xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวแบบ Green สัมผัสชีวิตแบบอินทรีย์ ที่สวนลุงเขียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชมวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่สวนลุงเขียด
ผักพวกนี้เป็นผักออร์แกนิก ลุงเขียดปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ได้มาตรฐาน IFROAM&EU มีทั้งแปลงผัก ผลไม้
ทริปเดินทางท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไปสวนเกษตรอินทรีย์ลุงเขียดของโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ จ. นครปฐม ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ก็ช่วยทำให้เราได้ความรู้สึกมีความสุขท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้ พืชพรรณผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ

“แต่ละปีมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเรียนรู้วิถีไทยที่สวนสามพรานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข่าวสารกระแสบริโภคอาหารปลอดภัยมีให้เห็นอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น สำหรับสามพรานริเวอร์ไซด์ นับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ใกล้กรุงเทพ และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ภายใน 1 วัน”
อรุษ นาวราช กรรมการผู้จัดการโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ ซึ่งริเริ่มจัดกิจกรรม “ตะลุยสวนลุงเขียด” ให้เป็นอีกทางเลือกกับลูกค้าของโรงแรมและนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เล่าถึงการได้มาเรียนรู้เรื่องวิถีไทย วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ ที่คนและธรรมชาติสามารถพึ่งพากันโดยไม่ใช้สารเคมี
บรรยากาศระหว่างนั่งเรือแจวข้ามฝากจากฝั่งท่าน้ำของโรงแรมสวนสามพรานริเวอร์ไซด์
ขึ้นจากท่าเรือแล้วเดินตามสะพานไม้ไปยังสวนเกษตรกอินทรีย์ของลุงเขียด
อย่างเช่น กิจกรรมตะลุยสวนลุงเขียด ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวใหญ่ที่อยากทำกิจกรรมร่วมกันทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และลูกหลาน
“การที่ครอบครัวได้ลงมือทำร่วมกัน ทั้งปลูก ทั้งเก็บ ทั้งปรุง และกิน พืชผักผลไม้พื้นบ้านอินทรีย์ ไข่เป็ด ไข่ไก่อารมณ์ดีที่เลี้ยงแบบธรรมชาติในบรรยากาศกลางสวน ราวกับเป็นสวนของตนเอง เป็นภาพที่น่าประทับใจ ที่เราอยากให้เกิดขึ้นในทุกๆ วัน เราได้ยินแต่เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม พร้อมมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่มาของพืชผัก วิธีคิด วิธีทำ ความหมายของเกษตรอินทรีย์ และวิธีปลูก ”
ไม่เฉพาะเด็กน้อยเท่านั้นที่รู้สึกตื่นเต้นและสนุกไปกับประสบการณ์ใหม่กับภารกิจ “ตะลุยสวนลุงเขียด” ขนาดรุ่นคุณตา คุณยาย ลุงป้าน้าอา ก็ยังสนใจในขณะที่ได้ชมสวนเกษตรอินทรีย์ของลุงเขียด ได้รับรู้และเข้าใจถึงวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างมากมาย เช่น “ ได้รู้ถึงระบบอินทรีย์ว่าคืออะไร ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์หรือไม่ แล้วปลูกโดยใช้ปุ๋ยอะไรถึงทำให้กล้วยสวนนี้หวานอร่อย ฮอร์โมนเหล่านี้ทำมาจากอะไร แล้วเราสามารถนำไปทำเองที่บ้านได้หรือไม่ เป็นต้น”
ครอบครัวคุณกนกสุวี
ตามไปดู ครอบครัว “พงศ์ประชานนท์” ชมสวนลุงเขียด
เมื่อเร็วๆ นี้ ครอบครัวของ คุณกนกสุวีร์ พงศ์ประชานนท์ หนึ่งในครอบครัวใหญ่ ที่มีสมาชิกรวม 17 ชีวิต ตั้งแต่รุ่นคุณย่า อาม่า อากง จนถึงรุ่นเด็กเล็ก อย่างตี๋น้อย หมวยเล็ก นัดรวมตัวกันเดินทางจากกรุงเทพ ไปเข้าพักที่โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซค์เพื่อทำกิจกรรมตะลุยสวนลุงเขียดร่วมกันในวันหยุดสุดสัปดาห์
ตะลุยเล้าเป็ด เล้าไก่
ตี๋น้อยสนุกกับการเก็บไข่เป็ด
ภารกิจ “ตะลุยสวนลุงเขียด” เริ่มขึ้น เมื่อถึงเวลานัดหมายทุกคนมุ่งหน้าไปที่ท่าเรือ รับปิ่นโตเถาน้อยพกติดกายสำหรับอาหารมื้อกลางวัน จากนั้นเตรียมพร้อมลงเรือแจวข้ามฝากแม่น้ำท่าจีนจากฝั่งโรงแรมไปยังสวนลุงเขียด จากท่าเรือเดินลัดเลาะไปตามสะพานไม้ ชมบรรยากาศในสวนสองข้างทางเต็มไปด้วยผลไม้หลากชนิด แต่ก่อนจะลุยสวนก็ชวนกันแวะพักที่ศาลาทำความรู้จักกับผู้ดูแลสวนนามว่า ”ลุงเขียด” กันก่อน ที่นี่ลุงเขียดจะให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ดั้งเดิม เช่น ดูแลผักและผลไม้ด้วยชีวภัณฑ์ต่างๆ ทั้งฮอร์โมนผลไม้ ฮอร์โมนหน่อกล้วย น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน เป็นต้น

หลังจากได้ข้อมูลพอสังเขป คุณป้า คุณน้า คุณลุง ก็ไม่ลังเล หิ้วตะกร้าคนละใบ ใครชอบผักชนิดไหน อยากรับประทานเมนูอะไร เลือกเก็บกันตามใจ ทั้ง ถั่วพู ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง โหรพา ถั่วดาวอินคา หรือชะอม ระหว่างเก็บผักลุงเขียดก็คอยให้ข้อมูลถึงประโยชน์และวิธีรับประทานของผักแต่ละชนิดไปด้วย เมื่อได้ผักเรียบร้อยแล้ว คราวนี้เป็นหน้าที่ของเด็กน้อยชวน ป้าๆ ลุงๆ ตะลุยเล้าเป็ด เล้าไก่ เก็บไข่อารมณ์ดีมาทำเมนูไข่เจียวเพิ่มอีกจาน

สำหรับความพิเศษของอาหารมื้อนี้ นอกจากเมนูที่ปรุงกันเองสดๆ อย่างผัดผักรวม ไข่เจียวผักรวม ผักสดชนิดต่างๆ ยังมีกับข้าวเมนูพื้นบ้านเลิศรสในปิ่นโตเถาน้อยที่หิ้วมาจากห้องอาหารในโรงแรม มีทั้งน้ำพริก แจ่วเห็ด รับประทานคู่กับข้าวหอมนครชัยศรี ที่ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ในพื้นที่นาของโรงแรมเองอีกด้วย

ขณะที่หลานๆ ตัวน้อย เก็บไข่เก็บผักอย่างสนุกสนาน มุมหนึ่งของศาลาโรงนา อาม่า อากง นั่งทอดกายพักเอาแรง จิบชาบัว อุ่นๆ คอยลุ้นเอาใจช่วยหลานๆ ด้วยรอยยิ้มและแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข

ระหว่างรอลิ้มรสความอร่อยกับอาหารมื้อพิเศษ ลุงเขียด กับเจ้าหน้าที่ของสามพรานริเวอร์ไซด์ ยังเตรียม ผลไม้อินทรีย์ตามฤดูกาลชนิดต่างๆ ทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม มะม่วง ฝรั่ง ไว้บริการ นอกจากนี้ยังมีชาอินทรีย์ ทั้งชาบัว ชาอัญชัน ชาดาวอินคา ชาตะใคร้ คั่วกันแบบสดๆ ให้ได้ชิมกันในบรรยากาศชิวๆ ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมชายนาภายในสวน

ขณะมีความสุขกับการจิบชาอยู่นั้น กลิ่นหอมของไข่เจียวโชยมาตามสายลมพัด สัญญาณกระซิบบอก มื้อเที่ยงแสนอร่อยเริ่มขึ้นแล้ว และเกลี้ยงจานทุกเมนู โดยเฉพาะ เมนูผัก กับไข่เจียวอารมณ์ดี

อาม่า สงวนศรี พงศ์เรขนานนท์ อายุ 79 ปี บอกว่า มื้อนี้ทานอาหารได้เยอะเป็นพิเศษ การร่วมวงกันแบบนี้ทำให้เจริญอาหารสนุก ยิ่งได้กินอาหารที่ปลอดภัย เก็บสดจากสวน ด้วยมือของเราเองทำให้สบายใจ ที่สำคัญทำให้หวนนึกถึงในอดีตเพราะเราเป็นคนต่างจังหวัด และรู้สึกดีมากที่หลานๆ ได้มาร่วมกิจกรรมแบบนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิม ให้เขาได้ รู้จักเลือกอาหารปลอดภัย ให้เขาได้ซึมซับแต่เด็ก

แม้วันนี้อายุกว่า 80 ปี แล้ว การเดินเหินอาจไม่ค่อยสะดวกนัก แต่ยังชอบการเดินทางท่องเที่ยว สำหรับทริปนี้ ทั้งอาม่า และอากง บอกว่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ประทับใจสุดๆ ทั้งบรรยากาศที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ อาการการกิน กิจกรรมต่างๆ การเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ หากมีโอกาสอยากมาอีกหลายๆ ครั้งๆ อยากให้คนอื่นได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้บ้าง

ด้าน ด.ช.พีชญพัฒน์ และ ด.ญ.กรสุวีร์ สถิรกุล บอกว่า เมนูไข่เจียวผักรวมอร่อยมาก สนุกที่ได้เก็บผัก เก็บไข่ มาทำอาหารเอง ได้รู้จักกับผักที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้ชิมชารสชาติอร่อยที่ไม่เคยได้ชิมมาก่อน อย่างเช่น ชาบัวหอมมาก ชาอัญชันก็อร่อยดี คราวหน้าจะพาคุณย่ามาด้วย

“ธรรมชาติใกล้กรุงเทพแบบนี้หายาก จะทำเองที่บ้านก็คงยาก แต่มาที่นี่ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย สวนลุงเขียด เราลุยเรียนรู้กันได้เต็มที่ สมความตั้งใจที่อยากให้ลูกๆ หลานๆ ได้สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมด้วยการลงมือทำจริง ให้เขาได้รู้เรื่องอาหารปลอดภัย ขณะเดียวกันการได้ร่วมวงกินข้าว กลางทุ่งนา ด้วยอาหารที่ทำกันเอง ทำให้ อาม่า อากง ได้ย้อนช่วงเวลาแห่งความสุขในอดีตร่วมกันอีกด้วย” กนกสุวีร์ กล่าวด้วยความชื่นชม
ตั้งวงกันที่กลางศาลาโรงนา
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ กับกิจกรรม “ตะลุยสวนลุงเขียด” ของโรงแรม สามพรานริเวอร์ไซด์ สามารถจองกิจกรรมได้ที่งาน “วันธรรมดาน่าเที่ยว” วันที่ 14-17 พ.ค. 58 โซน C2 หมายเลขบูธ C184 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โทร.034-322-588-93 อีเมล์ hotel@sampranriverside.com หรือ เข้าไปดูข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ www.sampranriverside.com
กำลังโหลดความคิดเห็น