แนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการปลูกฝังความรู้และค่านิยมเชิงอนุรักษ์ให้เยาวชน นับเป็นอีกทางหนึ่งในการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการสร้างต้นแบบ “โรงเรียนคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon School) ที่โรงเรียนวัดธรรมจริยา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อาศรมพลังงาน (Energy Ashram) ภายใต้สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้าไปจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประหยัดพลังงาน เศรษฐกิจพอเพียง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุนในการส่งเสริมการเรียนรู้และจัดกิจกรรมของโรงเรียน เช่น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ การจัดตั้งธนาคารขยะ และการจัดสร้างห้องเรียนประหยัดพลังงาน
หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เชฟรอนประเทศไทยให้ความสำคัญมาก เราทำงานใกล้ชิดกับอาศรมพลังงานและโรงเรียนวัดธรรมจริยามาตั้งแต่ปี 2555 รวมถึงการสนับสนุนหลักสูตรพิเศษส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประหยัดพลังงาน เศรษฐกิจพอเพียง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยพนักงานจิตอาสาของเชฟรอนเองร่วมในกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้รักษ์พลังงาน ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ เทคนิค และวิธีการประหยัดพลังงานให้กับนักเรียนต้นแบบ
ในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา เราเห็นผลสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อทางโรงเรียนสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ด้วยการใช้โซลาร์เซลล์ เกิดการลดขยะ การนำขยะมาใช้ซ้ำ และการนำมารีไซเคิล (Reduce, Reuse, Recycle) และเด็กนักเรียนต่างสนใจและช่วยกันดูแลระบบโซลาร์เซลล์และจัดทำโครงการประหยัดพลังงานต่างๆ กันอย่างแข็งขัน เราเห็นว่าโรงเรียนวัดธรรมจริยานั้นมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพที่จะเป็นโรงเรียนต้นแบบในด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากภาวะโลกร้อน (Global warming) เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลัน ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาลจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา
ด้าน นริศรา หว่างอาจ ครูผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับหลักสูตรโรงเรียนคาร์บอนต่ำ โรงเรียนวัดธรรมจริยา เล่าให้ฟังว่า “โรงเรียนวัดธรรมจริยาเริ่มนำหลักสูตรโรงเรียนคาร์บอนต่ำมาสอนให้กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในปี 2555 เพื่อให้นักเรียนรู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน แต่เป็นโลกร้อนที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน หลักสูตรโรงเรียนคาร์บอนต่ำเชิงบูรณาการนี้ครอบคลุมเนื้อหาที่กว้าง ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ บริบทของชุมชน พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การเรียนการสอนของหลักสูตรนั้นวางไว้ 4 ภาคการศึกษา ในแต่ละวิชามีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้คิดวิเคราะห์และลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมรณรงค์กินข้าวให้หมดจาน เพื่อปลูกฝังให้เด็กช่วยลดปริมาณขยะโดยเฉพาะเศษอาหาร นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมห้องเรียนประหยัดพลังงาน โดยฝึกให้เด็กปิดไฟ ปิดพัดลม เมื่อเลิกใช้ห้องเรียน ไม่ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย และสุดท้ายเป็นกิจกรรมธนาคารขยะ เพื่อเป็นการลดขยะและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ”
เพื่อเป็นการเชื่อมโยงปัญหา จากการมองเห็นขยะในโรงเรียนในแต่ละวันที่มากมาย ประกอบด้วยอะไรบ้าง จะนำมารีไซเคิลได้หรือไม่ เราเริ่มด้วยการคัดแยกขยะ ซึ่งจะเป็นการสำรวจและนำตัวเลขมาเป็นฐานข้อมูล เช่น ในหนึ่งสัปดาห์เกิดขยะประมาณ 39 กิโลกรัม ถ้านาน 1 เดือน 1 ปี มีปริมาณเท่าใด ถ้าเป็นชุมชนเราจะมีมากเท่าใด เราให้นักเรียนวิเคราะห์ออกมา ถ้ามีขยะกองเป็นภูเขาจะมีผลกระทบอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและความตระหนักให้กับเด็กๆ
นอกจากนี้ ยังสอนให้เด็กรู้จักการใช้ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถือเป็นการสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยแนวทางคาร์บอนต่ำอีกด้วย”
นริศราบอกว่า “นอกจากนั้น การส่งเสริมให้เด็กได้รู้เรื่องพลังงาน ทำให้เด็กได้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงเรียน โดยโรงเรียนจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันทั้งหมด ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟไปได้โดยเฉลี่ยจากเดือนละ 7,000 บาท เหลือเพียงเดือนละ 2,000 บาท เหล่านี้แสดงให้เด็กเห็นว่าการใช้พลังงานทางเลือกก็สามารถช่วยประหยัดพลังงานหลักได้มาก ซึ่งทางเชฟรอนได้เข้ามาสนับสนุนการติดตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมุมให้ความรู้เรื่องพลังงานอีกด้วย ทำให้เด็กได้เข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงการนำวิทยากรจากเชฟรอนมาบรรยายให้ความรู้เรื่องการจัดการพลังงานให้กับเด็กๆ ทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวและรับรู้ถึงขั้นตอนต่างๆ ในการสำรวจค้นหาและผลิตพลังงาน ว่ากว่าจะได้มาต้องทำอะไรบ้าง และมีความยากลำบากแค่ไหน และทำไมจึงต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน"
เด็กๆ เรียนรู้ และเข้าถึงแนวทางรักษ์โลก
เด็กหญิงนภาทิพย์ รื่นวิชา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวว่า “หลักสูตรโรงเรียนคาร์บอนต่ำนี้ทำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ผลกระทบมีอะไรบ้าง และเรามีส่วนช่วยลดภาวะเรือนกระจกอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่ปลูกต้นไม้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่สามารถช่วยได้ เช่น การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การทำไบโอดีเซล การทำน้ำหมัก น้ำส้มควันไม้สำหรับทำการเกษตร และการทำน้ำยาล้างจาน การทดลองต่างๆ สามารถนำไปใช้งานได้จริงที่บ้านได้ อย่างการคัดแยกขยะ นอกจากนี้ยังได้รับความรู้จากวิทยากรที่มาบรรยายเกี่ยวกับพลังงาน ทำให้ทราบว่าพลังงานต่างๆ กว่าจะได้มาก็ยาก น้ำมันไม่ได้ขุดหากันง่ายๆ และเราใช้ไปในแต่ละวันก็จะหมดลดลงไปเรื่อยๆ”
ขณะที่ เด็กหญิงปนัดดา บัวแดง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เผยประสบการณ์ว่า “สิ่งที่ได้จากโรงเรียนสามารถนำเอาไปปรับใช้กับที่บ้านและชุมชนได้ เช่น ที่บ้านมีเศษไม้ก็นำมาเผาทำเป็นถ่านใช้ สามารถปลูกผักกินเองได้ไม่ต้องซื้อ และที่สำคัญชุมชนจะชอบทิ้งขยะ เราก็จะไปช่วยรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะและนำมาขายที่ธนาคารขยะ ลดการเผาและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนสะอาด น่าอยู่และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยลดโลกร้อนอีกด้วย”
นอกจากนี้ เด็กชายสุทธิพงษ์ วรรณโคตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยังสะท้อนมุมมองได้อย่างน่าสนใจว่า “พลังงานหายาก กว่าจะได้มาเหนื่อยยากลำบาก หากใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัด สักวันพลังงานก็จะหมดไป ควรหันมาช่วยกันประหยัดพลังงาน เช่น ปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดพัดลม หากเดินทางใกล้ๆ ควรปั่นจักรยาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ หลายๆ คนก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล”