xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ “โรงงานสีเขียว” ในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจากตะวันตก รวมถึงซัปพลายเออร์จากกิจการในเอเชีย ได้เคลื่อนไหวในการสร้างโรงงานแนวกรีนที่มีเงื่อนไขครบถ้วน จะได้รับการรับรองอาคารกรีน หรือเน้นอาคารผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทางเอเชีย

การทำเรื่องเอกสารรับรองความเป็นอาคารกรีน มีมูลเหตุจูงใจหลักมาจากเป้าหมายในการประหยัดน้ำและประหยัดพลังงาน และที่มาในเอเชียสูงกว่าภูมิภาคอื่น เพราะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากส่วนใหญ่ผลิตในเอเชีย

ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ การหันมาเน้นโรงงานผลิตตามแนวกรีนทำให้อินเทลสามารถปรับลดการใช้พลังงานจากกิจการทั่วโลกได้กว่า 111 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2008 หลังจากใช้เงิน 59 ล้านดอลลาร์ ในการลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืนทั่วโลกกว่า 1,500 หน่วยธุรกิจ และยังช่วยลดการสร้างมลภาวะของคนอเมริกัน ให้ลดลงกว่า 126,500 ครัวเรือนต่อปี


เมื่อไม่นานมานี้ ไนกี้ได้เปิดตัวโรงงานที่ไม่ใช้น้ำในกระบวนการเป็นแห่งแรก เท่ากับยุติการผลิตโรงงานใช้น้ำและสารเคมีจากการฟอกย้อมเนื้อผ้าของตน จากการจ้างผู้ประกอบการไต้หวัน ชื่อ Far Eastern News Century เป็นผู้ผลิตให้ และยังลดระยะเวลาของกระบวนการนี้ถึง 40% ลดการใช้พลังงานลง 60% และการลดมณภาวะ 25% เทียบกับการผลิตแบบเดิม

กระนั้นก็ตาม แนวโน้มการออกเอกสารรับรองโรงงานอุตสาหกรรมยังเป็นระยะเริ่มต้น เพราะมีเพียง 300 โรงงานอุตสาหกรรมในเอเชียที่ได้รับเอกสารรับรอง หรือรอกระบวนการพิจารณาเอกสารรับรองผ่าน LEED ของสหรัฐฯ

มีผู้ประกอบการทางตะวันตกบางแห่งว่าจ้างบุคลากร หรือองค์กรมาตรวจสอบ และติดตามว่ากิจการสามารถผลิตสินค้าได้ดีขึ้นจริงหรือไม่ และอย่างไร หรือซัปพลายเออร์ของตนได้ดำเนินการผลิตตามแนวทางกรีนผ่านโรงงานกรีนอย่างต่อเนื่องหรือไม่

รายงานข้างต้นระบุว่า ในการตรวจสอบการปฏิบัติที่เกิดจริงเทียบกับมาตรฐานกรีนที่ขอรับการรับรอง มีโรงงานผลิตแห่งหนึ่งของแอปเปิลกว่า 12 แห่ง มีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีระดับความปลอดภัยต่ำกว่าเกณฑ์ และกดขี่แรงงาน ทำให้แอปเปิลต้องแต่งตั้งผู้จัดการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ

โคคา-โคลา ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานกรีนในเฮยหลงเจียงของจีน

การลงทุนครั้งใหม่ของโคคา-โคลา ที่เพิ่งเปิดตัวโครงการก่อสร้างโรงงานแนวกรีนในเมืองอุตสาหกรรมของฮาร์บินทางใต้ เป็นหนึ่งในข่าวที่น่าสนใจและทำให้เห็นว่า หากเป็นผู้ประกอบการแล้วการขยายคุณค่าและค่านิยมในอาคารกรีนเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ยาก

นอกจากเป็นการยืนยันถึงความมั่นใจของโคคา-โคลาในศักยภาพของตลาดจีนแล้ว เพราะโคคา-โคลาตัดสินใจสร้างโรงงานแห่งแรกในเฮยหลงเจียงตั้งแต่ปี 1994 การลงทุนในครั้งนี้จึงเป็นการพัฒนาแผนธุรกิจสู่ “โรงงานกรีน การดำเนินงานแนวกรีนและกรีนออฟฟิศ”

โรงงานใหม่แห่งนี้จะใช้เวลาดำเนินโครงการถึง 3 ปี ได้อิงมาตรฐานอาคารกรีนในหลายองค์ประกอบตั้งแต่เลือกพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง ใส่ใจสภาพแวดล้อมรอบโรงงาน มุ่งประหยัดการใช้น้ำอย่างยั่งยืน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า หลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะในอากาศ พิถีพิถันการเลือกใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในการผลิต ปรับปรุงคุณภาพของสภาพแวดล้อมการทำงานภายในอาคารให้เหมาะสมและความสะดวกของผู้ใช้อาคารและทำงานอยู่ภายใน และพยายามค้นหานวัตกรรมการออกแบบใหม่ๆ มาเติมสีสันเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่ต้องเคร่งครัดกับการก่อสร้างอาคารอย่างมาก เพราะโคคา-โคลาต้องการให้ตรงตามเงื่อนไขภาคบังคับของระบบการรับรองอาคารกรีนระดับสากลที่เรียกว่า LEED

ปัจจุบัน โคคา-โคลา ใช้ปรัชญาอาคารทำธุรกิจแนวกรีน และมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวอย่างของกิจการที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ระบบกรีนด้วย

ความสำเร็จในการสร้างโรงงานกรีนของโคคา-โคลา มาจากการสนับสนุนที่เข้มแข็งของรัฐบาลจีนทั้งในระดับเมือง มณฑลและภูมิภาค โดยโคคา-โคลาแสดงให้รัฐบาลจีนได้เห็นว่า โครงการโรงงานกรีนของตนจะมีความสำคัญและได้รับการดูแลอย่างดีจากโคคา-โคลา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจในจีน หลังจากที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในจีนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 20 ปี

การตัดสินใจในการสร้างโรงงานกรีนขึ้นเป็นโรงงานใหม่ของโคคา-โคลาคราวนี้ ไม่ได้จำกัดแต่ฉพาะโมเดลธุรกิจของตนในจีนเท่านั้น หากแต่ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการโรงงานกรีนจะใช้เป็นต้นแบบในการนำไปใช้ในโรงงานแห่งอื่นของโคคา-โคลาในเอเชียต่อไป

โรงงานกรีน ในภูมิภาคเอเชีย

ในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียก็มีการพัฒนาของโรงงานกรีนเช่นเดียวกัน อย่างเช่น โรงงานอัญมณีชื่อ Shairee Gems ในอินเดีย เพิ่งได้รับรางวัล LEED Gold Status ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งแรกและเป็นโรงงานผลิตเพชรแห่งเดียวของอินเดียที่ได้รับรางวัลนี้

เมื่อไม่นานมานี้ สิงคโปร์ก็เพิ่งแสดงความพอใจ และต้อนรับโรงงานอุตสาหกรรมกรีนแห่งแรกชื่อ Green hub โดยนำเอาแนวคิดกรีนมาใช้ตั้งแต่เริ่มโครงการก่อสร้างโรงงานไปจนถึงการดำเนินงานประจำวันหลังจากโรงงานสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

องค์ประกอบที่น่าสนใจ เช่น หน้าต่างที่ทำหน้าที่ให้ความเย็นตามธรรมชาติ การบริหารจัดการแสงและความร้อนส่วนเกิน มีหลังคาที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานโซลาร์จนลดการใช้พลังงานถึง 160,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี พลังงานส่วนเกินที่เหลือใช้ยังนำไปขายคืนแก่การไฟฟ้าของสิงคโปร์ด้วย

นอกจากความพยายามจากตัวผู้ประกอบการเอง สิงคโปร์ยังได้ตั้งกองทุนเรียกว่า Green Building Fund เพื่อที่จะผลักดันสิงคโปร์สู่การเป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจแบบกรีนมากขึ้น (Green Control) ซึ่งมาจากความตระหนักว่าวิถีชีวิตแนวกรีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ควบคู่กับกรีนเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชีย

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้สถาปนิกและนักพัฒนามุ่งสู่การออกแบบอาคารกรีน แม้ว่าต้นทุนเริ่มแรกของโรงงานแบบกรีนจะสูงกว่าอาคารทั่วไปอย่างมาก และสิงคโปร์ก็ถือว่าเป็นสุดยอดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสถาปัตยกรรมกรีนอย่างเห็นได้ชัด มีอาคารกรีนใหม่เกิดขึ้นมากมายและต่อเนื่อง ควบคู่กับการปรับรื้ออาคารแบบเดิมสู่อาคารกรีน ซึ่งการมีเงินกองทุนจากรัฐ ก็มีส่วนช่วยลดภาระของภาคเอกชนในการพัฒนาสู่กรีนโมเดลได้ดีขึ้น

ด้วยกองทุนดังกล่าว ทำให้การปรับรื้ออาคารเดิมสู่อาคารกรีนที่มีต้นทุนสูงกว่าอาคารสร้างใหม่เป็นเท่าตัวเกิดขึ้นอย่างมาก แม้ว่าจะเน้นที่อาคารพาณิชย์ โรงงาน กิจการอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่บ้านพักอาศัยก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น