xs
xsm
sm
md
lg

Universal Design “ทาวน์เฮ้าส์ใจดี” ขยายผลคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทาวน์เฮ้าส์ใจดี” เปิดตัวสู่สาธารณชนได้ชมในงานสถาปนิกสยาม 2557 ที่ผ่านมา ได้ขยายความเข้าใจคำว่า Universal Design สู่กลุ่มคนชั้นกลางลงมามากขึ้น เนื่องจากเป็นแนวคิดการออกแบบที่ตอบรับทั้งคนปกติ และคนที่ด้อยกว่า ไม่ว่าเด็ก คนป่วย คนสูงอายุ หรือ คนพิการ ก็สามารถอยู่อาศัย ใช้ชีวิตประจำวันอย่างสะดวกสบายไปด้วยกัน
พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข
พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าเป็นความร่วมมือของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จัดกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ทั้งในรูปแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้ Universal Design กับผู้ออกแบบหรือสถาปนิกโดยตรงทั้ง 4 ภาค การจัดสัมมนาให้กับผู้พิการเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสร้างสรรค์ในการออกแบบบ้าน และอุปกรณ์ที่สามารถตอบโจทย์ตรงตามความต้องการ โครงการสี่แยกใจดีที่ราชประสงค์ การขยายหลักสูตร Universal Design ในระดับมหาวิทยาลัย
และมีโครงการ “บ้านใจดี” เป็นการจัดประกวดออกแบบบ้านใจดี ต่อจากนั้นยังไปจัดทำรายการ “เมืองใจดี” ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส และทำตัวอย่างบ้านใจดีเท่าของจริงขึ้นมาแสดงในงานสถาปนิก 2556


ส่วนในปีนี้ได้จำลองตัวอย่างบ้าน “ทาวน์เฮ้าส์” ขนาดเท่าของจริง มีหน้ากว้าง 4 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับบ้านของคนชั้นกลางที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เป็นการออกแบบบ้านให้เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการช่วยเหลือตนเองได้
เริ่มตั้งแต่การสร้างที่จอดรถขนาดกว้าง 2.40 ยาว 6 เมตรเว้นพื้นที่ประมาณ 1 เมตร สำหรับผู้พิการที่ขับรถยนต์ได้ ทางเข้าบ้านสร้างเป็นทางลาดเอียง 1 ต่อ 12 สำหรับการใช้วิลแชร์ได้ด้วยตนเอง พร้อมทำปุ่มเตือนตรงจุดเริ่มทางลาดขึ้น และเมื่อสุดทาง (braille block) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตา ห้องโถงรับแขก ที่มีเคาน์เตอร์วางของควรสร้างอยู่ในระดับต่ำที่ให้ผู้พิการหยิบของได้โดยสะดวก โต๊ะกินข้าวใช้โต๊ะทรงกลมขาเดียว ไม่มีเหลี่ยมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ พื้นบ้านไม่มีระดับ เตียงนอนเว้นระยะหมุนวิลแชร์ได้โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ตู้เสื้อผ้ามีความสูงที่ผู้นั่งวิลแชร์เอื้อมหยิบเองได้ ห้องน้ำก็อยู่ระดับเดียวกับพื้นบ้าน แต่มีคลัสเตอร์คอยดักน้ำไว้ ฝักบัวเลื่อนระดับได้ มีราวจับเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลื่อนนั่งบนโถสุขภัณฑ์ และควรทำสัญญาณการขอความช่วยเหลือไว้
พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต บอกว่า ธรรมชาติของคนเราในช่วงอายุต่างๆ อย่างตอนวัยเด็กก็เปรียบเหมือนกับคนพิการเพราะพ่อแม่ต้องจูงมือหรือต้องอุ้ม หรือขึ้นลงบันได ซึ่งอาจจะลำบากหากเดินขึ้น-ลงด้วยตัวเองไม่สะดวก แนวคิดในการออกแบบ Universal Design จึงตอบโจทย์ให้กับทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะการให้คนสูงอายุ คนพิการ ช่วยเหลือตนเองได้ย่อมลดภาระให้กับคนปกติในครอบครัว
ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดนี้ยังเหมาะกับโลกในอนาคตเพราะแนวโน้มประชากรโลกจะมีอายุยืนยาวจากการแพทย์ที่เจริญขึ้นและแน่นอนว่าจำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น และต่อไปในหลายๆ ประเทศจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งรวมทั้งประเทศไทย
Universal Design ทำให้คนทุกส่วนมีความเข้าใจว่า ไม่ได้มีการแบ่งแยก ทำให้เขาเห็นว่าคนพิการคือคนส่วนหนึ่งในสังคมที่มีความเสมอภาคกัน เขาจึงมีโอกาสอยู่ร่วมได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป และจะไม่ถูกมองเป็นคนอ่อนแอ หรือต้องคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอด
อ่างล้างจานออกแบบให้ใช้ได้สะดวก
Universal Design “ทาวน์เฮ้าส์ใจดี”
คำที่สื่อความหมายถึงแนวคิดในการออกแบบ คือ Dial Free กับ Trans Generation แต่คำที่ใช้กันอยู่และแพร่หลาย คือ Universal Design เป็นการออกแบบให้เกิดความเสมอภาคสำหรับทุกคน ทั้งนี้ ได้วางหลักการออกแบบไว้ 7 ข้อ ได้แก่ 1.เสมอภาค 2.ยืดหยุ่น 3.ใช้ง่าย/เข้าใจง่าย 4.มีข้อมูลชัดเจน5.มีระบบป้องกันอันตราย 6.ทุ่นแรง 7.มีขนาดเหมาะสม
ทั้งนี้ ทาวน์เฮ้าส์ใจดี ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก
ส่วนแรก สภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ ที่จอดรถ ทางลาดขึ้น-ลงบ้าน
ส่วนที่สอง ภายในบ้าน เช่น โต๊ะรับประทานอาหาร ครัวที่ออกแบบให้ใช้ได้ทั้งกับคนปกติและคนพิการ ตู้เสื้อผ้าซึ่งสามารถดึงราวด้านบนลงมาได้สะดวก ห้องน้ำที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัย
ส่วนที่สาม อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ก๊อกน้ำจะไม่ใช้แบบหมุน แต่จะใช้คันโยกเพื่อให้สามารถใช้แขนหรือมือแทนนิ้วได้ ลูกปิดประตูจะไม่ใช้แบบกลม แต่ใช้แบบก้านบิดเพื่อให้เปิดใช้ได้ง่าย ไม่เพียงคนพิการแต่คนปกติที่ถือของอยู่ในมือก็สามารถใช้ข้อศอกหรือแขนแทนได้ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องทำน้ำอุ่น จะใช้สวิสช์เปิดปิดที่มีขนาดใหญ่ หรือเตาแก๊ส ซึ่งมีระบบตัดไฟอัตโนมัติ เป็นต้น รวมทั้ง “ความปลอดภัย” ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แนวคิดนี้ให้ความสำคัญ เช่น การลื่นล้ม เหลี่ยมคมที่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น
ดังนั้น ในการเลือกซื้อ ถ้ามีความเข้าใจก็ย่อมจะสามารถเลือกซื้อสินค้าทั่วไปที่มีความเป็น Universal Design อยู่แล้ว เช่น โต๊ะรับประทานอาหารที่มีขาโต๊ะอยู่ตรงกลาง หรืออ่างล้างจานซึ่งเป็นแบบที่มีพื้นที่โล่งใต้อ่าง เพื่อให้รถเข็นเข้าไปได้ ยกเว้น อุปกรณ์เสริม เช่น ราวจับสำหรับติดตั้งในที่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก เป็นต้น
อักษรเบรลล์บนกระป๋องเครื่องดื่ม

บ้านเมืองใจดี ที่ญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเทศแบบอย่างที่ใจดี เพราะใส่ใจกับคนทุกคน เขาออกแบบตามหลัก Universal Design โดยนึกถึงความแตกต่างหลากหลาย ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อักษรเบรลล์บนกระป๋องเครื่องดื่ม รอยหยักบนกล่องนม แถบบนขวดครีมนวดเพื่อให้แยกแยกความแตกต่างกับขวดแชมพู เป็นต้น แม้กระทั่งภาพการ์ตูนน่ารักๆ ก็สื่อถึงคนหลายกลุ่มจริงๆ (ภาพอ้างอิงจากhttp://www.pref.oita.jp/site/ud/what-ud.html , http://sen.sanko-fukushi.com/2006/09/post_31.html )
กำลังโหลดความคิดเห็น