xs
xsm
sm
md
lg

Green Vision : “นวัตกรรมสังคม” กุญแจไขความสุขที่ยั่งยืนสู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การดำเนินงานนวัตกรรมสังคม คือ การแบ่งปันองค์ความรู้ ปัจจัยความสำเร็จ ปรัชญาความคิดและลงมือปฏิบัติด้วยกันที่ภาคธุรกิจมีให้แก่ชุมชนเพื่อวางรากฐานการพัฒนาชุมชน โดยเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนและสอนวิธีการดำเนินงานธุรกิจเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง
ด้วยวิธีการนี้มีความจำเป็นและสำคัญต่อชุมชนอย่างมาก เพราะความรู้ที่ชุมชนได้รับจากภาคเอกชนนั้นคือการสอนให้คิดเป็นและทำอย่างเป็นระบบจนสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีพตนเองได้และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนความรู้ที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต
วิธีการนี้จึงมีประสิทธิผลในระยะยาวมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่เป็นการให้แค่เพียงผิวเผิน แต่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนอันนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชุมชนได้
ในต่างประเทศเริ่มแนวคิดที่มีความใกล้เคียงกับแนวคิด C-SI ที่แบรนด์พยายามนำเสนอความหลากหลายทางความคิด ค้นหาแรงบันดาลใจ ร่วมมือประสานงาน และประเมินผลในชุมชนและสังคมนั้นๆ เพื่อดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลกำไรทางธุรกิจเพียงอย่างเดียวเช่น “OpenIDEO” ของ Coca-Cola ที่สร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ขึ้นสำหรับแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาบริบทเชิงสังคม ทุกความคิดเห็นที่จะได้รับการพิจารณาและคัดเลือกแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริง
และอีกหนึ่งตัวอย่าง โครงการ “Lego's CUUSOO” ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Lego’s Ideas ที่เปิดรับนวัตกรรมทางความคิดจากบุคคลทั่วไปในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเลโก้โดยนวัตกรรมชิ้นใดที่มีผู้สนับสนุนเกิน 10,000 คนจะถูกนำมาผลิตเป็นสินค้าจริงๆ ของเลโก้
ส่วนกรณีศึกษาในประเทศไทยของธุรกิจชุมชนที่เริ่มบุกเบิกและมีความชัดเจนในการใช้นวัตกรรมสังคมเข้ามาช่วยเหลือจากองค์กรขนาดใหญ่ คือ โรงสีข้าวรัชมงคล ซึ่งเป็นโรงสีข้าวตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินงานมาแล้วกว่า 15 ปีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรท้องถิ่นด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและสหกรณ์การเกษตรชุมชนในราคายุติธรรม และจำหน่ายในราคาที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค
โรงสีข้าวรัชมงคลมีการนำระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) มาประยุกต์ใช้ เริ่มจากการปรับวางผังของพื้นที่ในโรงสีให้ workflow ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลูกฝังให้พนักงานมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยเพื่อลดค่าเสียหายและลดการเสียโอกาสจากการเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นจึงนำระบบการผลิตตรงตามเวลา (Just in Time) มาใช้ในการวางแผนรับข้าวเปลือกและผลิตข้าวตามความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งเน้นเรื่องการจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory management) มาใช้ในการวางแผนการผลิต เพื่อลดต้นทุนที่เกิดจากการเก็บรักษาสินค้าที่ผลิตมามากเกินความต้องการของตลาด รวมถึงสินค้าที่ได้จะมีความสดใหม่คงคุณภาพสูงสุดสู่ลูกค้าอยู่เสมอ
อีกทั้งได้นำระบบการจัดการต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน เช่น การปรับรูปแบบโกดังเก็บสินค้าและนำ pallet มาใช้ เพื่อให้สามารถจัดเก็บสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลาการทำงานทั้งจากกระบวนการจัดเก็บและการขนส่ง ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการจ้างงานได้ เป็นต้น
ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในการดำเนินธุรกิจชุมชนที่ช่วยให้ทิศทางความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น สามารถเลี้ยงตนเองได้ และเสริมสร้างความยั่งยืนได้

"วิธีการนี้จึงมีประสิทธิผลในระยะยาวมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่เป็นการให้แค่เพียงผิวเผิน แต่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน"

ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น