โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร์
“บ้านทับคริสต์” หรือที่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงเรียกว่า “บ้านในคริสต์” ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชากร 1,100 กว่าคนของหมู่บ้านเป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกทั้งหมด
หมู่บ้านคริสต์แห่งนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของคริสตจักรแห่งประเทศไทย ซึ่งราวปี 2512 ได้ขออนุมัติที่ดินจากกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (เกษตรและสหกรณ์) ให้มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานีดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรเพื่อทำกิน บรรดาคริสตศาสนิกชนที่รู้ข่าวทยอยอพยพกันเข้ามาจับจองที่ดินจนเต็มพื้นที่ในราวปี 2517
จำลอง บุญลา ผู้รับผิดชอบโครงการ “ผัก : สายสัมพันธ์สู่ทับคริสต์ วิถีชีวิตที่พอเพียง” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการร่วมสร้างชุมชน และท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. เล่าว่า ในอดีตทุกคนที่นี่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน มีการช่วยเหลือกันและกัน เพราะต่างร่วมในชะตากรรมยากลำบากมาด้วยกัน แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ในชุมชนไม่เหนียวแน่นเหมือนเดิม จำกัดวงอยู่ในเครือญาติ และคนใกล้ชิด การปฏิสัมพันธ์ และความผูกพันกันในชุมชนน้อยลง
“การปลูกฝังความเชื่อให้แก่บรรดาเยาวชนมีความยากลำบาก เพราะขาดผู้นำ ไม่มีนักบวชเข้ามาติดตามเยาวชนอย่างต่อเนื่อง พวกเขายังรับค่านิยม และวัฒนธรรมแบบทุนนิยม ติดมือถือ ตามเพื่อน จบ ม.3 ก็ไปเรียนที่อื่น ความสัมพันธ์ในชุมชนกับครอบครัวก็ลดลง ชวนไปวัดจึงยาก ต่อไปไม่คิดว่าเยาวชนจะอยู่ในชุมชน”
แม้จะเป็นชาวสุราษฎร์ธานี แต่คนทับคริสต์ไม่พูดภาษาใต้ เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกที่อพยพมาจากภาคกลาง มีพื้นฐานของการทำสวนผลไม้ ปัจจุบันชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่พบว่าชาวบ้านเป็นหนี้สินบริษัทสินเชื่อ บัตรเครดิต และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนสูง ราคาผลผลิตตกต่ำ ฝนตกไม่ตามฤดู สภาพดินแย่ลง ค่าแรงสูง หาคนงานยาก จึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากปลูกผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจพวกปาล์ม และยางพารา
จำลอง เล่าว่า คนบางส่วนเริ่มคิดว่าการทำสวนผลไม้นั้น เป็นความผิดพลาดของหมู่บ้าน
“ลูกหลานออกไปทำงานข้างนอก โดยเฉพาะในเมือง ไม่ได้สืบต่องานของครอบครัว การทำเกษตรลดลง เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ทำ มีเพียง 10% ที่ยังทำเกษตรในพื้นที่ของตนเอง หมู่บ้านเราจึงเหลือแต่กลุ่มผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ”
การเปลี่ยนแปลงวิถีมาทำสวนยาง หรือสวนปาล์มทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เพราะการมีส่วนร่วมสังคมลดลง บางคนขายที่หน้าถนน ตัวเองถอยร่นเข้าไปหลังสวน มีมุมมองต่ออนาคตแบบยอมจำนน ไม่คิดทวนกระแส ปล่อยไปตามกระแสสังคม และมองไม่เห็นทางออก
“ผมมองว่าการเลี้ยงดู และอบรมลูกของคนที่นี่ไม่เข้ากับวิถีชีวิตทางเกษตรของตนเอง ทำให้ลูกไม่ผูกพัน และไม่คิดถึงงานเกษตรอีกต่อไป รวมทั้งพ่อแม่คิดว่าไม่อยากให้ลูกลำบากต้องมาทำเกษตรเหมือนตนเอง ชุมชนมองว่า หน้าที่การปลูกฝังอบรมเด็กและเยาวชนเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ และนักบวช ขาดการเผยแพร่และการอบรมความรู้ด้านเกษตรที่ต่อเนื่อง ขาดการประมวลองค์ความรู้ในพื้นที่ ขาดการติดตาม อีกทั้งไม่ได้ปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิด”
จำลอง มองว่าควรปลูกฝังลูกหลานให้ทำการเกษตร การสร้างผู้นำ หรือแกนนำในชุมชนที่มีความรู้เท่าทัน เพื่อจุดประกายความคิดขึ้นใหม่ เช่น วิถีเกษตรแบบคนรุ่นใหม่ วิธีการปลดหนี้ เป็นต้น โดยต่อยอดแนวคิดในการพัฒนา ซึ่งเน้นการพัฒนาตนเองและการเติบโตด้วยตนเอง
“ปัจจุบันเยาวชนมีความเคารพต่อผู้อาวุโสน้อยลง เข้าวัดน้อยลง พ่อแม่ไม่เคี่ยวเข็ญให้มาวัด เน้นการเรียนพิเศษมากกว่า พวกเขาขาดจิตสำนึกในการเลือกใช้ชีวิต ขาดมิติการอบรมให้คริสตชนเติบโตในความเชื่อแบบมีวุฒิภาวะ และพึ่งพาตนเอง” จำลอง กล่าวและเสริมว่า
“ส่วนพ่อแม่มักจะกลัวลูกลำบาก จึงมักไม่ให้ลูกทำงาน หรือเผชิญต่อความยากลำบากบ้าง เด็กๆ รุ่นใหม่จึงเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความสะดวกสบาย มีพร้อมทุกอย่าง อีกทั้งพ่อแม่ตามไม่ทันความเจริญที่มาเร็ว ทำให้สังคมเสื่อม”
จำลอง เพิ่มเติมว่า และเรื่องที่เป็นกังวลกันทุกบ้านคือ เยาวชนติดยาเสพติด โดยเฉพาะน้ำกระท่อม มีค่านิยมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ลุ่มหลงทุนนิยม อิทธิพลจากสื่อ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย การสร้างหนี้ การเล่นหวย ความร่วมมือในชุมชน ในชุมชนไม่สามารถตักเตือนกันและกันได้
จากปัญหาดังกล่าว จำลอง ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานสังคมของศูนย์ร่วมกันพัฒนาชนบท (IRDC) ประจำชุมชนของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก จึงได้เริ่มกระบวนการทำงานด้วยการนำกลุ่มเด็กผู้หญิงที่เป็นนักขับร้องที่อยู่ในความรับผิดชอบมาทดลองขับเคลื่อนกิจกรรมกลุ่มวันเสาร์ พัฒนาความสามารถในการขับร้องเพลงโบสถ์ พัฒนากระบวนการกลุ่มด้วยการทำงานปลูกผัก ลงแปลงผักด้วยกัน ออกเยี่ยมผู้สูงอายุเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ และต่อยอดด้วยการทำโครงการเสนอ สสส.เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ครอบครัวของเด็กคาทอลิกที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ในนามกลุ่มเด็กยุวธรรมทูต
การพูดคุยกับชุมชนเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา เขาเห็นว่า ต้องเริ่มฟื้นฟูชุมชนใหม่ที่เน้นเรื่องครอบครัว หาทางให้เด็กได้คิดถึงวิธีการรักการทำเกษตรสืบต่อไว้ รักพื้นดินถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของตนเอง
“ผมทำกิจกรรมโดยใช้ศาสนาเป็นพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง มีกิจกรรมของกลุ่มเด็กนักขับร้องสู่กิจกรรมวันเสาร์ ช่วยกันเพาะต้นไม้ แล้วนำไปให้ผู้สูงอายุปลูกต่อ”
เป้าหมายสำคัญของโครงการคือ ลดช่องว่างระหว่างเด็ก และผู้สูงอายุ นำเด็กลงแปลงผัก ลงคลุกดินและทำผักไฮโดรโปนิก เมื่อผักโตเด็กเก็บผักกลับไปกินที่บ้านได้ ชวนเด็กไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ถ้าที่บ้านผู้สูงอายุมีแปลงผักก็ทำกิจกรรมปลูกผักร่วมกับผู้สูงอายุ ให้คนแก่ช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่รักผืนแผ่นดิน รักอาชีพเกษตร และนำสวด
“ในปี ค.ศ.2020 หมู่บ้านเราจะครบ 50 ปีของการก่อตั้ง ทางศาสนาคริสต์ถือว่าเมื่อก้าวขึ้นสู่ปีที่ 50 เป็นปีทีศักดิ์สิทธิ์ เป็นปีโมทนาคุณพระเจ้า เป็นปีที่พระเจ้าอวยพร โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำพวกเราไปยังจุดนั้น”
จำลอง เล่าว่า ชาวบ้านต้องการนำบ้านทับคริสต์ไปสู่การเป็นชุมชนคาทอลิกที่มีความเชื่อ ที่มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลาง ทำให้จิตวิญญาณของเราดี มองออกไปรอบข้างเพื่อครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อมุ่งไปสู่ความสัมพันธ์ การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้เป็นครอบครัวคริสตชนที่แท้จริง
เท่าที่ดำเนินโครงการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก จากเด็กที่อยู่บ้านติดทีวี ติดเกม แต่ถึงวันนี้เด็กจะถามว่าเมื่อไรจะถึงวันเสาร์ เพราะอยากมาร่วมกิจกรรมวันเสาร์ สำหรับประชาชนทั่วไปในวันอาทิตย์เข้าโบสถ์ เริ่มเปลี่ยนมามีกิจกรรมการประชุม พูดคุย กินกาแฟหลังพิธีมิสซา ทำให้เกิดการประสานระหว่างโรงเรียน วัดและศูนย์ร่วมกันพัฒนาชนบท
“ทุกวันนี้กระแสยุคใหม่เข้ามาตีสังคม สถาบันครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ เรายึดตรงนี้มาต้านกระแสบริโภคนิยม ปัจเจกนิยม เราเอาวิถีจุดแข็งทางศาสนามาเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วเราจะบอกเด็กๆ ว่าสิ่งสำคัญทางศาสนาคืออะไร ซึ่งก็คือความรัก การแบ่งปัน”
จำลอง หวังว่า เด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับการหล่อหลอมตรงนี้น่าจะเกิดสิ่งที่ดีต่อชุมชน เมื่อพวกเขาเรียนจบ และทำงาน พวกเขาอาจหวนกลับมาหมู่บ้าน หรือไม่กลับมาก็ได้ แต่ได้มีการปลูกฝังวิถีชีวิตที่พอเพียงให้ติดตัวพวกเขาไปแล้ว
บุญช่วย นักพรรษา หญิงวัย 70 ปี ซึ่งอพยพเข้ามาทับคริสต์ในรุ่นที่ 2 ในปี 2514 เล่าว่า ทุกวันอาทิตย์ชาวบ้านที่นี่ก็ไปร่วมกันสวดมนต์ภาวนาที่วัด ทำพิธีขอบคุณพระเจ้า หลังจากเสร็จแล้วบางกลุ่มก็มีการประชุมต่อ
“ดิฉันเองมีหน้าที่ติดตามเยี่ยมเยียนบ้านที่ตกทุกข์ได้ยาก คนป่วย คนชราที่โรงพยาบาล สัปดาห์ก่อนกลุ่มเราขอให้เพื่อนหายป่วย พอได้อย่างที่ขอก็มาร่วมขอบคุณพระเจ้า”
บุญช่วย บอกว่า ในวาระครบ 50 ปีที่จะมาถึงในปี 2020 นั้น อยากให้หมู่บ้านมีความกระตือรือร้น มีการพัฒนา ช่วยกันทำหมู่บ้านให้ดีขึ้น ให้มีความรักกัน ช่วยเหลือกัน ปรึกษาหารือ แนะนำ แบ่งปัน ไม่เห็นแก่ตัว
เธอเล่าว่า การปลูกผักได้แลกเปลี่ยนกัน แบ่งปันผลผลิต แม้จะมีการขายผัก แต่ก็แถมให้ด้วย ชวนเขาปลูก ถ้าเขาไม่มีเมล็ดเธอก็จะให้เมล็ด แบ่งปุ๋ย น้ำหมัก น้ำส้มควันไม้
“แต่คนรุ่นหลังมักง่าย ไม่ชอบมานั่งขุดดินปลูกผัก อยากกินก็ซื้ออย่างเดียว เขาบอกว่าเหนื่อย เห็นแดดก็กลัว ไม่เหมือนคนแต่ก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับพ่อแม่ที่ปลูกฝังกันมา”