“จักรมณฑ์” เร่งเครื่องนโยบายกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ดันตั้งนิคมฯ กำจัดกาก เล็งพื้นที่ราชการ รูปแบบจัดตั้งอาจให้ “กนอ.” ดำเนินการเองหรือให้เอกชนสนใจดำเนินการ คาดสรุปกลางปี 2558 ดำเนินการได้ปี 2560 ใช้พื้นที่ประมาณ 1 หมื่นไร่ โดยเล็ง 3 ที่ คือ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมโครงการอบรมการกำจัดกากอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานที่มีของเสียอันตรายและกิจการที่เกี่ยวข้องกับขยะอุตสาหกรรมทั้งระบบทั่วประเทศว่า กระทรวงมีเป้าหมายที่จะผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม คาดว่าภายในกลางปี 2558 จะสรุปแนวทางทั้งหมดได้
“รูปแบบการดำเนินงานนั้นมี 2 แนวทาง คือให้ กนอ.ลงทุนเอง หรือส่งเสริมให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งเอกชนเองหลายรายก็มีความพร้อมแต่ติดที่หาที่ดินยาก ซึ่งทาง กนอ.และ กรอ.เองก็จะไปดูพื้นที่ส่วนราชการจากกรมป่าไม้และพื้นที่ทหารซึ่งกำลังประสานงานอยู่” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับแผนดำเนินการเร่งนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบปี 2557 ตั้งเป้าจะมีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดกากที่ถูกต้องทั้งสิ้นจำนวน 1.2 ล้านตัน จากปัจจุบันเข้าระบบอยู่เพียงจำนวน 9 แสนตันจากปริมาณกากทั้งสิ้น 3 ล้านตัน และในปี 2558 กระทรวงฯ ตั้งเป้าปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าระบบจำนวน 1.5 ล้านตัน พร้อมกับจะเข้มงวดให้เอกชนดำเนินการกำจัดกากอย่างถูกระบบมากขึ้น หากไม่มีการรายงานปริมาณกากจะลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง
นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกรมป่าไม้ และกรมการอุตสาหกรรมทหาร ในการดูพื้นที่เหมาะสมเพื่อการจัดตั้งนิคมฯ กำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นนิคมฯ ที่ดำเนินการทั้งกากอุตสาหกรรมทั่วไปและกากอันตราย ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมจะมีประมาณ10,000 ไร่ แต่ที่จะใช้เพื่อการกำจัดกากจริงๆ จะใช้เพียง 5,000 ไร่ ที่เหลือจะเป็นการทำพื้นที่กันชน (บับเบิลโซน) เอาไว้ป้องกันสิ่งแวดล้อมในอนาคต คาดว่าจะสรุปแนวทางได้ภายในกลางปี 2558 และจะเริ่มเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2560
“เบื้องต้นพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯ จะต้องอยู่ในพื้นที่ตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก อย่างละ 1 แห่ง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก และการลงทุนก็จะเฉลี่ยอยู่ที่แห่งละ 1-1.5 หมื่นล้านบาท และนิคมฯ แต่ละแห่งจะสามารถรองรับปริมาณกากอุตสาหกรรมได้ในระยะยาวประมาณ 20 ปี โดยส่วนของเอกชนก็มีสนใจคือองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ของญี่ปุ่น และทาง บมจ.อมตะ” นายวีรพงษ์กล่าว