เมื่อไม่นานมานี้ McElhaney’s research ได้วิเคราะห์เรื่อง “การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเป็ปซี่ที่เปลี่ยนแปลง” ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังได้ผู้นำหญิง Indra Nooyi เป็นผู้บริหารสูงสุด
Indra Nooyi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะนำกิจการไปสู่การผลิตที่ปรับเปลี่ยนวัสดุที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมุ่งสู่ความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ เป็ปซี่ยังไม่ได้ทบทวนโครงสร้างของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตขนมขบเคี้ยวอย่างชัดเจนตามที่นักลงทุนต้องการ และเห็นว่าเป็ปซี่ควรแสดงความคืบหน้าของการดำเนินงานได้ทุกไตรมาสต่อจากนี้
สิ่งที่นักวิเคราะห์มองเห็นได้จากความแตกต่างของ CEO หญิงคนนี้คือ การมุ่งมั่นต่อเป้าหมายระยะยาวมากกว่าระยะสั้นๆ
การสำรวจของสถาบันวิจัย ชื่อ McElhaney’s research จาก 1,500 บริษัททั่วโลก แสดงว่า ผู้บริหารผู้หญิงในกิจการต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้วมีแนวโน้มที่จะมุ่งมั่นต่อเป้าหมายความยั่งยืนในระยะยาวทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่า CEOผู้ชาย เช่น การใช้พลังงานทดแทน การสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างคาร์บอนต่ำลง ประหยัดพลังงานมากขึ้น
การสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ Credit Suisse พบว่า มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน ระหว่างผู้นำผู้หญิงกับผลดำเนินงานทางการเงินที่ดีขึ้น โดยกิจการที่มีผู้หญิงในบอร์ดมากกว่า 1 คน จะมีผลตอบแทนทางธุรกิจสะสมสูงกว่าบอร์ดที่ไม่มีผู้หญิงเป็นกรรมการ 3.7% ต่อปี ในการศึกษายังพบว่า 1 ใน 7 ของกิจการ หรือราว 12.9% มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิง
นอกจากนั้น การสำรวจทั่วโลกยังพบว่า มีความแปรปรวนระหว่างจำนวนผู้ชาย ราว 53% กับจำนวนผู้หญิงระดับบริหารที่มีสัดส่วน 47% ในงานด้านความรับผิดชอบทางสังคม ขณะเดียวกัน งานด้านความรับผิดชอบทางสังคมเป็นเรื่องที่ใช้แนวคิดเชิงจริยธรรม ไม่ใช่ภาระงานเป็นหลัก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนเรื่องนี้มากกว่า
การวิเคราะห์มองว่า การที่เพศของผู้บริหารในงานความรับผิดชอบต่อสังคมยังไม่ได้ดุลยภาพ มีผลไม่มากก็น้อยต่องานพัฒนาความยั่งยืนและการบริหารจัดการอื่นในกิจการด้วย โดยสาเหตุมาจากโครงสร้างทางวัฒนธรรม ที่ผู้หญิงต้องออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกเมื่อมีลูกแล้ว การเอนเอียงของการโปรโมตผู้ชายมากกว่า และนโยบายของกิจการเอง
ประเทศที่ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทระดับบริหารในงานด้านความยั่งยืนสูง คือ นอร์เวย์ สเปน เบลเยียม และฝรั่งเศส ที่มีแนวโน้มส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในบอร์ดมากกว่าประเทศอื่น
หลายประเทศกำหนดให้รายงานต้องเปิดเผยเพศของผู้รับผิดชอบงานด้านความยั่งยืน เช่น ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย