ศูนย์ข่าวศรีราชา - เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะภาคตะวันออก ย้ำต้องจัดการขยะตามแผนของกรมควบคุมมลพิษ พร้อมเสนอความต้องการ 4 ข้อ หากยังไม่มีคำตอบเชิงบวก พร้อมยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกากายนที่ผ่านมา ได้มีการรวมตัวของชาวบ้านจาก จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว สมุทรปราการ ราชบุรี และสระบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการขยะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ
ล่าสุด วานนี้ (24 พ.ย.) ประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะรวม 8 จังหวัด เข้าร่วมประชุมพหุภาคีร่วมกับภาครัฐทั้ง 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ที่ ทส.โดยมี นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล ปลัด ทส.เป็นประธาน พร้อมด้วยอธิบดี รองอธิบดีกรควบคุมมลพิษ ตัวแทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมประชุม
ซึ่งภาคประชาชนได้ขอให้มีการจัดการขยะแห่งชาติ ตามแผนของกรมควบคุมมลพิษ โดยการดำเนินการที่ผ่านมา ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนสามารถสร้างปัญหาในการจัดการขยะแห่งชาติให้หนักหนาสาหัส และแก้ไขได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ทำให้ยังไม่มีแผนบูรณากาจัดการปัญหาในเชิงนโยบายที่ชัดเจน
ทั้งประเด็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ซึ่งได้มาจากหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น การปะปนกันของขยะชุมชน ขยะมีพิษ ขยะอุตสาหกรรม กากอุตสาหกรรมอันตราย และขยะติดเชื้อ ซึ่งในหลายพื้นที่ถูกทิ้งปะปนกันในบ่อเดียว ซึ่งจะใช้การจัดการแบบโลกสวยแก้ปัญหาไม่ได้ และยังมีเรื่องการทำแผนการจัดการขยะระดับจังหวัดอย่างอิสระ ที่สร้างความชอบธรรมให้มาเฟียจัดการขยะในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นทำอะไรได้ง่ายขึ้น
ดร.สมนึก กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้จะสร้างปัญหาในการจัดการขยะให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้น ภาคประชาชนจึงนำเสนอ 4 ข้อต่อภาครัฐทั้ง 4 กระทรวง คือ 1.ภาคประชาชนต้องการให้มีการชะลอโรดแมปการจัดการขยะของชาติไว้ก่อน จนกว่าจะมีกลไกการบูรณาการจัดการปัญหาขยะเชิงนโยบายที่เหมาะสม และชัดเจน 2.ภาคประชาชนต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสร้างกลไกการทำงานร่วมกันในการทำแผนการบริหารจัดการขยะระดับนโยบาย ที่แก้ปัญหาได้จริงโดยไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะต่อชุมชน
3.ภาคประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบแผนการบริหารจัดการขยะในระดับนโยบาย และระดับจังหวัด ตามลำดับ ร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ 4.ภาคประชาชนต้องการให้มีการทดลองใช้แผนการบริหารจัดการขยะที่ออกแบบมานี้ในพื้นที่เดียวก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าแผนที่ออกแบบนั้นสามารถแก้ปัญหาได้จริง ไม่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของชุมชน และเมื่อผลการทดลองออกมาว่า ระบบการจัดการขยะนั้นดีพอแล้ว จึงขยายแผนการจัดการไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“ทั้ง 4 ข้อนี้ วันที่ 28 พฤศจิกายน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรม สาธารณสุข และมหาดไทย จะได้ไปหารือกับรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง และจะแจ้งกลับมายังภาคประชาชน หากยังไม่มีการตอบสนองเชิงบวก พวกเราจะรวมตัวกัน และยกระดับโดยไม่มีการเจรจาต่อภาครัฐอีกต่อไป”