กสอ.เดินหน้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ SMEs ให้ตรงความต้องการตลาดรองรับเปิด AEC แจงผู้ประกอบการเข้าร่วม 2,520 ราย คัดเลือกสุดยอด 262 รายเข้าพัฒนาเชิงลึก ตั้งเป้ายอดส่งออกในปี 59 ทะลุ 2.2 ล้านล้านบาท
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2559 มูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนจะสูงเกิน 2.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากกำลังซื้อสูงขึ้น ด้วยจำนวนประชากรใน 10 ประเทศสมาชิกที่มากกว่า 600 ล้านคน ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มสัดส่วนชนชั้นกลางในอีก 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65 ส่งผลความต้องการบริโภคและกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ทั้งนี้ เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว กสอ.จึงเดินหน้าส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการจัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด” โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,520 ราย จากนั้นผู้เชี่ยวชาญทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต่อยอดพัฒนาสินค้าในเชิงพาณิชย์ 262 รายเข้าพัฒนาเชิงลึก โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์
แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มประเทศรายได้สูง ได้แก่ สิงคโปร์ และบรูไน 2. กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูง ได้แก่ มาเลเซีย และไทย และ 3. กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย สปป.ลาว
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำตลาด AEC ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3อุตสาหกรรมสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละมากกว่า 6 แสนล้านบาท 2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการผลิต โดยในปี 2557 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกราว 9.15 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญของประเทศไทยก็คือตลาดอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และจีน
และ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมของใช้และของตกแต่งบ้าน ในปี 2557 ที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกทั่วโลกรวมกันราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าภาพรวมตลาดทั่วโลกยังคงซบเซา แต่สำหรับตลาดอาเซียนแล้วนั้น ในช่วง 4-5 ปีได้ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่เติบโตสูงและน่าจับตามองที่สุด โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม ตามนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ
นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า โอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในตลาด AEC นั้น เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ส่งผลให้ในปี 2557 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ไทยสามารถส่งสินค้าไปขายในตลาดอาเซียน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.92 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าส่งออกในปี 2559 จะเพิ่มเป็นมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท
โดย 5 อันดับประเทศที่นำเข้าสินค้าไทยสูงสุด คือ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว แต่เนื่องจากในภาพรวมขณะนี้สินค้าล้นตลาดและขายไม่ได้ราคา ในระยะยาวผู้ประกอบการจึงประสบปัญหาขาดทุน ประเด็นเหล่านี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนของ กสอ.นั้นที่ผ่านมาได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ในภาพรวมแม้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะค่อนข้างได้เปรียบประเทศคู่แข่งในแง่ความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ มีความสามารถในการปรับตัวภายใต้ภาวะทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็ว และมีความสามารถในการประยุกต์เอาทักษะด้านการผลิตและบริการมาเป็นจุดแข็งได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีจุดอ่อนที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างจริงจังอยู่หลายประการ เนื่องจากที่ผ่านมาเราอาศัยข้อได้เปรียบด้านแรงงานและทรัพยากรมากกว่าความเข้มแข็งทางเทคโนโลยี ปัจจุบันจึงต้องเผชิญแรงกดดันสองทาง คือ ติดอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนราคาถูก เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กับประเทศที่เป็นผู้นำด้านแรงงานที่มีทักษะและมีผลิตภาพสูง เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
นอกจากนี้ ข้อจำกัดในด้านความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกันยกระดับขีดความสามารถและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ทัดเทียมนานาประเทศด้วยเช่นกัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *