xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส SCBLIFE ดูผลงาน CSR 2 มิติ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในวงการธุรกิจประกันภัย เราไม่ค่อยได้เห็นการขับเคลื่อนองค์กรที่มีพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่สมบูรณ์แบบมากนัก
ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หรือ SCBLIFE เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะมีการดำเนินนโยบายด้านสังคมให้เคียงคู่ไปกับกระบวนการดำเนินธุรกิจขององค์กร (CSR-in-process) เริ่มตั้งแต่ปลูกฝังวิธีคิด ปลูกจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่คนในองค์กรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรมต่อลูกค้าและสังคม ไปจนถึงปรับกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรที่สอดรับต่อนโยบายดังกล่าว
ขณะเดียวกันก็ตระหนักดีถึงการให้โอกาส และการแบ่งปันช่วยเหลือสังคม ในฐานะที่เป็นหน่วยพลเมืองดีของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีหลายโครงการเพื่อสังคมของ SCBLIFE ที่มีลักษณะเชื่อมต่อการดำเนินงานโครงการจาก CSR-in-process พร้อมขยายผลสู่การส่งเสริมสังคมที่อยู่นอกเหนือกระบวนการธุรกิจ (CSR-after-process)
“โครงการเพราะรักจึงจัดให้” (Learning for Life) เป็นการให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินแก่พนักงาน โดยบริษัทได้นำเอาความรอบรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ขององค์กรมาถ่ายทอดให้กับพนักงาน โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ได้หลุดพ้นจากปัญหาภาระหนี้สิน หรือหนี้บัตรเครดิต รู้จักวางแผนการใช้จ่ายและเก็บออมอย่างชาญฉลาด จนต่อยอดไปสู่การวางแผนลงทุน และการวางแผนการเงินเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ
บริษัทมีแผนขยายผลโครงการไปยังครอบครัวของพนักงาน ชุมชนใกล้เคียง รวมไปถึงเยาวชนด้อยโอกาสในชุมชนแออัดที่บริษัทให้การช่วยเหลือ
ปรีชา รุธิรพงษ์
อีกโครงการที่เห็นได้ชัดถึงการผสานเป้าหมายการดำเนินงานทั้งด้าน CSR-in-process และ CSR-after-process ได้อย่างลงตัว คือ “โครงการกระดาษให้ชีวิต” (Giving for Life) เพื่อรณรงค์การลดใช้กระดาษภายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่ทำต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
ปรีชา รุธิรพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการตลาดและสื่อสารองค์กร กล่าวว่า “SCBLIFE ต้องการให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งแต่วิธีคิด ไปจนถึงการปฏิบัติงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การกระตุ้นให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของกระดาษ และใช้กระดาษอย่างเต็มคุณค่า จึงต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”
ในปีแรก บริษัทเริ่มรณรงค์ โดยปลูกฝังให้พนักงาน “คิดก่อนพิมพ์” และใช้กระดาษอย่างคุ้มค่า โดยนำกระดาษหน้าเดียวมาใช้ซ้ำ และนำกระดาษใช้แล้วทั้งสองหน้ามาต่อยอดเป็นหนังสืออักษรเบลล์ให้กับมูลนิธิเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งผลลัพธ์ในปีแรก SCBLIFE สามารถลดปริมาณการใช้กระดาษลงได้ถึง 37% เทียบเท่ากับช่วยลดการตัดต้นไม้ได้ถึง 1,993 ต้น
ในปีที่สอง SCBLIFE ให้ลดการใช้กระดาษ ควบคู่จัดทำโครงการ “เก้าอี้นี้เพื่อน้อง” โดยนำกระดาษรีไซเคิลในสำนักงานมาทำเป็นเก้าอี้เปเปอร์มาเช่ มอบให้แก่น้องผู้ป่วยพิการซ้ำซ้อนของสถาบันราชานุกูล มูลนิธิบ้านปั้นดาวน์ โรงพยาบาลเด็ก และโรงพยาบาลศิริราช กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจและมีการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมของพนักงานจิตอาสาเป็นจำนวนมาก จนสามารถจัดทำเก้าอี้ส่งมองให้แก่น้องๆ ที่พิการซ้ำซ้อนได้ถึง 104 ตัว ในขณะที่การลงมือทำเก้าอี้แต่ละตัว ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30-40 ชั่วโมง ซึ่งอาสาทุกคนก็มีความตั้งใจ และความอุตสาหะ รวมถึงต้องแบ่งเวลาส่วนตัวหลังเลิกงาน หรือในวันหยุด มาทำเก้าอี้ให้กับน้องๆ
ผลลัพธ์ที่เกิด นอกจากความสุขใจ อิ่มเอมใจที่พี่อาสาส่งมอบเก้าอี้ที่ทำเองมากับมือให้แก่น้องๆ แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวการดำเนินงานด้าน CSR ของ SCBLIFE ที่ใช่และลงตัวกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรของคนที่นี่อีกด้วย
ส่วนปีนี้ SCBLIFE ตั้งเป้าลดปริมาณการใช้กระดาษภายในองค์กรลงอีก 20% และได้ ต่อยอดแนวคิดเรื่องการประสานโครงการลดใช้กระดาษในสำนักงาน สู่โครงการเพื่อเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส พร้อมนำองค์ความรู้ด้าน Financial Literacy มาผนวกรวมเป็นกิจกรรมชวนพี่อาสาร่วมใจทำกระปุกหมู ออมสินเปเปอร์มาเช่ และจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินสำหรับเด็กในรูปแบบกิจกรรมแรลลี่แนวเอ็นดูเทนเม้นท์ให้แก่น้องๆ ในชุมชนแออัดคลองเตย มูลนิธิบ้านเมอร์ซี่ ควบคู่จัดกิจกรรมศิลปะบำบัด ชวนน้องระบายสีกระปุกหมูออมสินให้แก่น้องๆ ผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลรามาธิบดี
แม้โครงการเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับได้ว่าเป็นกุศโลบาย และเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการวางกลยุทธ์ CSR เชิงลึก โดยใช้สร้างสีสันให้เกิดความความต่อเนื่อง พร้อมเป็นเครื่องมือเหนี่ยวนำการมีส่วนร่วมของพนักงานภายในองค์กรเข้ากับโครงการ CSR ไปได้ดี

ข้อคิด...
นับเป็นประเด็นท้าทายมากสำหรับองค์กรธุรกิจที่มีความคิดก้าวหน้าซึ่งจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรให้เข้ากับกระแสสังคมโลกที่ต้องการคบค้ากับกิจการที่ “เก่งและดี” เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น แนวปฏิบัติตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อม (CSR) ขององค์กรยุคปัจจุบันเป็นต้นไปจึงไม่ใช่ “ทางเลือก” แต่เป็นวิถีสำคัญที่ “ต้องทำ” เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมี “ภาพลักษณ์ที่ดี” เป็นของแถม
ก็ขนาดธุรกิจประเภทสถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยก็ล้วนต้องแสดงจุดยืนมากกว่าจะเป็นแหล่งสนับสนุนการบริหารการเงินที่ดีต่อลูกค้า
Stratetegic CSR หรือการทำซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ที่ใช้สมรรถนะ (Competency) ที่เป็นความชำนาญในการบริหารธุรกิจให้เกิดคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ได้แก่ ผู้ถือหุ้น, พนักงาน, ลูกค้า, คู่ค้า, ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่จะสร้างการยอมรับและสนับสนุนทั้งมิติทางธุรกิจและสังคม

องค์กรที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ก็จะเกิดผลลัพธ์ที่สั่งสมเกิดเป็นความยั่งยืนแน่นอน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น