xs
xsm
sm
md
lg

เร่งไทยขึ้นแท่นฮับพลาสติกชีวภาพ มุ่งต่อยอดวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากซ้าย - ณัฎฐยา อรรจนานันท์, ดร.ธาริณี นามพิชญ์ และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์
“สถาบันพลาสติก” เร่งสนับสนุนไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางพลาสติกชีวภาพแห่งหนึ่งของโลก เดินหน้าสร้างองค์ความรู้มุ่งเตรียมความพร้อมภาคธุรกิจ เน้นช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดในประเทศตั้งแต่ต้นน้-ปลายน้ำ “คอนเซปต์ ทรี” เดินหน้าพัฒนาสินค้า “กรีน ไลฟ์สไตล์” ส่ง “Thai Thumb” ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก เจาะกลุ่มรักษ์โลก

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวโน้มภาพรวมของพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยว่า เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเริ่มมีการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กลุ่มปตท.ทำให้ในส่วนของต้นทุนคือเม็ดพลาสติกลดลงจากเดิมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่พืชผลทางการเกษตรของไทยมีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างดีในเรื่องวัตถุดิบ เช่น อ้อยหรือน้ำตาลที่ผลิตได้ปีละหลายล้านตัน ใช้เพื่อการบริโภคไม่กี่แสนตัน จึงเหลือให้ใช้อีกมาก ในแง่การเพิ่มมูลค่าเมื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกจะได้ราคากิโลกรัมละประมาณ 80 บาท แต่เป็นน้ำตาลบริโภคราคากิโลกรัมละ 20 กว่าบาท
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนนักวิจัยเพื่อค้นหาและพัฒนาวัสดุที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพียงแต่ที่ผ่านมายังมีผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม การส่งออกเป็นเป้าหมายสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวต่อไปได้ เนื่องจากศยังมีโอกาสอีกมาก เช่น บางประเทศในยุโรปมีกฎหมายให้ใช้พลาสติกชีวภาพเป็นบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สถาบันฯ พยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลาสติกชีวภาพแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่นโยบายรัฐบาลสนับสนุนเนื่องจากสามารถเพิ่มมูลค่าและนำไปต่อยอดให้กับสินค้าเกษตรของไทยได้ เช่น อ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง เป็นต้น สิ่งที่สถาบันฯกำลังดำเนินการอยู่คือ การสนับสนุนในเรื่องการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ
“สถาบันฯ เข้ามาเสริมในส่วนของกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง โดยนำเม็ดพลาสติกชีวภาพมาออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและช่วยเลือกกระบวนการผลิตให้มีขนาดที่เหมาะสมกับตลาดที่ผู้ประกอบการต้องการ นั่นคือ การเข้ามาเสริมให้ธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพขับเคลื่อนไปได้ง่ายขึ้น โดยมีบทบาทในการสร้างต้นแบบและเมื่อพัฒนาเสร็จก็ส่งต่อให้เครือข่ายเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตเพื่อเข้าสู่กระบวนการธุรกิจต่อไป”
“เรานำงานวิจัยต่างๆ มา up scale เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้สถาบันมีองค์ความรู้ใหม่ๆ และสามารถถ่ายทอดต่อไป เช่น สถาบันฯ มีผู้เชี่ยวชาญในการขึ้นรูป นำเม็ดพลาสติกชีวภาพมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดฝึกอบรมและได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้ช่างฝีมือได้ฝึกทักษะและมีความรู้ใหม่ๆ”
ที่ผ่านมาเป็นการวิจัยและพัฒนา แต่ต่อนี้ไปสถาบันฯจะต่อยอดอย่างจริงจังให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายในการนำความรู้จากกระทรวงวิทย์ฯ มาขยายผลให้ได้ โดยในภาพใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับหลายส่วนเพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ดร.เกรียงศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า สถาบันฯ เตรียมพร้อมสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ เช่น ศึกษาและเก็บเทคโนโลยีการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น จากนั้นจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นอกจากนี้ ยังเริ่มปรึกษากับมหาวิทยาลัยต่างๆ นำงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม เพราะสถาบันฯ มีเครือข่ายเอกชนประมาณ 600 ราย ร่วมดำเนินการ โดยพยายามเชื่อมโยงทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม

ดร.ธาริณี นามพิชญ์ ตัวแทนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่องพลาสติกชีวภาพ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 โดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง แต่เมื่อผู้ประกอบการคือ บริษัท คอนเซปต์ ทรีต้องการพัฒนาเครื่องเขียนที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทางวช.จึงติดต่อเข้ามาให้โครงการคิดค้นสูตรเพื่อผลิตเครื่องเขียนที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพร้อยเปอร์เซ็นต์โดยให้มีส่วนผสมของพืชเศรษฐกิจของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจ
จึงเกิดการพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพ โดยนำยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของไทย มาปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมี แล้วผสมกับเม็ดพลาสติก ทำให้มีคุณสมบัติดีขึ้น สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องเขียนต่างๆ รวมถึง thumb drive ได้อย่างดีและยังช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ เนื่องจากราคายางพาราต่ำกว่าพลาสติกชีวภาพ โดยยังสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ตั๊มไดรฟ์ ในชื่อ  “Thai Thumb” ขนาดบรรจุ 4GB เป็นผลิตภัณฑ์นำร่องออกสู่ตลาดก่อน
ณัฎฐยา อรรจนานันท์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท คอนเซปต์ ทรี จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความเชื่อที่ว่า “กรีน ไลฟ์สไตล์” จะเป็นวิถีแห่งความยั่งยืนเพื่อให้คนและโลกอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ให้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนและGadgets (Thumb Drive) ที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งโอกาสทางการขายของผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมและสามารถนำงานวิจัยไปใช้ได้จริงเชิงพาณิชย์
บริษัทฯ จึงได้นำผลวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและยางพารามาผลิตเป็นสินค้าต้นแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผลการวิจัยพบว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เคยได้รับข้อมูลเรื่องพลาสติกชีวภาพ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ตรงในการใช้สินค้า จึงมองเห็นช่องทางที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้เลือกผลิต ตั๊มไดรฟ์ ในชื่อ “Thai Thumb” ขนาดบรรจุ 4GB เป็นผลิตภัณฑ์นำร่องเพื่อออกสู่ตลาดก่อน
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ Thai Thumb” เน้นการทำตลาดแบบ B2B เพื่อองค์กรธุรกิจที่มีนโยบายสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในอนาคตจะมีการวางสินค้าจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไป อย่างไรก็ตาม นอกจากผลิตThai Thumb แล้ว บริษัทฯยังมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอื่นโดยใช้พลาสติกชีวภาพและยางพารา อาทิ ปากกา กล่องเครื่องเขียน ฯลฯ ออกมาตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่สนใจสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น