ดีแทค ร่วมกับ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย หรือ Operation Smile Thailand เผยภาวะของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในไทยที่เผชิญ พบยังมีคนป่วยตกค้างและที่การรักษาเข้าไปไม่ถึงอีกหลายพันรายทั่วประเทศ ล่าสุดผนึกกำลังอีก 16 องค์กรชั้นนำร่วมพิธีลงนามความช่วยเหลือภายใต้โครงการ “Bright Smiles & Happy Hearts” ระดมทุนเพื่อมอบโอกาสและความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบและยั่งยืน
จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เผยว่า “แนวทางการดำเนินงานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ดีแทคเรายึดมั่นมาโดยตลอด เราให้การสนับสนุนมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปีแล้ว มาปีนี้เพื่อให้การสนับสนุนเป็นไปตามแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เราจึงได้ร่วมกับองค์ชั้นนำอีก 16 องค์กรเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ครอบคลุมพื้นที่ทุรกันดารได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นและเป็นอย่างยั่งยืน สำหรับดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเราเองก็ได้มีแผนในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อมาช่วยในการเก็บข้อมูลหรือแม้กระทั่งการพัฒนาให้ผู้ป่วยได้ใช้งานและสามารถฝึกการพูดหลังการผ่าตัดได้”
เควิน เจ บูเว่ส์ ประธานกรรมการมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย หรือ Operation Smile Thailand กล่าวว่า “มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย (Operation Smile Thailand) ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรการกุศลในปี พ.ศ. 2544 ให้การรักษาผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ที่ยากไร้ อาศัยในพื้นที่ห่างไกลทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจวบจนปัจจุบันมีผู้ยากไร้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนชีวิตกว่า 8,000 รายแล้ว จากการเก็บข้อมูลพบว่า ยังมีผู้ป่วยที่มีอาการเช่นนี้ที่รอคอยการรักษาทั้งที่มาลงทะเบียนเข้ารับการรักษาและที่ไม่ได้ลงทะเบียน นั่นหมายถึงกลุ่มที่เรายังเข้าไปไม่ถึงอีกจำนวนมากทั่วประเทศ จึงทำให้ทางมูลนิธิฯ ต้องพยายามลงพื้นที่เพื่อสำรวจจำนวนผู้ป่วย เพื่อหาแนวทางให้การรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น"
รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิสร้างรอยยิ้มประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ไม่แน่ชัด เพราะภาวะนี้เป็นมาตั้งแต่กำเนิดซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เป็นระยะตั้งแต่ตัวอ่อนกำลังเจริญวัย จึงเชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมและด้านสิ่งแวดล้อมประกอบกัน อาทิ การขาดสารอาหาร หรือการติดจากสารเสพติด เป็นต้น จากสถิติพบว่า เด็ก 1 ใน 700 รายมีภาวะปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ บางรายมีอาการทั้งสองอย่าง สำหรับประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้วจะมีเด็กเกิดใหม่ 2,000 รายต่อปีที่มีภาวะปากแหว่ง หรือเพดานโหว่
นอกจากนี้อาการปากแหว่งเพดานโหว่ และอาจจะเกิดปัญหาผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ อีกหลายกรณีตามมา เช่น โรคเกี่ยวกับหู หูติดเชื้อเรื้อรัง โรคขาดสารอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับฟัน และการพัฒนาด้านการพูด รวมถึงอาจจะส่งผลกระทบด้านอารมณ์และความรู้สึกของเด็กซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ดังนั้นทีมงานที่อาสาสมัครมาช่วยทำการรักษาและดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ล้วนเป็นทีมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาลจากหน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่เสียสละเวลารวมถึงความชำนาญในวิชาชีพ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันยังมีเด็กไทยอีกหลายพันคนที่กำลังรอโอกาสเช่นนี้อยู่ เพราะมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างสิ้นเชิง ทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเปลี่ยนจากเด็กที่ชอบเก็บตัวไป เป็นเด็กที่เปิดตัวเองสู่โลกกว้างแห่งการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อสังคมภายภาคหน้า”
“เราเชื่อมั่นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Bright Smiles & Happy Hearts จะเป็นโครงการตัวอย่างที่ช่วยกระตุ้นให้สังคมหันมามอบรอยยิ้มใหม่ให้แก่คนไทย ด้วยศักยภาพการทำงานของแต่ละองค์กรที่จะมาบูรณาการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนได้อย่างแน่นอน” จอน กล่าวทิ้งท้าย
มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย ร่วมกับ 17 องค์กรเอกชนชั้นนำ
ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน), บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จํากัด, ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล, มูลนิธิอิออนประเทศไทย, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอลเทค พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท โปรเกรสซีฟ อินเตอร์-เทรด จำกัด, บริษัท ยูนีค เทเลคอม จำกัด, กลุ่มธนาคารทิสโก้ และบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)
โครงการ “Bright Smiles & Happy Hearts” ได้ระดมทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามเป้าหมายในการทำงานใน 4 ด้าน ดังนี้
1.การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่แบบบูรณาการ ภายใต้การดูแลของศูนย์แก้ไขความพิการ บริเวณใบหน้า และศีรษะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้รับการรักษาพยาบาลครบกระบวนการ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเริ่มจากสร้างเครือข่ายของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ตลอดจนให้ความรู้การศึกษาแก่ผู้ป่วยในการรักษาพยาบาล และสร้างฐานข้อมูลการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วย เพื่อการดูแลรักษาพยาบาล และการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วย โดยโครงการนี้จะเริ่มต้นจาก 8 จังหวัดทางภาคเหนือใน 3 ปีแรก และภายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะขยายการดูแลแบบบูรณาการทั่วประเทศ สร้างรอยยิ้มให้ครบ 1,200 รอยยิ้มครอบคลุมพื้นที่ 5 ภูมิภาคของประเทศ
-โครงการนี้ไม่ใช่การออกหน่วยเพื่อผ่าตัดรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เพียงอย่างเดียว หากแต่ครอบคลุมถึงการดูแล ติดตามผลหลังการผ่าตัด รวมไปถึงบริการบำบัดฟื้นฟูด้านการพูด และบริการทางทันตกรรมต่างๆ ให้กับผู้ป่วยด้วย
2.สร้างแอพพลิเคชั่น และโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน
เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองของผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ในด้านการปฏิบัติตน และการดูแล ตลอดจนการรักษาพยาบาลเบื้องต้น จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้
-แอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้ที่จำเป็นแก่บิดามารดาในการดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และหลังคลอด (ความรู้ทางด้านโภชนาการ การให้อาหารเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ)
-แอพพลิเคชั่นการฝึกอบรมทางด้านการพูดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อได้เรียนรู้ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องรับการฝึกพูดได้อย่างถูกต้อง
3.สนับสนุนอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์
เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์จึงต้องทันสมัย และอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
4.การให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่บุคลากรเพื่อการดูแลรักษาพยาบาลที่ยั่งยืน
จัดเตรียมการฝึกอบรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่อาสาสมัคร และบุคลากรของมูลนิธิ อาทิ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการกู้ชีพโดยสมาคม American Heart Association (AHA) ในประเทศไทย การส่งตัวแทนแพทย์เข้าร่วมประชุมนานาชาติ และโครงการฝึกอบรมต่อยอดทางการแพทย์ให้กับบุคลากร