xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชูเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ประหยัดงบ ยันไม่มีรวน แฮกไม่ได้ จ่อใช้โหวตท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.กกต.นำแถลงความคืบหน้าการพัฒนาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์รุ่น 4 ชูช่วยประหยัดงบพิมพ์บัตรโหวตได้ แต่ต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนยอมรับก่อน เผยผู้ผลิตยันไม่มีขัดข้อง แฮกไม่ได้แน่ จ่อนำมาใช้เลือกตั้งท้องถิ่น



วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมด้วยนายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการการเลือกตั้งได้ร่วมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 4 ที่มีการพัฒนามาตั้งปี 2546 โดยนายศุภชัยกล่าวว่า หากสามารถนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ในการเลือกตั้งได้ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณที่ไม่ต้องจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และยังป้องกันการปิดล้อมการพิมพ์และจัดการส่งบัตรเลือกตั้งที่ที่ทำการไปรษีณย์ได้ แต่ทั้งนี้คงต้องมีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดการยอมรับให้ได้เสียก่อน และต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การนำเครื่องลงคะแนนมาใช้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้ผลิตยืนยันว่าในเรื่องความขัดข้องของเครื่องฯ ระหว่างการลงคะแนนในช่วงเริ่มต้นของการใช้ไม่น่าจะมี เพราะมีกลไกในการป้องกันปัญหาไว้รองรับแล้ว อีกทั้งเป็นเครื่องที่มีความสมบูรณ์สูงสุดในขณะนี้ ส่วนการป้องกันการทุจริตนั้นเครื่องเป็นระบบปิดไม่ได้เชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถออนไลน์ให้สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้

ทั้งนี้ สำหรับเครื่องคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงาน กกต.ได้เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2546 โดยร่วมมือกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่น 4 ถือว่าเป็นรุ่นที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดแล้ว โดยเครื่องฯ จะมีจุดเด่น คือเป็นระนนโดยระบบลงคะแนนโดยตรง ไม่ต้องใช้บัตร ไม่ทำให้เกิดบัตรเสีย รองรับบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด มีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา มีคูหาในตัว และมีเสียงแจ้งถึงการเริ่มและการสิ้นสุดการลงคะแนน ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก โดยเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับรางวัลผลงานการประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2556 จากสภาวิจัยแห่งชาติ โดย 1 ชุดจะประกอบด้วยเครื่องลงคะแนน 4 เครื่องและเครื่องรวมคะแนน 1 เครื่อง แต่ละเครื่องจะมีน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม และมีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้นานถึง 15 ชั่วโมง โดยเมื่อการเปิดใช้งานให้มีการลงคะแนนแล้ว เครื่องจะเก็บข้อมูลไว้ในกล่องดำซึ่งจะถูกกำหนดให้ไม่สามารถแก้ไข หรือลบออกได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด โดยปัจจุบันเครื่องดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาเก็บข้อมูลไว้ 30 วัน

โดยขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้ให้บริษัทวิทยุการบินฯ ผลิต เครื่องลงคะแนนฯต้นแบบจำนวน 200 ชุดในวงเงิน 40 ล้าน บาท 1 ชุดจะตกราคาประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานได้นำเครื่องฯไปให้สหกรณ์และโรงเรียนต่าง ที่มีการเลือกตั้งกรรมการฯได้ทดลองใช้ และขณะนี้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งได้มีนโยบายนำร่องแนวทางในการนำเครื่องลงคะแนนมาใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งในช่วงที่จะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติและจะมีการยกร่างกฎหมายต่างๆ ก็จะมีการผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้นำเครื่องลงคะแนนไปใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น