สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดตัวต้นแบบงานออกแบบ 18 ผลิตภัณฑ์ จากการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบแปลงโฉมหญ้าแฝก สู่เป้าหมายสูงสุดในการยกระดับเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิตของชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ร้านภัทรพัฒน์พร้อมเดินหน้าเลือกผลิตภัณฑ์เจาะตลาดแบบตอบโจทย์
จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากการได้รับคัดเลือกเป็นคณะอนุกรรมการโครงการประกวดผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกของบริษัท ปตท.และมูลนิธิชัยพัฒนา จึงพบว่าทิศทางในการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกน่าจะได้รับการจัดระบบความคิดให้กับชุมชน
โดยแยกการพัฒนาเป็น 3 ระดับ ระดับแรก คือเส้นใย ระดับที่สอง คือการทำหญ้าแฝกให้เป็นผืน เช่น การถัก การทอ เป็นต้น หรือเทคนิคที่เรียกว่า Non Woven และระดับที่สาม คือการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ จึงเกิดการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างนักศึกษาสาขาออกแบบสิ่งทอ คณะสถาปัตย์ฯ ชั้นปีที่4 มาพัฒนาร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน ต.โคกปรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
เริ่มต้นด้วยการนำนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากกลุ่มแม่บ้าน 3 วัน 3 คืน ทำให้รู้วิธีการต่างๆ ที่ชาวบ้านใช้ ไม่ว่าจะเป็นการมัดเม็ดมะยม การทอเสื่อแฝก เป็นต้น แล้วนำโจทย์กลับมาออกแบบ จากนั้น จึงนำกลับไปหากลุ่มแม่บ้านเพื่อสอบถามและหาข้อมูลว่าชาวบ้านสามารถผลิตได้หรือไม่ และคำแนะนำ รวมทั้ง มีความคิดเห็นอย่างไร แล้วจึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยคณะกรรมการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ต้นแบบจะนำไปพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริงในร้านภัทรพัฒน์
ในด้านกายภาพของหญ้าแฝกนั้นต้องมีการควั่นเกลียวเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ซึ่งการควั่นเกลียวทำให้เกิดลวดลายเพิ่มขึ้นอีกด้วยโดยสามารถควั่นเกลียวกับแฝกหรือกับวัสดุอื่น เช่น ฝ้าย ไหม หรือแม้กระทั่ง ลวด และทองแดง เป็นต้น ซึ่งในโครงกาารนี้มีนักศึกษานำแฝกมาควั่นเกลียวกับทองแดง แล้วนำมาทอ หรือการนำแฝกไปรวมกับสารเคมี เช่น การชุบด้วยอิพอกซีเรซิน ทำให้มีความแข็งแรงอยู่เป็นทรงได้ เป็นต้น
การออกแบบ 18 ผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ ทุกชิ้นงานมีความท้าทายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการชุบด้วยอิพอกซีเรซินแล้วนำมาออกแบบเป็นรองเท้าแตะ การควั่นด้วยทองแดงแล้วออกแบบเป็นโคมไฟ การนำมาขดแล้วถักโครเชออกมาเป็นที่รองจาน เป็นต้น เพราะการออกแบบแต่ละชิ้นงานมีโจทย์แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ต้นแบบที่ได้ออกมาในวันนี้ในแง่ของการออกแบบไม่ต้องพัฒนาแล้ว แต่ส่วนที่ต้องพัฒนาคือระบบการผลิตแบบหัตถอุตสาหกรรม
สำหรับตัวอย่างชิ้นงานที่มีความโดดเด่นในการพัฒนา 3 ระดับ ตัวอย่างแรกคือการนำแฝกไปชุบอีพอกซีเรซินซึ่งเป็นพัฒนาในระดับเส้นใย เพราะทำให้แฝกมีความแข็งแรงและนับเป็นนวัตกรรมซึ่งยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน ตัวอย่างที่สองคือการนำแฝกมาถักโครเชซึ่งเป็นพัฒนาในระดับผืน ตัวอย่างที่สามคือการมีรูปแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัย
นอกจากนี้ เนื่องด้วยสถาบันฯ มีนโยบายในการต่อยอดองค์ความรู้ แนวทางต่อจากนี้จึงจะเป็นการวิจัยด้านการออกแบบ ด้วยการศึกษาว่าหัตถกรรมซึ่งเริ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจะสามารถต่อยอดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์หรือมีผู้บริโภคนำไปใช้แบบร่วมสมัยได้อย่างไร เพราะมีความเชื่อว่างานวิจัยไม่ควรอยู่บนหิ้ง โดยไม่มีผลผลิตที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ตามโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกสำหรับร้านภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อนำองค์ความรู้ในการพัฒนาหญ้าแฝกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน จากขั้นแรกคือการบูรณาการโครงการพัฒนาดังกล่าวให้เข้าไปอยู่ในวิชาเรียน
“ย้ำว่าการพัฒนางานหัตถกรรมอะไรก็ตามต้องมองอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับเส้นใย ระดับการทำให้เป็นผืน ตั้งแต่หน่วยย่อยถึงภาพใหญ่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่พัฒนาเพียงรูปแบบฉาบฉวยภายนอก เพราะเมื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบในทุกระดับแล้วจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เข้มแข็ง”
ภากมล รัตตเสร ผู้อำนวยการโครงการภัทรพัฒน์ กล่าวว่าเนื่องจากโครงการประกวดผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกนั้นยังมีจุดที่ควรจะเพิ่มเติมเพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่สามารถนำโครงการดังกล่าวไปต่อยอดได้ ในบ้างครั้งเอกชนหรือบุคคลเป็นผู้ส่งประกวด และจากประสบการณ์ที่โครงการภัทรพัฒน์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว พบว่าผลิตภัณฑ์เดิมๆ ที่ชาวบ้านผลิตออกมานั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ยังมีช่องทางในการพัฒนาศักยภาพอีกมาก
สำหรับส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์มองว่าสามารถพัฒนาจากนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ เพราะมูลนิธิฯ ไม่มีงบประมาณมากพอในการจ้างดีไซเนอร์แพงๆ ขณะที่ มหาวิทยาลัยมีความต้องการพัฒนานักศึกษา และแม้ว่าจะมีอุปสรรคในเรื่องระยะทางที่นักศึกษาจะต้องเดินทางไปไกลถึงเพชรบูรณ์ แต่เพราะเราดูแลอย่างดี และการที่กลุ่มเพชรบูรณ์มีความพร้อม มีความเข้มแข็ง และมีเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นค่อนข้างชัดเจน ทำให้การพัฒนาบรรลุเป้าหมายได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ออกมา
“นอกจากการที่ชาวบ้านจะได้พัฒนาฝีมือ และเทคนิคที่อาจจะได้จากนักศึกษา จากการเปิดใจรับโดยคิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญต่อไปคือเราจะต้องมองถึงเรื่องการขายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น สำคัญที่สุดคือทำแล้วต้องขายได้ แต่ยอมรับว่าตลาดผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกยังไม่เปิดกว้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อดีไซน์ที่ออกมาสวยงาม มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มนำไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ในคอนโดฯ หรือบ้านสมัยใหม่”
ปัจจุบันทั่วประเทศมีกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกให้กับร้านภัทรพัฒน์ 10 กว่ากลุ่ม จากที่มีอยู่ทั้งหมด 20-30 กว่ากลุ่ม ซึ่งมูลนิธิฯ พยายามพัฒนากลุ่มชาวบ้านให้เป็นเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานการทำงานร่วมกัน ในแนวทางที่ชาวบ้านสามารถพัฒนาความรู้และฝีมือไปพร้อมกับการรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตนเองได้เป็นอย่างดี เช่น ลายน้ำไหลของกลุ่มชาวบ้านที่พะเยา
จากการเปิดร้านภัทรพัฒน์มาตั้งแต่ปี 2552 และผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายพบว่าชาวบ้านมีการพัฒนาฝีมือขึ้นมากและมีเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคุณภาพและมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่งานหัตถกรรมมีข้อจำกัดในการผลิต ไม่ใช่งานที่เป็นผลิตจำนวนมาก หรือ Mass Product และผลิตภัณฑ์บางอย่างจึงมีเพียงหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้น จึงมีแนวทางการทำตลาดเฉพาะหรือทำเป็นคอลเลคชั่น ในรูปแบบ made to order และเน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้า
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจากการนำออกแสดงในงานแสดงสินค้าของใช้และของตกแต่งบ้าน (BIG&BIH) ที่ผ่านมาในปี 2557 พบว่ามีการตอบรับจากตลาดต่างชาติค่อนข้างสูงโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น จึงมองว่าตลาดมีทิศทางสดใส
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการนำหญ้าแฝกมาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและชุมชน ตามแนวพระราชดำริโดยนำร่องออกแบบพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก บนพื้นที่โครงการพระราชดำริ ต.โคกปรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เมื่อนำเทคนิคการออกแบบของนักศึกษามาผสมผสานกับการถักทอของกลุ่มแม่บ้าน นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือก จะถูกนำไปผลิตจริง และจัดจำหน่ายภายในร้านภัทรพัฒน์ ของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นลำดับต่อไป