เปิดตัวไปเมื่อ 20 สิงหาคมที่่ผ่านมา และดูเหมือนการตอบรับจากประชาชนที่มีอาชีพอิสระจะคึกคักพอสมควรสำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. โดยล่าสุด (21 ส.ค. 58) พบว่ามีจำนวนการเปิดบัญชีการออมกับ กอช. ถึง 183,281 รายการ และมียอดออมเงินวันแรกรวม 164,479,479 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 150,000 รายการเป็นการแสดงความจำนงก่อนการเปิดตัวของกองทุนด้วยซ้ำ เป็นก้าวที่ดีจากความเอื้อเฟื้อของภาครัฐ แต่คำถามคือ “พอหรือไม่” กับกองทุนการออมภาคสมัครใจ และสวัสดิการที่ภาครัฐให้
ตอบเลยว่า ยัง!...เพราะกองทุนนี้เพียงตอบโจทย์แค่เบื้องต้นหรือ “ดีกว่ากำตด” แต่ก็น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับการคอร์รัปชันของนักการเมืองระดับแสนล้านบาทในแต่ะโครงการ
จุดประสงค์ของการออมนั้นทุกคนทราบดีว่าเป็นการสะสมเงินเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินหรือนำมาใช้จ่ายในอนาคตยามเกษียณ ยิ่งปัจจุบันสังคมไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยท่ามกลางแนวโน้มอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ต้องบอกเลยว่าอนาคตคนไทยมีสิทธิ์แก่และจนในคราวเดียวกัน
ผมมีโอกาสได้ร่วมฟังข้อมูลจากบริษัทโตเกียวมารีน โฮลดิ้ง ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตในประเทศญี่ปุ่นและไทย เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นปี 1980 มีค่าเฉลี่ยอายุของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 76 ปี ในปี 2015 ค่าเฉลี่ยอายุของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 80.5 ปี และในปี 2050 คนญี่ปุ่นจะมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 90 ปีเลยทีเดียว
ขณะที่ประเทศไทยพบว่า ค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยในปี 1980 อยู่ที่ 64 ปี ในปี 2010 คนไทยจะมีค่าเฉลี่ยอายุที่ 75 ปี และเชื่อว่าในปี 2050 จะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น (แต่ยังไม่มีประมาณการ)
และเมื่อดูอัตราการเกิดของไทยกับญี่ปุ่นจะพบว่าประเทศญี่ปุ่นในปี 2000 มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.36 คนต่อครอบครัว ในปี 2010 อยู่ที่ 1.39 คนต่อครอบครัว และในปี 2013 อยู่ที่ 1.43 คนต่อครอบครัว ส่วนไทยในปี 2000 มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.68 คนต่อครอบครัว ปี 2010 อยู่ที่ 1.44 คนต่อครอบครัว และปี 2013 ไทยลดลงมากต่ำกว่าญี่ปุ่นมาอยู่ที่ 1.40 คนต่อครอบครัว
สุดท้ายเป็นข้อมูลของผู้สูงอายุ (เกิน 65 ปี) เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นในปี 2000 มีอัตราผู้สูงอายุอยู่ที่ 17% ปี 2010 อยู่ที่ 23% และในปี 2050 อยู่ที่ 36% สำหรับประเทศไทยในปี 2000 มีผู้สูงอายุอยู่ที่ 7% ปี 2010 อยู่ที่ 9% และในปี 2050 อยู่ที่ 36%
สรุปแล้วประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่สำหรับไทยแล้วจากตัวเลขข้างต้นอัตราการเกิดของไทยดูเหมือนจะลดลงในอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าคนไทยในอนาคตจะเป็นครอบครัวขนาดเล็กหรือครอบครัวเดียวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยจะต้องดูแลตนเองมากขึ้นในช่วงที่อายุยืนยาวหรือขาดศักยภาพในการหารายได้เพิ่มเติม
ยิ่งไปกว่านี้ หากพิจารณาประกอบกับอัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นแล้ว แสดงว่าคนไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างเดียวไปตลอดระยะเวลา 10-20 ปี(เทียบกับการเกษียณอายุที่ 65 ปี กรณีมีการปรับเพิ่มการเกษียณอายุ)
ถ้าตายก็แล้วไป ที่อยู่ก็คงต้องกังวลต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต
การที่นำตัวเลขของประเทศญี่ปุ่นมาเทียบให้เห็นภาพนอกจากบ่งชี้ถึงอัตราการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ใกล้เคียงกันแล้ว ที่สำคัญและอยากให้เห็นมากกว่าคือการเตรียมตัวของรัฐบาลญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นเองในภาคสมัครใจไม่ต้องบอกเพราะคนญี่ปุ่นมีอัตราการทำประกันชีวิตสูงอยู่แล้ว (เฉลี่ย 1 คนมี 3 ฉบับ) แต่ปัจจุบันดูเหมือนจุดประสงค์ของการทำประกันจะเปลี่ยนไปเพื่อวางแผนการเกษียณอายุมากกว่าประเภทคุ้มครองชีวิตแบบสามัญ
ส่วนภาครัฐเองยิ่งต้องบอกว่าใส่ใจกับสวัสดิภาพของประชาชนในประเทศเป็นอย่างดี โดยมีทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนบำนาญแห่งชาติ และยังมีกองทุนให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกหนึ่งกองทุน คือ Long Term Care ซึ่งเป็นระบบกองทุนที่ใช้ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งขึ้นในปี 2543 ด้วยการพัฒนาจากระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่ตั้งขึ้นในปี 2526
สำหรับระบบนี้รัฐบาลจะคอยซัปพอร์ตเงินส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ออมผ่านกองทุน โดยบังคับให้ผู้มีรายได้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ และจะได้รับการดูแลจากภาครัฐด้วยการประเมินจากความสามารถในการดูแลตัวเองก่อนส่งเข้าไปที่สถานดูแลคนชราที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ที่มีอยู่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ มีความเห็นจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเกษียณอายุ
คุณสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตเกียวมารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) บอกว่า เรื่องการเกษียณอายุเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป ซึ่งในปี 2020 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 16 ล้านคน และจะทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ โดยจะต้องให้ความสำคัญต่อคนกลุ่มนี้ว่าจะใช้ชีวิตที่ยืนยาวอย่างไรให้มั่นคง ซึ่งเรื่องนี้นอกจากภาครัฐแล้วต้องทำให้คนไทยตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย
“คนไทยต้องตระหนักถึงเรื่องนี้และการใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่ไม่มีรายได้จะทำอย่างไร ผมมองว่าถ้ารู้จักวางแผนและสามารถมีเงินเดือนใช้เพิ่มอีกประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาทก็น่าจะเพียงพอสำหรับคนไทย เพราะถ้าดูสิ่งที่รัฐบาลให้มามันยังไม่เพียงพอแค่เบี้ยชราภาพ 600 บาทก็น้อยเกินไป ซึ่งถ้าเทียบสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้กับที่รัฐบาลไทยให้มันแตกต่างกันมากเลย”
เห็นแบบนี้แล้วคงรู้เลยว่าควรเตรียมตัวอย่างไร โดยเฉพาะภาครัฐควรเป็นผู้ริเริ่มวางระบบรองรับสังคมสูงวัยในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และเชื่อว่า กอช.ยังไม่เพียงพอแน่นอน