เดือนธันวาคมนี้ มีผู้ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับต่างๆ จำนวน 17,668 ราย ซึ่งในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงงานสร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการได้รับการรับรองมาตรฐาน CSR-DIW AWARD จำนวน 112 ราย ทำให้ชุมชนและโรงงานเข้าใจกันยิ่งขึ้น และจะนำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกันต่อไป
อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงโครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ว่าเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเลือกเครื่องมือเชิงนโยบาย “ เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2557 โดยแบ่งกิจกรรมหลักเป็น 4 องค์ประกอบ คือ
1.สร้างระบบการติดตามและการรายงานผล มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการหลัก
2.ส่งเสริมผ่านนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน มีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดำเนินการหลัก
3.ส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืนผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว มีกลุ่มเป้าหมายหลักคืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการหลัก
4.สร้างความตระหนักด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน มีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการหลัก ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการ SWITCH Asia
“การดำเนินโครงการดังกล่าว ถือเป็นข้อบ่งชี้ถึงความพยายามดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้บทบาทจะต่างกัน แต่มีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในสังคมไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีการผลิตที่ยั่งยืนผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม”
ขณะเดียวกันการดำเนินการไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco-Town ในปีนี้ก็ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกับท้องถิ่น ชุมชน และธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยการหารือและตกลงร่วมกันในการกำหนดทิศทางพัฒนาพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีระบบตัวชี้วัด (Key Performance Indicator: KPI) ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับการพัฒนาและการประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้นในระดับสากล