ART EYE VIEW---Eco Shop ร้านขายสินค้าหรืองานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ของ ศูนย์การค้า Digital Gateway โดยมีพิธีกรและนักแสดงหนุ่มหัวใจ Eco ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร เป็นเจ้าของ
เวลานี้ได้ย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ บริเวณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมกับมีชื่อใหม่ที่ยาวขึ้นว่า Eco Shop Common
เพราะเจ้าของสถานที่ไม่ได้ต้องการให้เป็นเพียงร้านขายสินค้าหรืองานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังกำหนดบทบาทให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้งานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และมั่นใจว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
“ตอนเปิด Eco Shop มีคนมาสอบถามข้อมูลกับเราเยอะ เกี่ยวกับออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราพยายามแนะนำว่าให้ไปที่นี่ ที่นั่น ที่นู่น ตอนหลังเราก็เลยคิดว่า มันน่าจะดีนะ ถ้าเรารวมทุกอย่างมาอยู่ในที่เดียว
เพราะยังไม่มีที่ไหนในไทยที่รวมรวบแนวความคิดในเรื่องนี้ไว้ทั้งหมดในที่เดียว เราก็เลยที่แรก ที่รวบรวมแนวความคิดทั้งหมด ทั้งในเรื่องของ นวัตกรรม เทคโนโลยี วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Designer หรือนักออกแบบที่ทำงานทางด้านนี้ และเราจะพยายามรวบรวมให้ได้ทั้งประเทศ”
ส่วนคำว่า Common ที่เพิ่มเข้ามาในชื่อร้านหรือศูนย์การเรียนรู้ฯ ท็อปไขให้ฟังว่า
“มันแปลว่าเป็นเรื่องของส่วนรวม เรื่องพื้นๆ เพราะเราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เป็นเรื่องง่าย และสนุก”
และเหตุที่เลือกหอศิลป์ กทม. เป็นบ้านหลังใหม่นั้น “ผมคิดว่าหอศิลป์มันตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา เพราะคนที่สนใจในเรื่อง Eco Design น่าจะเป็นคนที่ชอบในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หรืองานศิลปะ”
ดังนั้นหากใครที่มองหางานออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือต้องการค้นคว้าหรือสอบถามความรู้ทางด้านนี้ เวลานี้ศูนย์ฯพร้อมเปิดให้บริการแล้ว ตามเวลาทำการของหอศิลป์ฯ
“ผมพยายามที่จะให้คนได้มาอ่านข้อมูลที่มีอยู่ในศูนย์ ในแบบที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้เองในเบื้องต้นเป็น อันดับแรก
และอันดับที่สองศูนย์ของเรามีคอมพิวเตอร์ที่รวบรวมฐานข้อมูลทางด้านนี้ ซึ่งถ้าผมอยู่ที่ศูนย์ฯ ผมก็จะเป็นคนอธิบายให้คนที่สนใจได้ฟัง แต่ผมไม่ได้อยู่ทุกวัน”
เพราะปัจจุบันนอกจากดูแลศูนย์ฯ ท็อปยังรับหน้าที่เป็นพิธีกรให้กับรายการทีวี “บ้านและสวน” และทำงานออกแบบส่วนตัวภายใต้แบรนด์ OWL ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสินค้าและงานออกแบบในแนวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้ทำคอลเลกชันที่สอง เป็นสินค้าแฟชั่นที่ทำมาจากใยกัญชง ซึ่งกัญชงเวลาปลูกมันจะออร์แกนิก 100 % ห้ามใช้สารเคมี ไม่งั้นมันจะไม่โต”
โดยท็อปบอกด้วยว่า เขาได้รับกำลังใจและการสนับสนุนในการทำงานทางด้านนี้มาโดยตลอด จากแฟนสาวนักแสดง นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา รวมถึงงานอีเว้นต์ ECO MARKET family ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในโอกาสเปิดศูนย์ฯ
“นุ่นช่วยมาตลอดฮะ ในทุกๆเรื่องที่ผมมีความฝันว่าอยากจะทำให้มันเกิด อย่างเช่นการเปิดศูนย์ฯ และงาน ECO MARKET family ในครั้งนี้ ตลาดที่เราต้องการจะทำให้ทุกคนรู้ว่า การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องง่ายและสนุก นุ่นก็เป็นคนช่วยดูแล
เพราะถ้าจัดงานเปิดศูนย์ฯ อย่างเดียว มันน่าจะไม่ดึงคนให้อยากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออาจจะดึงได้ไม่เยอะ เราก็เลยจัดงานทำชั้น 1 ทั้งชั้นของหอศิลป์ฯ ให้กลายเป็นตลาดไปเลย คนจะรู้สึกว่า การใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันก็ง่ายนี่หว่า หรือลองเอาความรู้ที่ได้กลับไปปรับใช้ กระทั่งเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้”
>
ในฐานะคนที่สนใจทางด้านนี้มานาน ท็อปมองว่าการดึงให้คนหันมาสนใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ตัวเขาเองก็ยอมรับว่า ยังไม่สามารถเป็นมนุษย์ Eco ได้100 % แต่ยังพยายามอยู่เสมอและอยากจะทำให้สิ่งที่กำลังพยายามอยู่นี้เป็นเรื่องที่สนุกทั้งกับตัวเอง และคนในสังคม
“เรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ต้องมีให้มากขึ้น ผมเองพอมาทำศูนย์การเรียนรู้ในเรื่องนี้ ก็พยายามเตรียมข้อมูลเอาไว้ให้คนที่สนใจ บอกแนวทางของการสร้างงาน Eco Design ว่ามันมีวิธีการใดบ้าง และพยายามสื่อสารว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของขั้นตอนการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่อง การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัด เราจะต้องสามารถมองเห็นทั้งวงจรของผลิตภัณฑ์ได้ อันนี้คือเรื่องหนึ่งที่เราพยายามอยากจะนำเสนอ
ส่วนหนึ่ง ผมทำคลิปวิดีโอ ECO DESIGN by TOP PIPAT ซึ่งมีที่มาจากการทีเราพยายามทำให้คนได้เข้าใจว่า วิธีการที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มันทำได้ง่ายๆ และอย่างไรบ้าง และอีกไม่นานจะมีคลิปวิดีโออีกตัวหนึ่งออกมาชื่อว่า ECO 24 ชั่วโมง ให้บรรดาคนที่มีชื่อเสียงและดารานักแสดง มาแบ่งปันประสบการณ์ว่า ในหนึ่งวัน หรือแต่ละชั่วโมงเราจะสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
และเราจะมี Application ชื่อ Eco Life ที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางจากการใช้รถยนต์มาเป็นการเดิน หรือปั่นจักรยาน ซึ่งแต่ละคนจะได้คะแนนไปใช้เป็นส่วนลดตามร้านค้าต่างๆได้
เพราะเราอยากจะบอกว่า เรื่อง Eco มันเป็นเรื่องที่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย และเราสนุกกับมันได้ ไม่ต้องไปซีเรียสกับมัน ถ้าทำได้ก็ทำต่อ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าไปฝืน คนเราไม่เหมือนกัน
ผมก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ Eco 100 % เหมือนกัน แต่พยายามทำในสิ่งที่ทำได้ อันไหนที่เราชอบก็พยายามที่จะทำมันอย่างต่อเนื่อง นอกนั้น เราก็พยายามเตรียมพื้นที่ไว้ นั่นคือศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ วันนึงถ้านักออกแบบ หรือว่านักศึกษา อยากทราบว่าจะมีวัสดุอะไรที่เขาสามารถนำไปทดแทนวัสดุเดิมได้ หรือมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆบ้าง ก็สามารถมาดูมาศึกษาหาความรู้ได้ที่ Eco Shop Common
แต่ถ้าใครไม่สะดวกที่จะมา เราก็มี Facebook ชื่อ EcoShop Common ให้ทุกคนได้ติดตาม”
ทราบดังนี้แล้ว ชาว Social Network หัวใจ Eco กด Follow ด่วน!!
Text & Photo : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews