xs
xsm
sm
md
lg

Green culture : บ้านชะอม..โรงงานผลิตออกซิเจนเพื่อโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเพาะต้นกล้า
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน บ้านชะอม ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี ก็มีสภาพเหมือนหมู่บ้านในชนบททั่วไปที่ชาวบ้านเป็นเกษตรกร มีอาชีพทำนา ทำไร่กัน และมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก แต่ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ ดร.มีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เข้ามาพลิกชีวิตของชาวบ้าน ด้วยการประสานงานจับคู่ความช่วยเหลือระหว่างบริษัทเอกชน คือ บริษัท สวิดิช มอเตอร์ ในเครือรถยนต์วอลโว่ และบริษัท มีโร่ แอนด์ไรมอนด์แลนด์ กับหมู่บ้านชะอม

โดยได้เข้ามาสอนให้พวกเขารู้จักและทำอาชีพปลูกต้นไม้ใหญ่ สำหรับประดับอาคารสถานที่ พร้อมนำเมล็ดพันธุ์กล้าไม้โตเร็ว ประมาณ 15 ชนิดมาแจกจ่าย เช่น ตะแบก เสลา อินทนิล นนทรี ประดู่ป่า ฯลฯ และยังให้เงินช่วยเหลือในการปลูกไร่ละ 4,000 บาท หรือครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายไร่ละ 8,000 บาท พร้อมทำสัญญารับซื้อต้นไม้ที่ปลูกทั้งหมด

การเปิดทางสู่การเรียนรู้วิถีการปลูก การบำรุงรักษา การย้ายและการขายต้นไม้ หนทางนี้ไม่เพียงเป็นการให้เบ็ดแก่ชาวบ้านชะอม ให้รู้จักหาปลา แต่เป็นการสอนให้พวกเขาลงมือ ลงแรงด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดเป็นองค์ความรู้ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปลูกไม้ยืนต้น และก่อเกิดเป็นสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมในที่สุด
เพาะต้นไม้จากเมล็ด
ตุ้มไม้
ถอดบทเรียนความสำเร็จ

ลุงสายบัว พาศักดิ์ เป็นชาวบ้านรุ่นแรกๆ ที่มีความอดทน รอให้ต้นไม้ที่พวกเขาลงแรงปลูกเริ่มเติบโต และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ เมื่อได้เริ่มลิ้มชิมรสชาติของความสำเร็จ คือการมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการปลูกต้นไม้ยืนต้นขาย

เขาและชาวบ้านรุ่นบุกเบิก จึงเลือกที่จะมีวิถีการดำเนินชีวิตอยู่กับอาชีพขุดล้อมไม้ โดยเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่การเพาะเมล็ด การปลูก การฝึกฝนวิธีย้ายต้นไม้ บำรุงรักษาตั้งแต่รากจนเติบโต อีกทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ เป็นอาชีพที่มั่นคง และกลายมาเป็นวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวชะอมในทุกๆ วัน คือ ตื่นแต่เช้าไปดูแลต้นไม้ที่ปลูก บำรุงราก บำรุงลำต้น พอสายๆ ก็ทำการล้อมไม้ ย้ายไปวางแผง และรอการจำหน่าย

เมื่อพื้นที่ที่เคยมีต้นไม้อยู่ว่างลง ก็จะปลูกใหม่ทันที ทำให้มีต้นไม้เพียงพอสามารถตอบสนองความต้องการของเมือง ที่ต้องการต้นไม้วันเดียวโตไปไว้ในบ้าน ในโครงการ หรือบนท้องถนน เพื่อเป็นปอดให้กับชาวเมือง ด้วยวิถีทางเช่นนี้หน้าที่ของชาวชะอมจึงไม่ต่างอะไรจากโรงงานผลิตออกซิเจน ให้กับโลกนั่นเอง

รูปแบบการทำอาชีพไม้ขุดล้อมของชาวชะอมนั้นพัฒนาจาก “การปลูกเองแล้วส่งขาย” มาเป็น “การปลูกเองขายเอง” จากนั้น ก็เป็นการสร้างตลาด สร้างแผงไม้อยู่ใกล้ๆ กัน ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าได้ง่าย จนกระทั่ง ณ วันนี้ ในหมู่บ้านมีรถเครนใช้บรรทุกต้นไม้กว่า 200 คัน และถนนทั้งสายเต็มไปด้วยแผงขายต้นไม้กว่า 300 แผง หรือเรียกกันว่า “ตลาดนัดไม้ขุดล้อม”

ลุงสายบัวเรียนรู้เรื่องราวการปลูกต้นไม้ด้วยตนเอง เขารู้ว่าในแต่ละช่วงเวลาต้นไม้ต้องการอะไร เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ และรู้ถึงวิธีปลูกต้นไม้ให้อยู่รอด เขาบอกว่าโอกาสที่ต้นไม้ซึ่งพวกเขาจำหน่ายออกไป จะตายมีน้อยมาก เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ความภูมิใจไม่ได้อยู่แค่เพียงการได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่หากเป็นการได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน การส่งต่อต้นไม้จากแผงไม้หรือแหล่งปลูก ไปยังสถานที่ของลูกค้า ในทุกๆ คราวเขาทำด้วยความระมัดระวัง และทำด้วยความรู้ เพื่อให้ต้นไม้ทุกต้นมีชีวิตรอด และเติบโตได้อย่างสวยงามในบ้านหลังใหม่ของมัน
ตามคำบอกเล่าของลุงสายบัว ลูกค้าที่มาซื้อไม้ขุดล้อมที่บ้านชะอมมาจากทั่วทุกสารทิศ โดยที่หมู่บ้านฯ จะมีต้นไม้ให้เลือกหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ประเภทใบสวยหรือดอกสวยก็ตาม ที่สำคัญที่นี่มีให้เลือกหลายขนาดและหลายราคา แถมยังมีบริการปลูกถึงบ้าน ถือเป็นแหล่งขายไม้ขุดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
นักเรียนมาร่วมกันปลูกต้นไม้
เมื่อคุณค่าปรากฏ

เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของคนในชุมชนบ้านชะอม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มายาวนานในการประกอบอาชีพ “ไม้ขุดล้อม” ในปี 2547 ทางโรงเรียนชุมชนวัดบำรุงธรรม ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ก็ได้เปิดสอนหลักสูตรไม้ขุดล้อม ตั้งแต่ ม.1-ม.3 เป็นหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ โดยนำปราชญ์ชาวบ้านอย่างลุงสายบัวมาเป็นวิทยากร รวมทั้งพาเด็กๆ ไปปฏิบัติจริงในแผงไม้ของชุมชน ซึ่งปรากฎว่านักเรียนจำนวนไม่น้อยสามารถขุดล้อมต้นไม้ได้อย่างชำนาญ เพราะได้รู้ ได้เห็นและลงมือทำมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากหลายครอบครัวทำธุรกิจไม้ขุดล้อมอยู่แล้ว

ปัจจุบันต้นไม้ของหมู่บ้านชะอมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปอดให้ชาวเมืองในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปอดเพิ่มออกซิเจนให้กับเมืองใหญ่ อย่างสิงค์โปร ไต้ไหวัน และอีกหลายประเทศที่มีการสั่งซื้อต้นไม้จากหมู่บ้านชะอม

จุดเด่นของหมู่บ้านชะอม คือการมีแผงไม้ให้ลูกค้าได้เลือกมากมาย แผงไม้แต่ละแผงก็มีการตกแต่งให้ดูดี เช่น ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เลือกโชว์ต้นไม้ที่มีฟอร์มสวยๆ บางแผงบางสวนใช้การออกแบบสถาปัตยกรรมมาตกแต่งแผงเพื่อให้เตะตาลูกค้าที่ผ่านไปมา โดยนำต้นไม้ที่มีฟอร์มสวยงามที่สุดมาโชว์อยู่ด้านหน้า ทำให้สองข้างทางหมู่บ้านชะอมมีความร่มรื่นและเขียวขจี

ความสำเร็จของชุมชนบ้านชะอมได้พิสูจน์ให้ผู้คนได้เห็นกันแล้วว่า การให้ข้อมูล ให้ความรู้ ให้ความคิดและให้โอกาสกับชุมชนนั้นสำคัญเพียงใด สำหรับบ้านชะอม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือจากคนจนธรรมดา ทำเกษตรไปวันๆ เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ จากพื้นที่รกร้างก็กลายเป็นแหล่งปลูกต้นไม้ยืนต้นที่สำคัญของอาเซียน จากสังคมของผู้คนที่มีแต่หนี้สิน ก็มีการรวมตัวเกื้อกูลช่วยเหลือกัน และเป็นกำลังหลักในการดูแลสังคมให้มีความสุขมากขึ้น

ขณะที่องค์ความรู้อันเกิดขึ้นจากประสบการณ์การทำอาชีพไม้ขุดล้อมนั้นมีคุณค่ายิ่งต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ลุงสายบัว พาศักดิ์

2 รุ่น 2 บทสรุป

สายบัว พาศักดิ์ : ผู้บุกเบิก-ปราชญ์ไม้ขุดล้อม

สายบัว พาศักดิ์ ผู้บุกเบิกการทำไม้ขุดล้อม เล่าว่า วิธีการทำไม้ขุดล้อมของที่นี่เริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ด เฝ้าเลี้ยงดูให้มันค่อยๆ เติบโต ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงธรรมชาติของต้นไม้ทุกส่วนตั้งแต่ราก ลำต้น กลายเป็นความรัก ความผูกพัน ทุกต้นที่เราปลูก เราจะดูแลอย่างดี ตอนเริ่มต้นมีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 5 ไร่ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จจนสามารถขยายได้ถึง 5 พันไร่

สมหมาย กาลสุข : ผู้สืบทอดยุคสอง

สมหมาย กาลสุข สานต่อการทำไม้ขุดล้อมยุคที่สอง มีความเชี่ยวชาญเรื่องไม้ล้อมขั้นเทพอีกคนหนึ่งของบ้านชะอม เล่าว่า ช่วงเหมาะสมที่สุดในการปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นไม้เล็กหรือไม้ใหญ่คือ ช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน โดยมีการเตรียมดินและเตรียมแปลงปลูก จากนั้นประมาณช่วงปีใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม

เมื่อต้นไม้ออกดอกแล้ว จะออกเมล็ด จากนั้นจึงไปเก็บเมล็ดมาเพาะลงแปลงชำ เพื่อเตรียมกล้าไม้ที่จะนำไปขายให้กับลูกค้าที่ต้องการจะปลูกหลังเดือนเมษายนขึ้นไป โดยเทคนิคการปลูกต้นไม้ก็คือ อย่าปลูกให้ลึกจนเกินไป ต้องให้รากชั้นบนอยู่ที่ผิวดิน และถ้าขุดมาอย่างไรเมื่อนำไปปลูกก็ให้อยู่สภาพนั้น ระยะความลึกขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้ ถ้าไม้ค่อนข้างโตจะปลูกเพื่อให้มิดตุ้มพอดี ให้รากหากินได้ ถ้าปลูกลึกเกินไปฝังเลยโคนขึ้นมาประมาณ 30 เซนติเมตร เวลากลบดิน จะทำให้ดินรัดต้น ถ้าปลูกในที่ซึ่งระบายน้ำไม่ได้ เมื่อน้ำขังเปลือกจะเปื่อยเน่า ต้นไม้ส่งน้ำเลี้ยงขึ้นไม่ได้ สภาพก็จะทรงอยู่อย่างนั้นไม่โต
กำลังโหลดความคิดเห็น