xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมชีวภาพ คลื่นลูกใหม่เพื่ออนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


๐ รัฐ-เอกชนผนึกกำลังผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพระดับโลก
๐ สถาบันปิโตรเลียม-ศศินทร์เผยผลศึกษาส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub
๐ ชี้ศักยภาพและความพร้อม ปัจจัยบวก-ลบ สรุปยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วนและระยะยาว
๐ สภาอุตฯ-สภาพัฒน์หนุนเป็นวาระแห่งชาติ
สถาบันปิโตรเลียมร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทย” โดยชี้ให้เห็นภาพในด้านต่างๆ เริ่มจากศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศสู่ AEC

๐ ชี้ปัจจัยบวก-ลบ
เมื่อมองจากปัจจัยภายในพบว่า อุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์และมีความพร้อมด้านวัตถุดิบจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก อยู่ที่ 75 ล้านตันต่อปี และส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 25 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียน โดยในปี 2014 มีการใช้เอทานอล 2.9 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 2.8 ล้านลิตรต่อวัน อีกทั้งเป็นผู้นำการแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกในอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 3,000 ราย และเป็นผู้นำการผลิตเม็ดพลาสติกในอาเซียน 6.6 ล้านตันต่อปี รวมถึงเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้าน (Home Care) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) และเครื่องสำอาง
นอกจากนี้ จากโครงการศึกษาเมื่อมองจากปัจจัยภายนอกพบว่า ปัจจัยแรก สินค้าชีวภาพคือทิศทางของอนาคต โดยในปี 2020 มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 560,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 23% และสินค้าชีวภาพเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียว ปัจจัยที่สอง เศรษฐกิจสีเขียวเริ่มเป็นกติกาสากล เนื่องจากสหภาพยุโรปกำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 20% ภายในปี 2020 ขณะที่สหรัฐอเมริกามีมาตรการบังคับให้ภาครัฐซื้อสินค้าชีวภาพ ส่วนอิตาลีเก็บเงินจากผู้ใช้ถุงพลาสติกจากปิโตรเคมี 0.1-0.2 เหรียญยูโรต่อใบ และเยอรมนีกำหนดมาตรฐานสินค้าชีวภาพเพื่อเพิ่มการรับรู้ (Awareness) ให้กับผู้บริโภค และปัจจัยที่สาม ภาคธุรกิจต่างปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว จะเห็นว่าเอกชนต่างปรับตัวด้วยการใช้วัตถุดิบชีวภาพทดแทนปิโตรเลียมมากขึ้น เพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จึงต้องปรับตัวตามกติกาสากล
แต่ยังพบว่าประเทศไทยมีปัญหาและอุปสรรคในด้านต่างๆ คือ ด้านวัตถุดิบ ขาด Economy of Scale ของการผลิต ระบบขนส่งสินค้าเกษตรมีต้นทุนสูง และขาดระบบจูงใจให้เกษตรกรปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีการผลิต งบการวิจัยและพัฒนาของไทยค่อนข้างต่ำ ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนา นโยบายและกฎระเบียบไม่จูงใจให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และหัวข้อวิจัยและพัฒนาไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเป็น Bio Hub ด้านต้นทุนการผลิต จุลินทรีย์และเอนไซม์ถูกผูกขาดโดยเจ้าของเทคโนโลยี ต้องนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตสินค้าชีวภาพ ต้นทุนพลังงานของไทยสูงกว่าหลายประเทศ และค่าขนส่งสินค้าในประเทศสูง
ด้านตลาด ตลาดสินค้าชีวภาพค่อนข้างจำกัดขยายตัวได้ยาก ประชาชนไม่เลือกใช้สินค้าชีวภาพเพราะมีราคาสูง คุณสมบัติพลาสติกชีวภาพด้อยกว่าพลาสติกปิโตรเคมี และมีข้อจำกัดด้านกฎหมายสำหรับการค้าเอทานอล และด้านการสนับสนุนของภาครัฐ ขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลักสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ขาดแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศ นโยบายดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพยังไม่เพียงพอ และขาดการเชื่อมโยงการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิตภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ เพื่อแปรรูปและแปลงสภาพผลิตผลทางการเกษตรและชีวมวล ให้เป็นพลังงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จึงเสนอให้จัดตั้ง Bio Hub อยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็น Complex และอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ
โดยมีการเปรียบเทียบผลประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ระหว่างหน่วยการผลิตปัจจุบัน ซึ่งใช้เงินลงทุน 28,500 ล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 2,400 คน สร้างรายได้ 32,300 ล้านบาทต่อปี โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม 18,400 ล้านบาทต่อปี และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.8 แสนตันต่อปี กับศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) ครบวงจร ใช้เงินลงทุน 105,000 ล้านบาท สามารถจ้างงานใหม่ 86,500 คน สร้างรายได้ 120,800 ล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่ม 73,000 ล้านบาทต่อปี และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.1 ล้านตันต่อปี
ขณะที่วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมชีวภาพของไทยใน 20 ปีคือ ประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างครบวงจรในระดับโลก มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1.สร้างอุตสาหกรรมชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร 2.สร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมชีวภาพบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของชาติ ด้วยการมีศูนย์วิจัยจุลินทรีย์เพื่อผลิตเอนไซม์ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง และพัฒนาเทคโนโลยี 2G (Cellulosic) เชิงพาณิชย์ และ3.ปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศด้วยสินค้าจากอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ
โดยมีวิธีการคือ ในระยะเร่งด่วน (ปี 2015-2016) บรรจุเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ในระยะยาว (ปี2517-2035) ให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อบูรณาการการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายระยะยาว การส่งเสริมการลงทุน การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านสินค้าสำเร็จรูปและการพัฒนาด้านตลาดสินค้าชีวภาพ
พัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าชีวภาพเป็นแผนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” และส่งเสริมให้เอกชนเป็นองค์กรหลักในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านนโยบายและความช่วยเหลือในระยะต้น


๐ เปิดยุทธศาสตร์สั้น - ยาว
สำหรับยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ ในระยะเร่งด่วน ปี 2015-2016 มี 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย (Policy and Regulation) มีมาตรการเกื้อหนุนและลดอุปสรรคด้านนโยบายและกฎระเบียบ โดยแก้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลให้น้ำเชื่อมเข้มข้น (High Test Molass) ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบใน Bio Hub เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 และการออกแบบใบอนุญาตขอตั้งโรงน้ำตาลที่จะสร้างใหม่ให้พิจารณาโรงงานแปรรูปอ้อยที่ Integrate กับ Bio Hub เป็นอันดับแรก
2.ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน (Investment Support) สนับสนุนผู้ลงทุนหน่วยผลิตแกนกลาง ผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภครองรับหน่วยผลิตต่อเนื่อง โดยสนับสนุนผู้ลงทุนหน่วยผลิตแกนกลางเป็นลำดับแรก ด้วยการให้รัฐสนับสนุนการจัดหาพื้นที่สำหรับการจัดตั้ง Bio Hub โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ให้รัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคใน Bio Hub และให้การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดจาก BOI
3.ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี (Research Development and Innovation) ผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเป็นของตัวเอง โดยรัฐสนับสนุนการจัดการเทคโนโลยีจุลินทรีย์ เพื่อการผลิตเอนไซม์และการพัฒนาเทคโนโลยี 2G (Cellulosic) ของประเทศ
และ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด (Market Leader) ผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดสินค้าชีวภาพ โดยกำหนดให้บรรจุภัณฑ์อาหารใช้พลาสติกชีวภาพทดแทนโฟม ให้การจัดซื้อพลาสติกชีวภาพสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 200% ให้สนับสนุนการวิจัยพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ และให้ยกเลิกน้ำมันเชื้อเพลิง E10
โดยให้ กอช.ศึกษาและจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ พร้อมกับจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ (สำนักงานถาวร) เพื่อผลักดันให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพและเกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ ในระยะยาว ปี 2017-2035 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย (Policy and Regulation) มีมาตรการเกื้อหนุนและลดอุปสรรคด้านนโยบายและกฎระเบียบ โดยกำหนดนโยบายสนับสนุนการทำ Contract Farming ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพภาคการเกษตร และเปิดเสรีการผลิต ขนส่ง การค้า และการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพ
2.ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน (Investment Support) สนับสนุนผู้ลงทุนหน่วยผลิตแกนกลาง ได้แก่ โรงงานหีบและแปรรูปอ้อย โรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้า/ไอน้ำจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เคมีชีวภาพ (กรดแลคติก กรดซักซินิก BDO) และพลาสติกชีวภาพ (PLA, PBS)
3.ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี (Research Development and Innovation) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โดยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับแปรรูปมันสำปะหลัง ผลผลิตเกษตรประเภทเส้นใยเป็นสินค้าชีวภาพ อีกทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายวิจัยร่วมตั้งแต่ระดับ Lab Scale, Pilot Plant และ Commercial Scale รวมถึง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาการบำบัดของเสีย/น้ำเสีย ให้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตวัตถุดิบ และสนับสนุนการวิจัยพัฒนา/การผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำชีวมวลไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 2G (Cellulosic)
และ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด (Market Leader) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดสินค้าชีวภาพ โดยให้หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ เลือกให้สินค้าชีวภาพที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งกำหนดสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในบรรจุภัณฑ์ รวมถึง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งต้องผลิตจากพลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ใช้ E85 เป็นเชื้อเพลิงหลักในพื้นที่ที่สร้าง Complex และพื้นที่ใกล้เคียง และยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเอทานอลมากกว่า 20%
สถาบันปิโตรเลียมจัดทำโครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทย ออกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว มุ่งหวังไทยสู่พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ครบวงจรระดับโลก
สถาบันปิโตรเลียม-ศศินทร์มั่นใจ
เมืองไทยขึ้นชั้นผู้นำระดับโลก
สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” ผู้อำนวยการ เน้นว่าการผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก (Bio Hub) ภายใน 20 ปี ซึ่งเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลิตเชื้อเพลิง เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันและอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ พร้อมทั้งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับหน่วยผลิตต่อเนื่องที่จำเป็นเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการผลิตสูงสุด อีกทั้งยังสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพและน้ำรีไซเคิลนำไปใช้ในภาคการเกษตร รวมถึงใช้เป็นพลังงานทดแทนได้อีกด้วย
การพัฒนาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปี 2561-2568) ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ผลิตเชื้อเพลิง เคมี และพลาสติกชีวภาพ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี และระยะที่ 2 (ปี 2569-2578) จะใช้มันสำปะหลังและชีวมวลต่างๆ ที่มีศักยภาพในอนาคตมาเป็นวัตถุดิบเสริมเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบ นับเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาของอุตสาหกรรมที่นำไปสู่รากหญ้าได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ จะเสนอรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพิจารณารับฟังความคิดเห็นแนวทางแผนส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาBio Hub ดังกล่าวและนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงเพื่อมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง 1.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ/คน/ปี
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร อีกทั้งยังมีฐานการผลิตสินค้าชีวภาพอยู่บ้างแล้ว เช่น กรดชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลกได้
การนำสินค้าเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงาน หากสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นในประเทศได้ จะทำให้มีการลงทุนในประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนในระยะที่ 1 และก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดคือประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อดึงดูดผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สภาอุตฯ - สภาพัฒน์
หนุนเป็นวาระแห่งชาติ
"บวร วงศ์สินอุดม" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio Hub และสนับสนุนให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากประเทศมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ อีกทั้งตรงกับนโยบายของประเทศในการพัฒนาตลาดในประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio Hub ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันและอยู่ในแหล่งวัตถุดิบแม้จะมีความเหมาะสม แต่ยังมีความเสี่ยงในการลงทุนสูง เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงและผูกขาดโดยเจ้าของเทคโนโลยี อีกทั้งประเทศไทยเองยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในระยะเริ่มต้นในหลายๆ ด้าน
“มีบริษัทพลาสติกชีวภาพจำนวนมากสนใจจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพราะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ และบุคลากรมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลควรออกมาตรการสนับสนุน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดึงดูด ซึ่งในการลงทุนตั้งโรงงานจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ทำให้ในปีแรกภาครัฐแทบไม่ต้องช่วยเหลืออะไร ปีที่ 2 อาจจะต้องอุดหนุนซอฟต์โลนประมาณ 100-200 ล้านบาท ปีต่อมา อาจจะใช้ 300-400 ล้านบาท และปีสุดท้ายอาจขยับไปที่พันล้านบาท”
นอกจากนี้ ในด้านตลาดสินค้าชีวภาพก็มีความสำคัญ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าชีวภาพมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้าชีวภาพยังไม่แพร่หลายมากนัก ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคและการสร้างตลาดสำหรับสินค้าชีวภาพ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก
ด้าน ธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในประเทศมาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตเป็นสินค้าชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสและแนวโน้มการผลิตสินค้าของโลก ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การเริ่มต้นของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทยจะช่วยวางรากฐานของธุรกิจสินค้าชีวภาพและก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ตามมา ซึ่งถือเป็นโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ต่อยอดการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมโดยนักวิจัยไทย
เห็นได้ว่า Bio Hub จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนการส่งออก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างรายได้ใหม่ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงาน
ดังนั้น ควรนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นกลไกบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ชัดเจนและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติประเทศไทยก็จะสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นได้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านคุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น