กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรุกเสริมศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยภาคใต้ เร่งเครื่อง 5 อุตสาหกรรมการผลิตภาคใต้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ไม้แปรรูป และถุงมือยาง พร้อมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบาย คสช. ตั้งเป้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดาเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค และเป็นประตูทางใต้ของไทย
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคใต้นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าจับตามองพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงเดินหน้าทำโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมการผลิตพื้นฐานของภาคใต้ ผ่านโครงการสนับสนุนต่างๆ เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง โครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ AEC และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นต้น
ทั้งนี้ สถานการณ์และภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตทั้ง 5 ในภาคใต้มีดังนี้ 1. อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ประเทศไทยผลิตยางได้กว่า 4.2 ล้านตันต่อปี จัดเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นยางที่ผลิตจากภาคใต้ 1.63 ล้านตัน 2. อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยเฉพาะไม้ยางพารา มีคุณภาพใกล้เคียงกับไม้สัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม้ยางพาราแปรรูปจึงเป็นที่ต้องการและสร้างรายได้จากการส่งออกได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ปัญหาขณะนี้คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันขาดเทคนิคและวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ราคาและคุณภาพของไม้ยางพาราแปรรูปยังไม่คงที่ 3. อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน มีการคาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยทั้งปี 2558 จะลดลงจากปีก่อน 4-5 บาทต่อกิโลกรัม ตามความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่ชะลอลง โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาของปีนี้มีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันประมาณ 2.3 แสนตัน 4. อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ภาคใต้นั้นมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปมากที่สุดในประเทศ และ 5. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายมุสลิมถือเป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสินค้ามุสลิมหลายประเภท เช่น เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย หมวก กระเป๋า เป็นต้น
นอกจากนี้ จากนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาความมั่นคงของประเทศ โดยอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีความเหมาะสมในหลายด้าน ได้แก่ สามารถเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค เป็นประตูทางใต้ของไทยบนแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor : NSEC) มีช่องทางขนส่งหลักทางถนนและรางเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย ซึ่งไทยใช้ส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *