สองแนวทางในเชิงรุกของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ในขณะเดียวกันเร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมเพื่อไปจัดการ 4 เรื่องหลัก “จัดการน้ำ-เกษตร-พลังงาน-คาดการณ์ภูมิอากาศ”
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ประเทศไทยมีข้อตกลงในเรื่องของการแสดงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะต้องกำหนดตามมาตรฐานสากล โดยวางเป้าหมายทั้งในเรื่องอุณหภูมิของโลกที่ไม่ควรจะสูงขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส และปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ควรเกิน 450 ppm ทั้ง 2 เรื่องนี้สำคัญ และได้มีการพูดคุยกันมาหลายปี ถึงแม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีมาตรการแตกต่างกันก็ตาม แต่แนวโน้มที่เห็นชัดก็คือแต่ละประเทศล้วนต้องการให้ตนเองเป็นเมืองที่สะอาด
“จะเห็นว่าปัจจุบันหลายประเทศได้วางเป้าเพื่อจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Certified Emission Reduction) อีกทั้งประชากรในโลกก็สูงขึ้น แต่ที่สำคัญคือความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการปล่อยคาร์บอน จะต้องเกิดความสมดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่เจรจากันยากมาก เพราะประเทศพัฒนาแล้วมักจะปล่อยก๊าซที่น้อยกว่าเนื่องจากมีการทำมาก่อนหน้า แต่สำหรับประเทศที่ยังไม่พัฒนา หรือกำลังพัฒนาก็ต้องการใช้พลังงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศเช่นกัน”
สำหรับสังคมไทยนั้นต้องเข้าใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและมลพิษมักไปด้วยกัน เพียงแต่ว่าเราต้องการให้อัตราการเพิ่มของมลภาวะต่ำกว่าการพัฒนาของเศรษฐกิจ และถ้าเราหากทำได้ โอกาสที่จะสร้างสมดุลก็มีมากขึ้น
ดร.พิเชฐ บอกว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหลายมุมที่เกี่ยวข้อง คือ ในเชิงนโยบาย เราเป็นส่วนหนึ่งของทีมประเทศไทยที่ไปร่วมการเจรจาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของสหประชาชาติ (UN) ทุกปี ปีละครั้ง
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เน้นเรื่องการเจรจาเป็นหลัก ซึ่งสิ่งที่เราคาดหวังก็คือ จะต้องไม่ตกขบวน หมายความถึงเรื่องของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 ลักษณะหลัก คือ 1.การลดมลภาวะ (Mitigation) และ 2.การปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลง (Adaptation) ทั้ง 2 ลักษณะนี้ ประเทศไทยจะต้องใส่ใจบทบาทด้านเทคโนโลยี ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้าไปสนับสนุนมี 2 ประเด็นสำคัญ
1. โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ที่ค่อนข้างมีการสร้างมลภาวะมาก ก็จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยทำให้มีการปล่อยลดน้อยลง โดยมีอุปกรณ์ที่ไปดักและเก็บก๊าซต่างๆ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) เป็นต้น ส่วนในระดับโรงไฟฟ้าจะใช้ Scrubber ซึ่งใช้หลักการเดียวกัน คือ ใช้ดักและเก็บก๊าซไว้ก่อนปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ
2.ในเรื่องของระดับชาติ แนวทางของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดทำร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ในเอกสารที่ใช้ชื่อว่า กระประเมินความต้องการทางเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment Report) เพื่อให้ประเทศของเราดำเนินการตามแนวทางสากล
แนวทางการปฏิบัติของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินเป็น 2 จังหวะ คือ 1.กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ หรือ TNA (Technology Needs Assessment) 2.การปฏิบัติ หรือ Technology Action Plan (TAP)
มุ่ง 4 ประเด็นจาก Climate Change
รมว.กระทรวงวิทย์ฯ กล่าวถึง 4 เรื่องสำคัญที่กระทรวงวิทย์ฯ เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว คือ 1) การบริหารจัดการน้ำ 2) การเกษตร 3)อาหาร และ 4) การคาดการณ์ภูมิอากาศ
จะเห็นว่าแนวทางการลดมลภาวะ (Mitigation) และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลง (Adaptation) เกี่ยวข้องกับ 4 เรื่องสำคัญดังกล่าวนี้ ได้แก่ น้ำ และการเกษตรจะเป็นเรื่องการปรับตัวรับมือ เพราะว่าโลกร้อนขึ้น ส่วนน้ำในมหาสมุทรก็มีอุณหภูมิสูงขึ้น ดังนั้น โอกาสที่เกิดพายุ หรือสภาพอากาศที่เลวร้ายก็มากขึ้นและถี่ขึ้น เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงสำคัญที่จะต้องดูแล ส่วนเรื่องเกษตรนั้น จากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น อาจจะเกิดน้ำท่วมหรือแห้งแล้งได้บ่อย หรือทำให้พืชบางชนิดต้องย้ายฤดูในการเพาะปลูก เป็นต้น สำหรับการลดมลภาวะของพลังงาน เริ่มมีความชัดเจนโดยพลังงานในระบบปกติที่มีการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็เริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนที่จะช่วยลดพลังงานฟอสซิล
ด้านแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินเป็น 2 จังหวะ คือ 1.กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ หรือ TNA (Technology Needs Assessment) 2.การปฏิบัติ หรือ Technology Action Plan (TAP) สำหรับประเทศไทย เราก็จะใช้ TAP ที่สอดคล้องกับ 4 เรื่องหลักดังกล่าวซึ่งมีการขยายผลออกไปเป็นแนวทางปฏิบัติการ
ชูการเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี+นวัตกรรม
รมว.กระทรวงวิทย์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจัดให้มีระบบที่ทันต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เราได้ประสานงานไปยังสหประชาชาติ โดยได้มอบหมายให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เข้ามาดูแลเรื่องการปฏิบัติ จนได้ข้อสรุปว่าจะมีการตั้งหน่วยเพื่อช่วยเชื่อมโยงไทยและโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยี
ทั้งนี้ 4 เรื่องหลักดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอ เราก็ต้องทำให้เกิดการถ่ายทอดเข้ามา โดยประเทศไทยต้องเป็นผู้รับไปก่อน เช่น เทคโนโลยีกำจัดขยะ เทคโนโลยีลดก๊าซมีเทนในนาข้าว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทางสหประชาชาติกำลังตกลงกันอยู่ เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการแบ่งบทบาทของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีกองทุนกลางไว้สำหรับช่วยประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่ประเทศใดบ้างจะลงทุนเท่าใดคาดว่าจะต้องมีการประชุมกันอีกครั้ง แต่ตอนนี้เราได้ทุนบางส่วนจากทาง UNEP สำหรับไปใช้ทางการศึกษาได้
“เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน และมีการรองรับด้วยการปฏิบัติ อีกทั้งในอนาคตอาจมีนวัตกรรมในเรื่องต่างๆ เช่น การประกวดเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงาน หรือนักประดิษฐ์หันมาสร้างนวัตกรรมสีเขียวมากยิ่งขึ้น อาจเป็นการออกแบบบ้าน หรือออกแบบเครื่องมือที่ใช้พลังงานน้อยลง เป็นต้น”
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช.ทำในกรณีนี้ คือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้ทำในเรื่องของการประเมินคาร์บอนในสินค้าและกระบวนการผลิต เพราะการค้าโลกถูกกระทบด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การบินไทยจะต้องเสียภาษีคาร์บอนในการบินเหนือน่านฟ้ายุโรป เป็นต้น ดังนั้น แนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ เวลาเราผลิตสินค้าและมีการส่งออก ในอนาคตจะต้องระบุว่าสินค้าชนิดนั้นๆ ผลิตคาร์บอนไปเท่าไหร่ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงหลังจากการใช้สินค้าเสร็จ ทำให้งานนี้เป็นงานที่ละเอียดอ่อน รวมทั้งสินค้าที่มีอยู่มาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย