บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งมอบนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ โดยนำร่องในคู่ค้าธุรกิจหลัก (Critical Supplier) 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวัตถุดิบหลักทางการเกษตร กลุ่มเครื่องปรุง และกลุ่มบรรจุภัณฑ์กว่า 200 ราย
ซีพีเอฟ มองเป้าหมายในการร่วมพัฒนาศักยภาพ เพื่อจะยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และได้มีส่วนร่วมกันดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาวมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายตรวจประเมินคู่ค้าธุรกิจหลักได้ครบ 100% ภายในปี 2562
วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีว่า “คู่ค้าธุรกิจ” คือ ห่วงโซ่สำคัญของความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพในด้านคุณค่า รสชาติ และความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ จึงได้กำหนดนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อส่งเสริมกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจให้มีความสอดคล้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเสริมสร้างการเติบโตในระยะยาวไปด้วยกัน ตลอดจนเป็นโอกาสให้บริษัทและคู่ค้าธุรกิจมีส่วนร่วมปรับปรุงและพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยภาพรวม
สำหรับนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Service) ให้ความสำคัญและใส่ใจอย่างยิ่งในเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร” เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต้นทางก่อนส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค ด้านบุคลากร (People) ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมและเคารพในสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการผลิต (Process) ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยต้นทางและพื้นฐานของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และ ด้านการดำเนินงาน (Performance) ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดแนวทางและแผนงานบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานระหว่างปี 2557-2562
นอกจากนี้ การส่งมอบนโยบายและแนวปฏิบัติฯ ไปยังคู่ค้าธุรกิจถือเป็นภารกิจสำคัญ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟมีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ ทำให้มีคู่ค้าธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานจำนวนมากและหลากหลาย บริษัทจึงนำร่องส่งมอบนโยบายฯ ในกลุ่มคู่ค้าธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักเกณฑ์และกระบวนการในการกำหนดคู่ค้าธุรกิจหลัก เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ประกอบด้วย การวิเคราะห์การใช้จ่าย (Spend Analysis) มีปริมาณหรือสัดส่วนธุรกรรมการจัดซื้อเป็นจำนวนมาก, การวิเคราะห์ความสำคัญ (Critical Analysis) เป็นผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือส่วนประกอบหลักที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคุณภาพอาหาร และการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment, Social and Governance: ESG Risk Analysis)
“ซีพีเอฟไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้เพียงลำพัง คู่ค้าจึงเป็นพันธมิตรที่เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทาง คนสำคัญที่ช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไป ดังนั้นการที่คู่ค้าได้นำแนวนโยบายนี้ไปปฏิบัติ จะทำให้ทั้งบริษัทและคู่ค้ามีการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสนับสนุนความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity) ทั้งของคู่ค้าธุรกิจและบริษัท ขณะที่ผลในระยะยาว บริษัทเชื่อว่าการบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานเป็นหนึ่งในหนทางการเสริมสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ด้วยเงื่อนไขการผลิตอาหารที่มีคุณภาพอย่างพอเพียงและทั่วถึง บนพื้นฐานการดูแลและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากความมุ่งมั่นเหล่านี้จะสามารถผลักดันให้ซีพีเอฟก้าวสู่การเป็น “ครัวของโลก” ได้ในที่สุด" วุฒิชัย กล่าว และว่า
สำหรับปีนี้ ซีพีเอฟตั้งเป้าสร้างการมีส่วนร่วมของคู่ค้าธุรกิจหลักครบ 100% โดยในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการจัดประชุมใหญ่ “Supplier Conference” เพื่อเชิญชวนคู่ค้าธุรกิจเข้ามารับฟังแนวทางปฏิบัติ และส่งมอบนโยบายจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจอย่างเป็นทางการ พร้อมเตรียมจัด workshop จำนวน 10 ครั้งใน 5 ภูมิภาค ในช่วงไตรมาส 2-3 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและส่งเสริมคู่ค้าในการประเมินความยั่งยืนของตนเอง (Self-Assessment) อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการวางแผนพัฒนาความยั่งยืนร่วมกันในที่สุด