เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประกาศผลสุดยอดโรงเรียนลดใช้พลังงานระดับจังหวัด (ภาคใต้) โครงการ “พลังคิด สะกิดโลก” แผนการลดใช้พลังงานในโรงเรียนของภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้กว่า 1 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ จำนวนกว่า 4.7 ล้านบาท
โครงการ “พลังคิด สะกิดโลก” ภาคใต้ ประกอบด้วย 14 จังหวัด คือ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี โดยโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 645 แห่ง ได้ส่งแผนรณรงค์การลดใช้พลังงานของสถานศึกษาให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับจังหวัด พิจารณาคัดเลือกสุดยอดโรงเรียนลดใช้พลังงาน
ผลการตัดสินของคณะกรรมการ ปรากฏว่ามี 28 สุดยอดโรงเรียนลดใช้พลังงานระดับจังหวัดที่ผ่านเข้ารอบนี้พร้อมได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนละ 250,000 บาท
-ประเภทอนุบาล-ประถมศึกษา 14 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่ายาง จ.กระบี่, โรงเรียนบ้านทุ่งหงษ์ จ.ชุมพร, โรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง จ.ตรัง, โรงเรียนวัดศรีมงคล จ.นครศรีธรรมราช, โรงเรียนบ้านแป๊ะบุญ จ.นราธิวาส, โรงเรียนบ้านปายอ จ.ปัตตานี, โรงเรียนบ้านท่าสนุก จ.พังงา, โรงเรียนบ้านตลิ่งชัน จ.พัทลุง, โรงเรียนวัดเก็ตโฮ่ จ.ภูเก็ต, โรงเรียนบ้านรั้วตะวัน จ.ยะลา, โรงเรียนบ้านรังแตน จ.ระนอง, โรงเรียนบ้านทุ่งตำเสา จ.สงขลา, โรงเรียนบ้านบ่อหิน จ.สตูล และโรงเรียนบ้านคลองคราม จ.สุราษฎร์ธานี
-ประเภทมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า 14 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนสินปุนคุณวิชญ์ จ.กระบี่, โรงเรียนท่าแซะรัชดาภิเษก จ.ชุมพร, โรงเรียนกันตังรัษฎาศึกษา จ.ตรัง, โรงเรียนแหลมราษฎร์บำรุง จ.นครศรีธรรมราช, โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม จ.นราธิวาส,โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ จ.ปัตตานี, โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา จ.พังงา, โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต จ.ภูเก็ต, โรงเรียนสตรียะลา จ.ยะลา, วิทยาลัยเทคนิคระนอง จ.ระนอง, โรงเรียนสะเดา “ขรรค์กัมพลานนท์อนุสรณ์” จ.สงขลา, โรงเรียนควนโดนวิทยา จ.สตูล และโรงเรียนกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
“โรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดในภาคใต้ จำนวน 1,408 โรงเรียน สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในสถานศึกษาได้รวมจำนวน 1,015,414.50 หน่วย (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) คิดเป็นมูลค่าเงินที่ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 4,701,369.13 บาท ซึ่งตลอดระยะเวลาของการแข่งขันได้มุ่งเน้นมาตรการลดใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้นำในการกำหนด นโยบาย และเป้าหมายการประหยัดพลังงาน รวมถึงการบูรณาการประหยัดพลังงานเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างครู นักเรียน และบุคลากรภายในโรงเรียน โดยการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำหน้าที่และรับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีระบบและง่ายต่อการติดตามผล และผลักดันนโยบายประหยัดพลังงาน ให้เกิดการปฏิบัติจริง เช่น การควบคุมระยะเวลาใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า การปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังการใช้งาน รวมถึงดูแลรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ” สุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการ สนพ. กล่าว