xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมมลพิษ เอาจริง “ลด-งดใช้โฟม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



จากวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่หันไปนิยมความสะดวกสบาย ส่งผลให้คนไทยใช้ภาชนะโฟมมาก ในช่วง 5 ปีเพิ่มอีกเท่าตัว จากวันละ 34 ล้านใบ เป็น 61 ล้านใบ คพ. เร่งเดินหน้าลดภาษีพลาสติกชีวภาพ พร้อมรณรงค์หน่วยงานรัฐงดใช้โฟม ชี้กำจัดยาก 450 ปีถึงย่อยสลาย
วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง
วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทยทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงพลาสติกและโฟม ซึ่งผลจากการศึกษาของ คพ.พบว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2552-2556 ปริมาณโฟมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวันละ 34 ล้านใบ เป็นวันละ 61 ล้านใบ หรือโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยสร้างขยะประเภทโฟมเพิ่มขึ้นวันละ 1 ใบ
สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันตระหนักถึงความสะดวกสบายและความรวดเร็วมากกว่าผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสังคมเมือง หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของประชาชนเป็นจำนวนมากจะพบว่ามีขยะประเภทโฟมมากกว่าปกติ
อธิบดีคพ. กล่าวว่าโฟมถูกทิ้งเป็นขยะด้วยปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากเป็นขยะที่มีความคงทนและสามารถทนต่อแรงอัดได้สูง และใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี ในการเผาทำลายโฟมนั้นก็ต้องทำในอุณหภูมิให้อยู่ภายใต้การควบคุมที่ถูกต้อง เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชน
นอกจากนี้ เมื่อถูกนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัดจะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาจะทำลายไขกระดูก ทำลายตับ และไต รวมทั้งอาจเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลงและทำลายระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายได้
อธิบดีคพ. กล่าวถึงนโยบายคพ. มีแนวทางเพื่อลดปริมาณการใช้โฟมและถุงพลาสติกให้ได้ ว่าเวลานี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว. ทส. มีนโยบายออกมาชัดเจนแล้วว่า สำหรับร้านค้าภายในหน่วยงานของ ทส.ทุกพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสวนสัตว์ จะต้องไม่ใช้โฟม หรือถุงพลาสติกในการบรรจุอาหารเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าเรื่องของถุงพลาสติกนั้นบางแห่งยังมีการใช้กันอยู่บ้าง เพราะยังหาวัสดุมาทดแทนไม่ได้ สิ่งที่คพ.จะต้องทำ คือการไปจัดการที่ต้นเหตุ คือ ผลักดันให้มีการลดภาษีกล่องพลาสติกที่ผลิตจากชานอ้อย เยื่อไผ่ มันสำปะหลัง ซึ่งสลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อให้ราคาถูกลง จะได้มีคนใช้มากขึ้น โดยในส่วนของ คพ.ได้รณรงค์เรื่องนี้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ร้านค้าในสำนักงาน คพ.เวลานี้ปลอดทั้งโฟมและถุงพลาสติก 100%
ด้าน นิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือไปยังอุทยานฯทุกแห่งทั่วประเทศแล้วว่า ให้กวดขันกับร้านค้าภายในอุทยานฯทุกแห่งไม่ให้ใช้โฟมหรือถุงพลาสติก เพราะเป็นสิ่งที่กำจัดยาก และหากมีการทิ้งเพ่นพ่านไม่ถูกที่จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าที่อาจจะเผลอกินเข้าไป ซึ่งในส่วนของโฟมนั้นได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่ส่วนของถุงพลาสติกประเภทถุงแกง ถุงก๊อบแก๊บยังมีอยู่บ้าง ก่อนฤดูกาลท่องเที่ยวได้สั่งการแต่ละอุทยานฯ นอกจากอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวแล้วต้องกวดขันเรื่องความสะอาด ทั้งต้องขอร้องไม่ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯเอาโฟมเข้าไปในอุทยานฯ และเมื่อกลับออกมาต้องนำขยะออกมาทิ้งด้วย
ทั้งนี้ ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อม โดยโฟมและพลาสติกก็เป็นขยะที่กำจัดได้ยาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีขยะสูงถึง 28 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก 2 จำนวน 139 ตึกนำมาต่อเรียงกัน ซึ่งคนไทยผลิตขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่วนปัญหารองลงมา คือ มลพิษทางอากาศ ซึ่งพบ 3 พื้นที่ประสบปัญหามาก คือ หน้าพระลาน สระบุรี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ กทม.

บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยดีต่อโลกมากกว่าโฟม
การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้นั้นเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศมาก่อนหน้านานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ที่ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ถุงพลาสติกชนิดบางตั้งแต่ปี 2002 ต่อมาปี 2005 ไต้หวันประกาศงดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่ประกาศว่าปี 2010 ประเทศเขาจะปราศจากกล่องโฟมและถุงพลาสติกเช่นกัน ขณะในปี 2007 นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ประกาศห้ามใช้กล่องโฟม และถุงก๊อบแก๊บ เป็นต้น
หันหลังกลับมาดูประเทศไทย แม้ยังไม่มีมาตรการเข้มข้น แต่ก็มีบางองค์กรที่สนับสนุนให้นำบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มาใช้แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หันมารณรงค์กันอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าคุณสมบัติใช้บรรจุอาหารได้เหมือนกัน แต่เรื่องคุณภาพและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย หรือจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ นั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกมากกว่าแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต หรือกระบวนการย่อยสลาย
ผู้ให้กำเนิดนวัตกรรมสีเขียวนี้ คือ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ซึ่งเปิดตลาดบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยตรา "ไบโอ" ในต่างประเทศมากว่า 6 ปีแล้ว โดยมีสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นตลาดหลัก โดยผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารหลากหลายประเภททั้งจาน ชาม ถ้วย แก้ว กล่องใส่อาหาร ถาดหลุม สามารถขึ้นรูปได้ตามที่ต้องการกว่า 70 แบบ ทำจากเยื่อกระดาษชานอ้อยธรรมชาติ ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล
ที่จริงกระบวนการผลิตก็ไม่ได้ซับซ้อน แถมเรียบง่าย และประหยัดพลังงานกว่า เนื่องจากใช้ไอน้ำแทนไฟฟ้า ไม่ก่อให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิต ไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสี (เทคโนโลยี ECF) ผลิตภัณฑ์จึงมีสีน้ำตาลอ่อนตามสีชานอ้อยธรรมชาติ แถมยังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV จึงมั่นใจได้ว่าสะอาดและปลอดภัยต่อเราและโลกแน่นอน
ส่วนที่เจ๋งสุดก็คือ บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยทั้งหมดนั้นผ่านการทดสอบด้านการย่อยสลายจากทาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) แล้วว่า สามารถย่อยสลายได้หมดเกลี้ยงภายใน 45 วัน หลังจากฝังกลบในดิน และเพียง 31 วันเท่านั้น หากฝังกลบพร้อมกับเศษอาหารที่เหลือติดอยู่ ซึ่งแตกต่างจากพวกพลาสติกหรือโฟมที่ใช้เวลาย่อยถึง 450 ปีเป็นอย่างน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น