xs
xsm
sm
md
lg

มข.ผลิตฟืนอัดแท่งจากเห็ดหมดอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าของนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ ม.ขอนแก่น
นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ ม.ขอนแก่น นำวัสดุเหลือใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน ลดใช้แก๊สนึ่งก้อนเห็ด พร้อมกำจัดของเสียในฟาร์ม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
“เห็ดนางฟ้า” ได้รับความนิยมมากทำให้มีการทำธุรกิจฟาร์มเพาะเห็ดมากขึ้นตามไปด้วย เพราะมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบการลงทุนกับการทำกิจการอื่นๆ อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายระยะยาวต่อเนื่องในการผลิต และประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวเหมาะสมในการเพาะเห็ดประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงทำให้มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาเป็นปัจจัยการผลิตได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำฟาร์มเห็ดก็ยังประสบกับปัญหาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบปัญหาเชื้อราในก้อนเชื้อเห็ดและแมลงรบกวน ส่งผลให้หน้าก้อนเน่าเสียง่าย ไม่สามารถออกดอกได้อีก นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ธาตุอาหาร, อุณหภูมิ, ความชื้น, สภาพอากาศ, แสงและความสะอาด ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดอีกด้วย ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ
สิริภพ นิธิวัฒนศักดิ์ นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมทีมปรับปรุงคุณภาพของฟาร์มเห็ดทรัพย์สมบูรณ์ กล่าวว่า ฟาร์มเห็ดประสบปัญหาเรื่องการรดน้ำทำให้ก้อนเชื้อเห็ด15% เป็นเชื้อรา นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่มีขยะจากก้อนเชื้อเห็ดที่หมดอายุจำนวนมาก และไม่มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ส่งผลให้เกิดการสะสมของเชื้อราและมลพิษต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราก้อนเชื้อเห็ดภายในฟาร์ม โดยหลังจากวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว สรุปได้ว่า การป้องกันนั้นต้องดูแลความสะอาดทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน เพื่อลดการเกิดเชื้อรา และควบคุมปริมาณน้ำและการรดน้ำ เนื่องจากความชื้นส่งผลให้เกิดเชื้อราและน้ำขัง โดยโรงเรือนสำหรับบ่มเพาะก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าจะต้องมีอุณหภูมิ 25 - 30 องศา และความชื้นอยู่ที่ 80 - 90%
“ฟาร์มแห่งนี้จะเพาะเห็ดนางฟ้าอย่างเดียว มีพื้นที่ 2 ไร่ มีโรงเรือนขนาดเล็ก 5 โรงเรือน บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้โรงเรือนละ 3,000 ก้อน และโรงเรือนขนาดใหญ่ 1 โรงเรือน บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้ 5,000 ก้อน รวมโรงเรือนทั้งหมด 6 โรงเรือน บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้มากที่สุดทั้งหมด20,000 ก้อน ”
อาทิตย์ มั่งมี หนึ่งในทีมนักศึกษาที่ดำเนินโครงการนี้ กล่าวเสริมว่า เดิมฟาร์มรดน้ำโดยใช้สายยางรดและฉีด ส่งผลให้ก้อนเชื้อเห็ดเกิดเชื้อราง่าย เนื่องจากมีความชื้นและอุณหภูมิที่ไม่สม่ำเสมอและเกิดน้ำขังภายในรูหัวก้อนเชื้อเห็ดทำให้ก้อนเชื้อเห็ดนั้นเสียไป จึงได้ทำตู้เพาะเห็ดสำเร็จรูปขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดลองการให้น้ำแบบสปริงเกอร์หัวหมอก ผลปรากฏว่าเป็นการให้น้ำที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ แก้ไขปัญหาการเกิดน้ำขัง ช่วยลดปัญหาการเกิดเชื้อราได้มาก และยังช่วยลดระยะเวลาการทำงานลง จึงนำผลที่ได้นั้นมาปรับใช้กับโรงเพาะเห็ดขนาดใหญ่ ส่วนก้อนเห็ดที่หมดอายุแล้วก็สามารถนำมาทำเป็นฟืนอัดแท่งเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงนึ่งก้อนเห็ดได้ โดยปกติแก๊สหุงต้ม 1 ถังสามารถนึ่งก้อนเชื้อได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1,000 ก้อน คิดเป็นมูลค่า 575 บาทต่อครั้ง แต่หากใช้ฟืนอัดแท่งจากก้อนเชื้อเห็ดที่หมดสภาพแล้วจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการนึ่งก้อนเชื้อลงได้เป็น 257.49 บาทต่อครั้ง ซึ่งในระยะยาวทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนได้มาก
ปัจจุบันฟาร์มไม่มีขั้นตอนการนำขยะไปกำจัดทิ้ง จึงใช้วิธีการนำก้อนเชื้อเห็ดที่หมดอายุมาประยุกต์ใช้เป็น ฟืนอัดแท่ง เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการนึ่งก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วย มีผลผลิตมากขึ้น และลดปัญหาเชื้อราได้ถึง 60% รวมทั้งการจัดการขยะของเสียในฟาร์ม โดยการนำเอาขยะเหล่านั้นกลับมาทำเป็นฟืนอัดแท่ง สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น