xs
xsm
sm
md
lg

‘ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย’ ผนึกทุกภาคส่วนพลิกโฉมเมืองไทยให้น่าอยู่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประเวศ วะสี นำภาคีเครือข่าย ทั้งหอการค้าไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และองค์กรภาคสังคม ได้แก่ สสส., มูลนิธิเพื่อคนไทย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, เช้นจ์ ฟิวชัน, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), มูลนิธิชุมชนไทย และอีกกว่า 20 องค์กรเริ่มต้นรวมกว่า 100 เครือข่าย แสดงพลังพร้อมเปลี่ยนสังคมไทย
เวทีเปิดตัวโครงการ “ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย”  หรือ “Inspiring Thailand” โครงการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศ ในงานคนไทยขอมือหน่อย 17 มกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
-งานเปิดโครงการ "ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย : Inspiring Thailand" กลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญ ที่รวมพลังภาคธุรกิจ - สังคม
-ชู 4 โครงการหลักฝ่าวิกฤติที่เรื้อรังให้ พลิกโฉมหน้าประเทศไทยให้กลับมาน่าอยู่ และเติบโตอย่างยั่งยืน

ห้วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญภาวะวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และก่อปัญหาเรื้อรังยาวนาน จนยากที่ใครจะดึงประเทศออกจากวิกฤติได้ นอกจาก “คนไทย” ที่ต้องจับมือกันและเชื่อมโยงพลังเล็กๆ ของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ให้กลายเป็น “พลังใหญ่” พร้อมร่วมมือ “พลิกโฉม” ประเทศไทยให้กลับมาน่าอยู่อย่างยั่งยืนอีกครั้ง
เวทีในงานเปิดตัวโครงการ "ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย : Inspiring Thailand" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ด เซ็นทรัลเวิลด์ จึงได้มีการใช้เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมกับคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคสังคม ซึ่งมุ่งหวังที่จะร่วมกันปฏิบัติการปลุกพลัง สร้างสรรค์ประเทศไทยให้น่าอยู่ เกิดกระแสการร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยของคนไทยทั้งประเทศ
ภายใต้การขับเคลื่อนเปลี่ยนประเทศไทยผ่าน 4 โครงการหลัก ได้แก่ (1) “โครงการจัดทำเป้าหมายร่วมแห่งชาติ” ซึ่งเป็นการระดมความคิดของคนไทยทั้งสังคม เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ ผ่านเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัด (2) “ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” เป็นการลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทย (3) “โครงการเครือข่ายผู้นำแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นการสร้างผู้นำรุ่นใหม่จากทุกภาคส่วนของสังคมในการพัฒนาประเทศ และ (4) “โครงการสื่อสารและโครงการสร้าง Active Citizen” เป็นการสร้างค่านิยมคนไทยรุ่นใหม่ให้เป็นคนตื่นตัวและลงมือทำเพื่อส่วนรวม
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ฉายภาพถึงที่มาและแรงบันดาลใจของโครงการ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ฉายภาพถึงที่มาและแรงบันดาลใจของโครงการนี้ว่า เป็นผลมาจากปัญหาวิกฤติใหญ่ของประเทศไทยที่เรื้อรังมานาน และเกิดปะทุขึ้นมาเพราะวิกฤติ 5 กระแสมาบรรจบกัน ตั้งแต่วิกฤติการเมืองและระบบรัฐที่ขาดคุณภาพและสมรรถภาพ จนเรียกว่ารัฐล้มเหลว วิกฤติเศรษฐกิจที่ยังมีความเหลื่อมล้ำและทิ้งห่างมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาเรื้อรัง, วิกฤติทรัพยากรที่ไม่สามารถจัดการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน, วิกฤติทางศีลธรรมที่มีการฉ้อฉลคอร์รัปชันเต็มประเทศ และวิกฤติคุณภาพคนไทยที่อ่อนแอและขาดความสามารถ แม้จะปฏิรูปทางการศึกษาหลายรอบแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
พอกลายเป็น “วิกฤติครั้งใหญ่ที่สุด” ของไทย และไม่มีใครเป็นพระเอกขี่ม้าขาวจะดึงประเทศออกจากวิกฤติได้ สิ่งที่จะเปลี่ยนประเทศไทยได้ จึงอยู่ที่คนไทยต้องรวมตัวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังสังคมมหาศาล ด้วยเหตุนี้โครงการปลุกพลัง เปลี่ยนไทย จึงเกิดขึ้น เพื่อ “ดึง” ประเทศไทยให้พ้นจากภาวะวิกฤติเรื้อรังและไปสู่ความเจริญที่แท้จริง
หมอประเวศ ทิ้งท้ายว่า การลงมือทำเรื่องใหญ่ๆ นั้น อาจประสบความสำเร็จได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการบริหารจัดการจากภาคธุรกิจที่มีทักษะการจัดการ ร่วมมือกับภาคสังคมที่มีอุดมการณ์ เมื่อสองภาคส่วนนี้ร่วมมือกัน ก็น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นจริงได้
ภายในงานเปิดตัวโครงการฯ ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์รวมพลัง เปลี่ยนประเทศไทย ตั้งแต่ ภาคธุรกิจ ภาคตลาดทุน ภาคการศึกษา/วิจัย ภาคกิจการเพื่อสังคม ภาคสังคม ภาคสื่อมวลชนและภาคประชาชน
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงพลังภาคธุรกิจเชิญชวนสมาชิกและเครือข่าย
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสุรงค์ บูลกุล ประธาน ประธานสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย พร้อมนำภาคตลาดทุนเข้าร่วมโครงการ
@ภาคธุรกิจ - ตลาดทุน
พร้อมปลุกพลังเครือข่าย ลงทุนแบบยั่งยืน
เริ่มที่องค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ อย่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถือว่ามีฐานสมาชิกและเครือข่ายทั่วประเทศจำนวนมาก ปัจจุบันมีสมาชิกของหอการค้าจังหวัดกว่า 3 หมื่นราย รวมทั้งเครือข่ายสมาคมการค้าและหอการค้าต่างประเทศในไทย อีกกว่า 3 หมื่นราย รวมกว่า 7 หมื่นราย
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าพร้อมเชิญชวนสมาชิกและเครือข่าย ร่วมลงมือทำและขยายผลโครงการกับภาคส่วนต่างๆ ด้วยการจัดการที่มีระบบ ตั้งแต่ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานหลัก และสนับสนุนการทำงานโครงการเพื่อสังคมในเชิงพื้นที่
“วันนี้ทุกภาคส่วนของหอการค้าไทย ได้ช่วยกันปลุกระดมความคิด การมีส่วนร่วมของสังคม พร้อมร่วมรณรงค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เรายินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนและร่วมปลุกพลังไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศให้มีความสามัคคี ความยั่งยืน และเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต”
ขณะที่ “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยภาคเอกชน ก็พร้อมร่วมใจปลุกพลัง เปลี่ยนไทย “คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม” รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นโรคร้ายของสังคมไทยมาช้านาน จึงได้ร่วมกันปลูกฝังผู้เยาว์และผู้ใหญ่ให้ร่วมกันต่อต้านผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอด แต่สิ่งที่ต้องขอความร่วมมือคือ การป้องกันไม่ให้เกิดความเย้ายวนต่อการเรียกสินบนต่างๆ เช่น การสร้างความโปร่งใสของข้อมูล การทำสัญญาคุณธรรม การร่วมกันแจ้งและเปิดโปงกับโครงการหมาเฝ้าบ้าน หากคนไทยร่วมมือร่วมใจกันประเทศไทยจะไร้คอร์รัปชัน
ขณะที่ผู้แทนองค์กรตลาดทุน “ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงวิสัยทัศน์รวมพลังว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนี้สนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน จึงไม่ได้มองเรื่องการทำกำไรสูงสุด แต่มองประโยชน์ของสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เป็นหลักด้วย
“ที่ผ่านมาเราได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทย 10 บริษัท ผ่านการประเมินความยั่งยืนให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีแห่งความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และเรายังมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคตลาดทุนและภาคสังคมออกกองทุนคนไทยใจดี เพื่อลงทุนในบริษัทที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และยังดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมและต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย”
สอดคล้องกับแนวทางของ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย “วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ร่วมแสดงพลังด้วยว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประกอบด้วยองค์กรภาคีอีก 7 แห่ง มีความตั้งใจมั่นที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนและตัวเราเองว่า กิจการที่ผู้ลงทุนเข้าไปลงทุน ไม่ว่า หุ้น ตราสารหนี้ จะต้องไม่สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศน์ และต้องสร้างกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาว
“ตลาดทุนไทยเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน สภาธุรกิจตลาดทุนฯ จึงมุ่งที่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และยินดีเชื่อมต่อและขยายผลโครงการปลุกพลัง เปลี่ยนไทยไปยังสมาชิก พร้อมสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศน์ตลาดทุนที่ยั่งยืน”
เช่นเดียวกับ สมาคมบริษัทจดทะเบียน ที่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกพลัง เปลี่ยนไทยครั้งนี้ โดย “สุรงค์ บูลกุล” ประธานสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บอกว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีประมาณ 600 บริษัท ได้เปลี่ยนแนวการบริหารจัดการกิจการเป็นแนวราบ หรือการสร้างผู้นำจำนวนมากแทนแนวดิ่ง โดยตระหนักและให้ความสำคัญถึงความยั่งยืน ความถูกต้อง เป็นธรรม การสร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม
“ปัจจุบันความสามารถในการบริหารกิจการที่เรียกว่า “ใบอนุญาต” หรือ เอกสารที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยราชการไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องเป็นใบอนุญาตที่สังคมยอมรับให้ทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมด้วย เพราะ
คนไทยทุกคนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของประเทศ มีสิทธิ์มีเสียงที่จะอนุญาตให้ธุรกิจดำเนินการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกพลังเปลี่ยนประเทศไทยและขอยกมือให้กับกิจกรรมนี้”

@กิจการเพื่อสังคม “ขยายผล - ต่อยอด” เปลี่ยนไทย
ด้านตัวแทนกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม “อาจารย์เอด้า จิรไพศาลกุล” ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา (GLab) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองและวิสัยทัศน์ด้วยว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือผู้ประกอบการเพื่อสังคม จะมีโอกาสนำความรู้และเครื่องมือทางธุรกิจ มาใช้ขยายผล และต่อยอดงานเพื่อสังคมในวงกว้างอย่างยั่งยืนได้ จึงเชื่อมั่นว่า กลุ่มกิจการเพื่อสังคม จะเป็นหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศไทยและลดช่องว่างสังคมไทย ศูนย์ฯและองค์กรภาคี จึงร่วมกันจัดโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อขยายผลและปลุกพลัง เปลี่ยนไทยได้
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
@ปฏิรูปการศึกษา เชื่อมโยงชุมชน
ภาคการศึกษาและวิจัย เป็นอีกภาคที่เข้าร่วมแก้วิกฤติของประเทศในครั้งนี้ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า พลังความรู้จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยได้ โดยทีดีอาร์ไอมุ่งมั่นที่จะทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นฐานในการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งที่จะทำ 3 เรื่องในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า คือ (1) การหาแนวทางหรือโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2) การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และ (3) การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของประชาชน
“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนเล็กๆ ในสังคม และขอร่วมปลุกพลังปัญญา เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย”
ด้านนักวิชาการการศึกษา “ศ.ดร.ประสาท สืบค้า” ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย แสดงวิสัยทัศน์รวมพลังด้วยว่า การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ แต่ยังมีปัญหาหมักหมมมานาน จึงเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทั้งด้านครูผู้สอน การเรียนรู้ของนักศึกษา การกระจายคุณภาพให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น จึงขอร่วมกับภาคีปลุกพลัง เปลี่ยนประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษา เสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันของประเทศในประชาคมโลกให้มั่นคงและยืนยง
เฉกเช่น “ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม” ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่บอกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมด 40 แห่งทั่วประเทศ และนักศึกษา 4-5 แสนคน ซึ่งมาจากชุมชนต่างๆ ของพื้นที่ ถ้าหากแต่ละคนคิดใหม่ ปรับใหม่ จะสามารถเปลี่ยนประเทศและนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาได้ จึงต้องการเปิดการศึกษาให้เข้าถึงชุมชนให้มากที่สุดและต้องมีคุณภาพ คำนึงถึงทิศทางของสังคมและประเทศ โดยมุ่งที่จะร่วมมือกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันปลุกพลังประชาชนให้เข้มแข็ง ยืนบนขาตัวเอง และยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งที่ไม่ชอบในประเทศนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และประเทศไทย
สอดคล้องกับแนวคิดของ “ดร.พรชัย มงคลวนิช” นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเห็นว่าการศึกษาจะมีคุณภาพได้นั้น จะต้องเชื่อมโยงกับชุมชน สังคม และธุรกิจในพื้นที่ชุมชน เพื่อผลิตบุคลากรในอนาคตที่มีคุณภาพและเป็นพลังอย่างยั่งยืนต่อไป โดยปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ มีประมาณ 75 แห่งและมีนักศึกษา 250,000 คน
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ตัวแทนภาคสังคมร่วมกันเล่าที่มาและรายละเอียดของโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย
@เชื่อม “งาน คน เครือข่าย” พลังเล็ก สู่พลังสังคม
อีกภาคส่วนที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากลุ่มพลังอื่นๆ ก็คือ ภาคสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงและผลักดันสังคมน่าอยู่ ในมุมมองของ “มูฮำมัดอายุบ ปาทาน” บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (ดีพเซ้าท์วอชท์) บอกว่า สิ่งที่เห็นชัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความต้องการขบวนการสันติภาพ ซึ่งต้องเริ่มจากการปลุกให้เกิดสันติภาพย่อยๆ ในภาคสังคมก่อน เพื่อให้เกิดสันติภาพใหญ่ให้ได้ จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน
“ปัจจุบันคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6 พันคน และบาดเจ็บอีกหมื่นกว่าคน เพราะความเกลียดชัง การมองคนไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น พลังในวันนี้ต้องการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายและเท่าเทียมกัน แต่การปลุกพลังคนไทยอย่างเดียวไม่พอ จะต้องรวมพลังคนไทยด้วย เราถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ ประเด็นที่ต้องทำมากที่สุดคือ ต้องปลุกพลังด้วยการเชื่อมต่องาน เชื่อมคน และเชื่อมเครือข่าย เข้าด้วยกันให้ได้”
ในขณะที่นักวิชาการสื่อสารมวลชนและผู้ปฏิบัติสื่อสารมวลชน “รศ.จุมพล รอดคำดี” กรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สื่อพร้อมที่จะใช้เสรีภาพด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบและมีเจตนารมณ์ที่ดีต่อประเทศ จึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยร่วมผลักดันให้สื่อทุกชนิดเดินหน้า เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่

@ภาคสังคม ชวนคนไทยวาดฝัน เปลี่ยนไทยปี 2575
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผยว่า มูลนิธิอาสาขับเคลื่อนงานสร้างวิสัยทัศน์ 77 เวทีระดับจังหวัด ผ่านเครื่องมือสื่อสารประเภทต่างๆ เพื่อนำมาประมวลผลสู่การสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2575 ฉบับประชาชน ภายในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ โดยมีเวบไซต์โครงการ www.inspiringthailand.org เป็นแกนกลางในการเชื่อมช่องทางการสื่อสารอื่นๆ รายงานความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าโครงการ
“วันนี้มูลนิธิฯและเครือข่าย 77 จังหวัด ทั้ง 3 แสนองค์กร จะมารวมปลุกพลัง เปลี่ยนประเทศไทยด้วยกัน เราเชิญชวนพี่น้องประชาคมในเครือข่ายให้ลุกขึ้นมาวาดความฝันอยากเห็นจังหวัดของตัวเองในปี 2575 อย่างไร และยังร่วมมือกับหอการค้าทุกจังหวัด จัดทำระบบฐานข้อมูลและเวบไซต์ ตั้งเป้าหมายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีสมาชิกที่ติดต่อเชื่อมโยงกันได้อย่างน้อย 1 แสนคนต่อจังหวัด และมีระบบฐานข้อมูลของ 3 แสนชุมชนทั่วประเทศ”
ขณะที่ วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิอาสาเป็นผู้ประสานงานในส่วน“ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ” พร้อมเชื่อมต่อและบูรณาการทรัพยากร เช่น ทักษะความเชี่ยวชาญ เครือข่าย เงินทุน และศักยภาพขององค์กรที่มีความหลากหลายให้เข้ามาสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคสังคม
“ร้อยโครงการ เปลี่ยนประเทศไทย เป็นโครงการสำคัญในการเปิดพื้นที่ลงมือทำ เพื่อร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ และลงมือปฏิบัติด้วย โดยเราจะต้องใส่ทรัพยากร เครือข่าย ประสบการณ์จากหลายส่วน เพื่อขยายผลให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ให้ได้”
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า วันนี้เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของการรวมตัวของทุกภาคส่วนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ ในส่วนของสสส. เรามีเครือข่ายร่วมทำงานภาคสังคม 1.5 หมื่นองค์กร แต่ละปีเรามีโครงการ 3 พันโครงการ เครือข่ายและองค์กรทั้งหมดจะมาร่วมกันขับเคลื่อนปลุกพลัง เปลี่ยนประเทศไทยครั้งนี้
นอกเหนือจากองค์กรภาคสังคมในฐานะภาคประชาชนกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มเยาวชนชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม มูลนิธิ ไว.เอ็ม.ซี.เอ. กรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างของภาคประชาชนที่รวมพลังกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีส่วนร่วมเพื่อประเทศไทย โดยตัวแทนจากเยาวชนกลุ่มนี้ ได้แก่ ด.ญ.ศิริวิมล คงวิชา (เบล) ด.ญ.ณัฐธิตา นิมนรัมย์ (แพท) และด.ญ.ธิติวรดา นิธุรัมย์ (เลย์) ร่วมกันเล่าว่า ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ รวมมีสมาชิกทั้งหมด 15 คน ช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน โดยนำอาหารข้าวแกงจากวัดศรีบุญเรือง จัดใส่เป็นชุดๆ ไปเยี่ยมผู้สูงอายุแต่ละบ้าน รวมทั้งช่วยทำความสะอาดบ้าน เก็บกวาดบ้าน ล้างจาน ช่วยจัดยา เป็นต้น เยาวชนกลุ่มนี้สะท้อนมุมมองว่า แม้พวกเขาจะยังเป็นเยาวชน ก็สามาถช่วยเหลือสังคมได้ อยากให้เยาวชนคนอื่นๆ ร่วมปลุกพลังเปลี่ยนไทยด้วยกัน
ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ในฐานะของภาคประชาชน บอกเล่าด้วยว่า ที่ดินทำกินเป็นฐานชีวิตของครอบครัวและชุมชน และเป็นฐานทางวัฒนธรรมอันอบอุ่นของสังคมไทย การที่มีผู้ไร้ที่ดินทำกินและเกษตรกรกว่า 30 ล้านคน กำลังจะสูญเสียที่ดินทำกิน จึงเป็นปัญหากัดกร่อนสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องมาร่วมกันปลุกพลัง เปลี่ยนไทย ร่วมกันปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินให้ทุกชีวิตเข้าถึงสิทธิในที่ดินและทรัพยากร เพื่อสร้างฐานสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในระยะยาว
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ร่วมแสดงพลังภาคการศึกษาและการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ
@ชวนคนไทย “ออกเสียง ออกแบบประเทศไทย”
หนึ่งในเครื่องมือที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของคนไทยทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ก็คือ การเข้าร่วม “โครงการออกเสียง ออกแบบประเทศไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย จัดทำขึ้น
“รศ.ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โครงการนี้ต้องการสำรวจความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศ 1 แสนคน ในการหาคำตอบถึงภาพฝันประเทศไทยที่ประชาชนต้องการเห็น และสิ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นผู้ลงมือทำ “ทุกพลัง ทุกเสียง ของคนไทยทุกคน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนประเทศได้ ฉะนั้น หากฝันอยากเห็นบ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร อยากให้เป็นแบบไหน หนึ่งมือ หนึ่งเสียงของทุกคนเป็นพลังสำคัญออกแบบประเทศไทย เชิญชวนมาร่วมกันให้ข้อเสนอแนะ”
“รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์” ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความเห็นว่า โครงการนี้ส่งเสริมการปลุกพลัง ต้องเปิดพื้นที่ให้กว้างที่สุดเท่าที่คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึง โดยโครงการออกเสียง ออกแบบประเทศไทย จะเชื่อมเข้าไปกับเวที 77 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนแต่ละจังหวัดร่วมแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงใช้ช่องทางสื่อสารอีกมากมาย นอกจากสื่อโซเซียลมีเดียแล้ว ยังมีเครือข่าย V Voice คอยสำรวจความคิดเห็นจากคนทั่วไป และทาง ตู้ ปณ. เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงได้
นอกจากนั้น การเชื่อมต่อกับช่องทางสื่อสารมวลชน ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง ยังทำได้อีกมาก และช่องทางสุดท้าย คือ รายการสื่อประเภทสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น
“ธวัชชัย แสงธรรมชัย” กรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย บอกว่า การสร้างบ้านต้องให้ทุกคนที่อยู่มีส่วนร่วมกันออกแบบว่าอยากจะมีบ้านแบบไหน โครงการนี้จึงเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถร่วมกรอกแบบสอบถาม หรือคลิกไปกรอกแบบสอบถามทางออนไลน์ที่ www.khonthaivoice.com และอีกช่องทางคือ การตอบแบบสอบถาม ซึ่งร่วมกับหอการค้า ออกไปเดินทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย เพื่อรวบรวมเสียงที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต แต่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เพื่อให้ร่วมกันออกเสียงออกแบบบ้านร่วมกัน
ขณะที่ “สุนิตย์ เชรษฐา” ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ฯ กล่าวว่า สื่อใหม่หรือโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน จึงได้สร้างเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เชื่อมต่อเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัดและร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวความคืบหน้าของโครงการผ่าน Inspiringthailand.org ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น