เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ... เพื่อรับมือกับซากผลิตภัณฑ์ฯ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือ หรือ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (e-waste) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทยตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
โดยกฎหมายนี้จะกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย ผู้บริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงงานรีไซเคิลในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่จะมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ลดการใช้สารอันตรายและสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ตามหลักการอีพีอาร์ (Extended Producer Responsibility) เพื่อลดปัญหามลพิษจากการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาสายไฟเพื่อแยกทองแดง หรือการลักลอบใช้ไซยาไนด์สกัดทองจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมการประชุมเรื่องการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ กับหลักการอีพีอาร์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุกปีโดยสถาบันวิจัยเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแห่งประเทศจีน (CHEARI) และในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยถ่งจี้ (Tongji University) เป็นเจ้าภาพร่วม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ
นอกจากจะได้ไปนำเสนอความคืบหน้าของการยกร่างกฎหมายของประเทศไทยแล้วยังเป็นโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
หลายคนคงยังไม่ทราบว่าประเทศจีนนั้นได้ออกกฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ แล้วภายใต้กรอบกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการผลิตที่สะอาดและกฎหมายการป้องกันและควบคุมมลพิษจากมูลฝอย โดยกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในปี 2554 กำหนดให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีและศุลกากรของจีนจัดเก็บค่าธรรมเนียมรีไซเคิลจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ควบคุมซึ่งในระยะแรกได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ (หรือที่เรียกว่า “Big 4” เนื่องจากเป็นเครื่องใช้ฟ้าขนาดใหญ่ 4 ประเภทหลัก) และคอมพิวเตอร์ ในอัตรา 7-13 หยวนต่อชิ้น (ประมาณ 35-65 บาท) เข้ากองทุนของรัฐ รายได้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่รัฐบาลนำไปใช้อุดหนุนโรงงานรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มลพิษจากการรีไซเคิลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ในอดีต ซากผลิตภัณฑ์ฯ ในประเทศจีนถูกจัดการผ่านระบบรับซื้อของเก่าเช่นเดียวกับประเทศไทย นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้นำเข้าซากผลิตภัณฑ์ฯ จากประเทศที่พัฒนาแล้วรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ จำนวนมหาศาลอย่างไม่ถูกต้องก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ภาพเบื้องหลัง “การรีไซเคิลที่สกปรก” ถูกเปิดเผยในปี 2545 ด้วยฝีมือของเอ็นจีโอที่ติดตามขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งออกจากสหรัฐอเมริกามายังเมืองกุ้ยหยู (Guiyu) มณฑลกวางตุ้ง สารคดีชื่อ “Exporting Harm: The Hi-Tech Trashing of Asia”
ทำให้เห็นชีวิตที่เปลี่ยนไปของเกษตรกรในหลายหมู่บ้านที่เลิกทำนาและจับปลาเพื่อหันมาขุดทองคำและทองแดงจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเครื่องมือง่ายๆ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวและเครื่องมือควบคุมมลพิษ แม้กิจการดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็แลกมาด้วยการปนเปื้อนของสารพิษในธรรมชาติที่ทำให้ชุมชนไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้และต้องนำเข้าน้ำดื่มจากเมืองข้างๆ งานวิจัยในระยะต่อมาไม่เพียงแต่พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารตกค้างและสารก่อมะเร็งในดิน น้ำ อากาศและอาหารในเมืองกุ้ยหยูในระดับที่ไม่เคยเจอมาก่อนเท่านั้น หากแต่ยังพบสารอันตรายเหล่านี้ในตัวคนงาน ชาวบ้านและเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่มีการทำกิจกรรมถอดรื้อและเผาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
ผลของการเปิดโปงในครั้งนั้นกลายเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลจีนแก้ไขนโยบายการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างเร่งด่วน
โดยเริ่มจากการห้ามนำเข้าซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดเข้าประเทศในปี 2546 การออกมาตรการลดการใช้สารอันตราย 6 ประเภทในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2551 จนมาถึงการออกกฎหมายจัดเก็บค่าธรรมเนียมอุดหนุนการรีไซเคิล หลังจากการทดลองให้ผู้ประกอบการดำเนินการแสดงความรับผิดชอบตามสมัครใจไม่ได้ผลในวงกว้างเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายผลของ “โครงการของเก่าแลกของใหม่” ของรัฐบาลที่ให้ส่วนลดในการซื้อสินค้าใหม่เมื่อผู้บริโภคนำซากผลิตภัณฑ์มาให้ผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศในช่วงเศรษฐกิจโลกซบเซา และช่วยให้สามารถรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ฯ 5 ประเภทได้ถึง 82 ล้านชิ้นในเวลาปีกว่า
ทำให้โรงงานและผู้ประกอบการหันปรับปรุงมาตรฐานการจัดการให้สามารถจดทะเบียนกับรัฐบาลเพื่อจะได้มีสิทธิรับซากและเงินอุดหนุนจากโครงการซึ่งเครือข่ายของผู้ประกอบการรีไซเคิลนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ตามกฎหมายในรูปแบบกองทุนของรัฐในช่วงเวลาต่อมา
นอกจากมาตรฐานทางอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกระดับให้เป็นสากลแล้ว การประชุมครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงการพัฒนาของระบบการเก็บรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ที่อาศัยทั้งระบบทางสังคมที่มีอยู่เดิมในรูปแบบของการรับซื้อของเก่าและระบบใหม่ๆ ที่ภาคเอกชน มูลนิธิ เอ็นจีโอ และมหาวิทยาลัยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักและจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างยั่งยืนที่ให้ทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กรณีศึกษาจากหลายเมืองไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน หรือเฉิงตู แสดงให้เห็นถึงพลังของเครือข่ายทางสังคมและเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) โดยระบบใหม่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่มีการให้บริการออนไลน์ที่ผู้รับบริการสามารถใช้สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์และนัดเวลาเก็บขน ตลอดจนติดตามซากผลิตภัณฑ์เพื่อยืนยันว่าของๆ ตนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องด้วยการใช้รหัส QR และแอปพลิเคชั่น WeChat อันเป็นโปรแกรมสนทนายอดฮิตบนมือถือของคนจีน
นอกจากนี้ หลายเจ้ายังมีการสร้างฐานสมาชิกเพื่อให้สามารถสะสมแต้มและนำแต้มไปลดหรือแลกสินค้าและบริการจากพันธมิตรควบคู่ไปกับการเสนอบริการที่หลากหลายไม่จำกัดอยู่เฉพาะการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ตัวอย่างเช่น เปิดให้สามารถจองตั๋วหนังหรือจ่ายค่าสาธารณูปโภคผ่านตู้บริการอัจฉริยะที่ตั้งขึ้นเพื่อรับซากผลิตภัณฑ์ตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สถานศึกษาและสำนักงาน เป็นต้น แน่นอนว่าการลงทุนและการพัฒนาระบบโอทูโอ (Online2 Offline) เหล่านี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากการมีกรอบกฎหมายที่มีความชัดเจนในการให้เงินอุดหนุนกับผู้ที่สามารถรวบรวมซากผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบโรงงานรีไซเคิล
แม้ว่าระดับการจัดการของประเทศจีนจะยังไม่เทียบเท่ากับระบบของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งแต่ละระบบมีการพัฒนามากว่า 10 ปี แต่ก็ถือได้ว่าจีนได้วางรากฐาน และสร้างวัฒนธรรมการจัดการทรัพยากรเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่เพียงแต่ซากผลิตภัณฑ์ แม้แต่การจัดการขยะทั่วไปที่ทุกวันนี้หากใครได้ไปเยือนตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในประเทศจีนก็จะเห็นถังสำหรับแยกขยะที่มีกองทัพพนักงานดูแลทำความสะอาด เก็บขน และคัดแยกวัสดุที่คนทั่วไปอาจจะยังทิ้งไม่เรียบร้อยอย่างแข็งขัน
ภาพประทับใจในการเดินทางครั้งนี้ คือภาพที่คุณพ่อคนหนึ่งกำลังจับมือลูกน้อยให้แยกทิ้งขยะรีไซเคิลลงถังให้ถูกต้องระหว่างเดินอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่งจี้ หลังจากจบการประชุมผู้เขียนได้แวะไปเยี่ยมชมสวนสนุกหุ่นเหล็ก (Mr. Iron Robot Theme Park) ที่เมืองเจียซิง (Jiaxing) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงงานฝีมือจากเศษวัสดุ ซากรถยนต์และซากผลิตภัณฑ์ที่รังสรรค์เป็นประติมากรรมและพื้นที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน พร้อมให้ความรู้และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมจนได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (CNTA) เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ AA และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป
เห็นอย่างนี้แล้วก็ได้แต่ลุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันให้การปฏิรูปการจัดการขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลปัจจุบันให้สำเร็จ เริ่มจากกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่นที่จะเข้าสู่กระบวนการของ สนช. เพื่อให้มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนให้ทุกภาคส่วนทำงานประสานหน้าที่กัน ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทิ้งห่างเราไปมากกว่านี้
เรื่อง ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์
สถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
panate.man@mfu.ac.th