เข้าไปทำความเข้าใจต่อชุมชนในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น